สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 1 ปี 2557

SET Index โชว์ผลตอบแทนไตรมาสแรกของปี 5.97% ส่วนกองทุนรวมโตอย่างต่อเนื่องดันมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 3.29 ล้านล้านบาท ประมาณ 6.84%

Facebook Twitter LinkedIn

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

ยังคงโตได้ดีอย่างต่อเนื่องแม้บรรยากาศในการลงทุนจะไม่เป็นใจซักเท่าไร ตลอดไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมานี้ นักลงทุนยังคงลงทุนในกองทุนรวมอย่างต่อเนื่องเพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทของสินทรัพย์ที่ลงทุน ซึ่งที่โดดเด่นและเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันทั้ง โบรกเกอร์และผู้จัดการกองทุนต่างๆนั้นก็คือ แนะนำให้ผู้ลงทุนลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย โดยให้เพิ่มสัดส่วนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยลง อาทิ กองทุนตราสารหนี้ หรือสำหรับผู้ลงทุนที่ยังคงสนใจลงทุนรวมในหุ้น ก็แนะนำให้ไปลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศมากกว่า

ส่งผลให้กลุ่มกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดนั้นก็คือ กองทุนตราสารหนี้แบบที่กำหนดอายุโครงการ (Term Fund) โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นลงทุนใน High Yield Bond โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเรตติ้งในระดับต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade)

กลุ่มต่อมากลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งก็คือ กลุ่มตราสารหนี้ในประเทศไม่ว่าจะเป็นทั้งกลุ่มระยะสั้น (Short Term Bond)และปานกลางถึงยาว (Mid/Long Term Bond) โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 30,000 และ 9,000 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นผลมาจากความกังวลที่มีเพิ่มมากขึ้นต่อความผันผวนของตลาดหุ้นไทย

อีกกลุ่มที่โดดเด่นเป็นอย่างมากก็คือ กลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในส่วนของนโยบายในการลงทุน ที่มีการเน้นลงทุนแบบเจาะกลุ่มประเทศ (single country) และภูมิภาค (Region) โดยแม้ไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะมีกองทุนกลุ่มดังกล่าวเปิดใหม่เพียงประมาณ 6 กองทุน แต่กลับมีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิกว่า 11,220 ล้านบาท ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง บลจ. ก็นำกองทุนที่มีอยู่แล้วมาปัดฝุ่นขายกันใหม่ ซึ่งกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดคือ กลุ่มหุ้นยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น โดยมีเงินไหลเข้ากว่า 4,000 2,500 และ2,300 ล้านบาท ตามลำดับ

Single Country

ส่งผลให้ปัจจุบันมีกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศกว่า 100 กองทุน และมีนโยบายลงทุนใน 7 กลุ่มประเทศ (single country) และภูมิภาค (Region) ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาทิ หุ้นอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ยุโรป เอเชีย ประเทศเกิดใหม่ และแบบทั่วโลก

Trigger fund แม้กระแสจะไม่แรงเหมือนปี 2556 ที่ผ่านมา เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนที่ไม่เอื้ออำนวย และอีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนยังมีเงินลงทุนติดค้างอยู่มากใน Trigger fund ที่ออกเมื่อปีที่แล้วแต่ยังไม่สามารถทำผลตอบแทนได้ถึงเป้าหมาย ส่งผลให้ไตรมาสแรกนี้มี Trigger fund ออกสู่ตลาดเพียง 21 กองทุน และมีมูลค่าทรัพย์สุทธิเพียง 6,500 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียง 17% ของมูลค่าทรัพย์สุทธิทั้งหมดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ตรงกันข้ามกับปีที่แล้ว Trigger fund ที่ออกในปีนี้จะเน้นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ รวมทั้งเป้าของผลตอบแทนโดยรวมก็ลดลงจากประมาณ 8-15% เหลือเพียง 5-12%

