ลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่?

ขนาดของหุ้นบอกอะไรบ้าง และหุ้นแต่ละขนาดมีความแตกต่างกันอย่างไร หาคำตอบได้ที่บทความนี้ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้น 

Facebook Twitter LinkedIn

นักลงทุนคงคุ้นเคยกันดีกับคำว่าหุ้นขนาดเล็ด ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยที่หุ้นแต่ละขนาดนั้นอาจมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น อัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจ อัตราการจ่ายเงินปันผล ความเสี่ยง หรือค่า PE เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนอาจจะใช้ลักษณะเฉพาะของหุ้นแต่ละขนาดมาเป็นองค์ประกอบก่อนการตัดสินใจลงทุนได้เช่นกัน  ตัวอย่างเช่น มีหุ้น 3 บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่มีขนาดที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นหุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ นักลงทุนบางกลุ่มอาจชอบลงทุนในหุ้นขนาดเล็กมากกว่า เพราะหุ้นขนาดเล็กอาจมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตที่มากกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งอาจชอบลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า เพราะ บริษัทขนาดใหญ่มีฐานลูกค้าที่กว้างกว่า จึงสามารถผลิตสินค้าหรือให้บริการได้มาก เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of scale) และอาจนำมาซึ่งผลกำไรที่มากกว่า

คำจำกัดความของหุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ (Small-, Mid-, and Large-Cap Stocks)

ตามคำจำกัดความของ มอร์นิ่งสตาร์ หุ้นขนาดใหญ่ คือ หุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalisation or Market Cap) อยู่ใน 70% แรกของมูลค่าตลาดโดยรวม หุ้นขนาดกลาง คือ หุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาด อยู่ใน 20% ถัดมา และหุ้นขนาดเล็ก คือ หุ้นที่เหลือ นั่นคือ 10% สุดท้าย

กรณีของประเทศไทยนั้น การพิจารณาว่า หุ้นนั้นๆ เป็นหุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ เราสามารถดูได้จากดัชนี FTSE SET Large Cap, FTSE SET Mid Cap, และ FTSE SET Small Cap ซึ่งดัชนี FTSE SET เป็นดัชนีที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ FTSE Group เพื่อยกระดับดัชนีของตลาดทุนไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนไทยและต่างประเทศมากขึ้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้แบ่งหุ้นตามขนาด ผ่านดัชนีทั้งสามด้วยหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

FTSE SET Large Cap (FSTHL) ประกอบด้วยหลักทรัพย์ 30 ตัวแรกในกระดานหลัก (SET main board) เรียงตาม Market Cap ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก (Free Float & Liquidity Screening)

FTSE SET Mid Cap (FSTHM) ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 90% แรกของกระดานหลักเรียงตาม Market Cap ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก แต่ไม่อยู่ใน FTSE SET Large Cap

FTSE SET Small Cap (FSTHS) ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 98% แรกของกระดานหลัก เรียงตาม market cap ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก แต่ไม่อยู่ใน FTSE SET Large Capและ FTSE SET Mid Cap Index

ลักษณะของหุ้นขนาดใหญ่

บริษัทหรือหุ้นที่จัดอยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่นั้น มักเป็นบริษัทที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง และมักจะตกเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ  อีกทั้งหุ้นกลุ่มนี้ยังถูกถือโดยนักลงทุนจำนวนมาก

นักลงทุนโดยทั่วไปจะตระหนักว่าหุ้นหรือบริษัทขนาดใหญ่ค่อนข้างที่จะมั่นคง ดังนั้นอัตราการเติบโตของบริษัทเหล่านี้จะมีอัตราการเติบโตที่ไม่โดดเด่น ไม่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนบริษัทขนาดเล็ก และบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกด้วย นอกจากนี้หุ้นขนาดใหญ่ส่วนมากจะมีความต้องการซื้อมาก ดังนั้นอาจเป็นเรื่องยากที่จะซื้อหุ้นเหล่านั้นในราคาที่ต่ำกว่าราคายุติธรรม (Fair price) เมื่อเป็นเช่นนี้อาจจะไม่ง่ายที่จะทำกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital gain) กับหุ้นขนาดใหญ่

ลักษณะของหุ้นขนาดกลาง

นักลงทุนบางกลุ่มอาจชอบลงทุนในหุ้นขนาดกลางมากกว่า เพราะบริษัทเหล่านี้อาจมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าบริษัทขนาดใหญ่ และบางครั้งอาจซื้อหุ้นเหล่านั้นได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคายุติธรรม (Fair price) เนื่องจากหุ้นเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่นิยมเท่าหุ้นขนาดใหญ่

หุ้นขนาดกลางมักเป็นเป้าหมายของบริษัทขนาดใหญ่ในการที่จะเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) ซึ่งข้อดีก็คือ บริษัทที่มาเข้าซื้ออาจยินดีที่จะจ่ายชดเชย (Premium) ให้กับหุ้นของบริษัทขนาดกลางนั้นๆ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นของบริษัทขนาดกลางดังกล่าวนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นในจังหวะที่ราคาแพงเกินไป ก็คงเป็นการยากที่จะทำกำไรจากส่วนต่างของราคา ซึ่งก็จะส่งผลเสียต่อผู้ลงทุนเช่นกัน แน่นอนว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวส่งผลแบบเดียวกันกับหุ้นขนาดใหญ่และขนาดเล็กด้วย

ลักษณะของหุ้นขนาดเล็ก

หุ้นขนาดเล็กมักเป็นที่รู้กันว่า เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหุ้นที่มีความผันผวนสูงด้วย เพราะหุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เป็นบริษัทขนาดเล็ก และอยู่ในขั้นแรกๆของวัฏจักรธุรกิจ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะล้มและหายไปจากตลาดด้วย

โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทขนาดเล็กนั้น เจ้าของหรือบอร์ดบริหารมักจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้ราคาหุ้นนอกจากจะขึ้นกับผลการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ยังอาจขึ้นกับการตัดสินใจบางอย่างของเจ้าของด้วย เพราะเจ้าของบริษัทเองก็คงไม่อยากจะขาดทุนไปพร้อมๆกันกับบริษัทที่ตัวเองสร้างมา

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าหุ้นแต่ละขนาดมีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกัน นักลงทุนอาจใช้ลักษณะเฉพาะอย่างของหุ้นแต่ละขนาดมาประกอบการตัดสินใจก่อนลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนของตนเอง หรืออาจเลือกลงทุนในหุ้นทั้งสามขนาดคละกันไปเพื่อกระจายความเสี่ยงโดยปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละขนาดให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการลงทุนก็ได้เช่นกัน เช่น หากนักลงทุนยอมรับความเสี่ยงได้มากแลกกับการมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น ก็อาจจะให้น้ำหนักกับหุ้นขนาดเล็กมากหน่อย แต่ถ้านักลงทุนชอบหุ้นที่มีความมั่นคง มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ก็ให้น้ำหนักกับหุ้นขนาดใหญ่ เป็นต้น

 

บทความโดย ศิริพรรณ เจตนานุรักษ์ (Siriphan.Jettananurak@morningstar.com)

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar Analysts   -