ส่วนกลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นไทยยังคงมีเม็ดเงินไหลเข้าแต่เบาบางเพียง 1,500 ล้านบาท โดยมาจาก กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) ประมาณ 400 ล้านบาท และเป็นส่วนของกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) 1,100 ล้านบาท

LTF และ RMF เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะเม็ดเงินไหลออกสุทธิของ LTF ที่ไหลออกเพียง 500 ล้านบาท ในไตรมาสแรกนี้ ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยผิดปกติจากในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนยังคงรอให้ผลตอบแทนดีดกลับขึ้นมาสูงขึ้นอีกครั้งแล้วค่อยทำการขายคืน ขณะที่ RMF ยังคงได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆโดยทำสถิติมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิเป็นที่ไตรมาส 8 ติดต่อกัน นับแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี2555 โดยที่ไตรมาสแรกปีนี้มีเงินไหลเข้าเกือบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ลงทุนเริ่มเห็นความสำคัญของการลงทุนเพื่อการเกษียญมากขึ้น

 

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ผลตอบแทนกองทุนในปีนี้ค่อนข้างผันผวนเป็นอย่างมากในทุกประเภทสินทรัพย์โดยเฉพาะในกลุ่มกองทุนหุ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นในประเทศไทย ซึ่งจากที่เคยถูกมองข้ามโดยโบรกเกอร์และเหล่าผู้จัดการกองทุนกลับพลิกทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงที่สุดในไตรมาสแรกนี้ นำโดยกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 6.07% และกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ก็ทำได้ดีเช่นกันที่เฉลี่ย 6.04% (ขณะที่ SET Index ทำได้  5.97%) ส่วนกองทุนที่สร้างตอบแทนได้ดีอีกกลุ่มเห็นจะเป็น กลุ่มกองทุนทองคำ ที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยบวกอยู่ที่ 5.58% หลังจากที่ทำผลตอบแทนได้ต่ำที่สุดเมื่อปีที่แล้ว

Category performance

ไตรมาสแรกนี้กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศดูจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม Emerging Market Bond ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 1.72% ขณะที่ ตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศ ทั้งระยะสั้นและยาวทำได้เฉลี่ยที่ 1% ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับกองทุนตราสารหนี้

กลุ่มสุดท้ายที่นักลงทุนในหุ้นส่วนใหญ่ให้ความนิยมนั้นก็คือ กลุ่มกองทุนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งต่างทำผลตอบแทนได้น่าผิดหวังเล็กน้อย ทั้ง 3 กลุ่มหลัก โดย กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity ทำได้เฉลี่ย -2.15% กลุ่ม Emerging Market Equity ทำได้เฉลี่ย -1.86% และ กลุ่ม Global Equity ทำได้เฉลี่ย -0.83%

และหากจะเจาะลึกลงไปในรายละเอียดก็จะเห็นได้ว่ากลุ่มกองทุนที่ลงทุนใน หุ้นญี่ปุ่น ดูจะประสบปัญหามากที่สุดโดยทำผลตอบแทนเฉลี่ย -8.12% และที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนติดลบเฉลี่ย -7.35% ขณะที่กลุ่มที่เน้นลงทุนใน อเมริกาและยุโรป นั้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ตลาดในภูมิภาคต่างๆเหล่านั้นได้ปรับตัวขึ้นมาสูงมากในช่วงปีที่ผ่านมาจึงอาจเกิดแรงเทขายทำกำไรจากนักลงทุนบางกลุ่ม

ทั้งนี้ผลตอบแทนดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลผลตอบแทนระยะสั้น (3เดือน) ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ลงทุนพิจารณาถึงผลตอบแทนในระยะยาวด้วยเช่นกันเนื่องจากการลงทุนในตราสารที่มีความผันผวนสูงอย่างหุ้น นั้นต้องเน้นลงทุนในระยะยาว

 

*ข้อมูล ณ วันที่ 28 มีนาคม 2557

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst