ความเสี่ยงกับการลงทุน

การลงทุนใดๆ ย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ก่อนที่จะลงทุน นักลงทุนจำเป็นต้องรู้ประเภทของความเสี่ยง และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเองเสียก่อน

Facebook Twitter LinkedIn

ความเสี่ยงกับการลงทุน

คงไม่อาจปฎิเสธได้ว่าอัตราผลตอบแทนที่สูงจากการลงทุนเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจนักลงทุนทุกท่าน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องคำนึงถึงก็คือความเสี่ยง การลงทุนใดๆ ย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ตัวอย่างเช่น การซื้อหุ้นมีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคา หรือ ตราสารหนี้ก็มีความเสี่ยงว่าบริษัทที่ออกตราสารหนี้อาจล้มละลาย ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มลงทุน นักลงทุนจำเป็นต้องทราบถึงประเภทของความเสี่ยง และ ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวนักลงทุนเสียก่อน

แต่ก่อนที่จะประเมินความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง เรามาทราบถึงประเภทของความเสี่ยงกันก่อน ซึ่งประเภทของความเสี่ยงมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทหลักๆ

1.   ความเสี่ยงทั่วไป

ความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากการลงทุนในระยะสั้น เนื่องจากในระยะยาวตลาดหุ้นส่วนใหญ่ย่อมมีมูลค่าสูงขึ้น แต่ในบางปีอาจจะเป็นปีที่ไม่ดีนัก อย่างที่ทราบกันดีในปี 2008-2009 ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างถล่มทลาย โดยความผันผวนของตลาดหุ้นจะสูงขึ้นหากเป็นการลงทุนในระยะสั้นๆ เช่น ลงทุนรายวัน หรือ รายสัปดาห์ หากนักลงทุนมีกังวลกับความเสี่ยงแบบนี้มากถึงขั้นกลัวการลงทุน นั้นอาจทำให้เกิดความเสี่ยงทั่วไปแบบที่สองต่อไป

ความเสี่ยงที่การลงทุนจะไม่ถึงเป้าหมาย เป็นความเสี่ยงที่มาจาก การที่นักลงทุนเจอความผันผวนของราคาและการขาดทุนในระยะสั้นๆ จนอาจตัดสินใจไม่ลงทุนต่อเพราะกลัวว่า หากลงทุนแล้วจะขาดทุนมากขึ้น ซึ่งทำให้พลาดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในการถือหุ้นระยะยาว

2.   ความเสี่ยงเฉพาะ

ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุน ตัวอย่างเช่น การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมไอที ความเสี่ยงแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้เมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าหุ้นในกลุ่มไอทีมีราคาสูงเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น จึงมีการเทขายมากขึ้นจนทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มนั้นตก ซึ่งนักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้โดยการซื้อหุ้นในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม แทนการซื้อหุ้นในอุตสาหกรรมเดียว  

ความเสี่ยงเฉพาะของบริษัท ประกอบด้วยความเสี่ยงจากการดำเนินงานของบริษัท และความเสี่ยงจากราคา ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของบริษัทจะรวมทุกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ในขณะที่ความเสี่ยงจากราคานั้น จะขึ้นอยู่กับราคาหุ้นของบริษัทว่าแพงเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานของบริษัท นักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงนี้ลงได้โดยการถือหุ้นหลายๆ ตัวแทนการถือหุ้นเพียงตัวเดียว

ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ อัตราดอกเบี้ยนั้น จะทำให้ตลาดหุ้นมีโอกาสที่จะเกิดการผันผวนมากขึ้นโดยเฉพาะในระยะสั้น นักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เช่น หากดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น การลงทุนในทั้งหุ้นและตราสารหนี้จะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการถือตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว

ความเสี่ยงรายประเทศ การลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น มักเผชิญกับความเสี่ยงเฉพาะของประเทศนั้นๆ  เช่น ความเสี่ยงทางการเมือง ความเสี่ยงจากนโยบายของรัฐบาล รวมไปถึงความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งนักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงนี้ลงได้โดย ลงทุนในหลายๆ ประเทศหรือเลือกลงทุนในบริษัทที่มีกิจการอยู่ในหลายประเทศ

นักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้มากเท่าไร?

นักลงทุนแต่ละท่านมักมีปฏิกิริยาต่อความเสี่ยงที่ต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของตัวนักลงทุนเอง เช่น อายุ เป้าหมายการลงทุน จำนวนเงินทุน และอีกหลายๆปัจจัย ดังนั้นก่อนการลงทุนนักลงทุนควรถามตัวเองเสมอว่าสามารถรับการขาดทุนได้มากเท่าไรทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีแผนการกระจายการลงทุนอย่างไร และมีการตรวจสอบความเสี่ยงอย่างไรก่อนจะตัดสินใจลงทุน

ในกรณีที่นักลงทุนรับความเสี่ยงได้ไม่มาก นักลงทุนควรเน้นการลงทุนในสินทรัพย์หรืออุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงไม่สูงนัก เช่น ตราสารหนี้ หรือหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่แปรผันไปตามสภาวะของตลาด แต่หากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้มาก อาจจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรม หรือลงทุนในต่างประเทศ และต้องไม่ลืมกฎของการลงทุนที่ว่า High Risk, High Return การลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงมักจะมาคู่กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกัน หากนักลงทุนสามารถรับมือกับความเสี่ยงประเภทต่างๆ จากการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว นักลงทุนก็จะมีโอกาสที่สูงขึ้นที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตัวนักลงทุนอีกด้วย

 

บทความโดย อาณพ ปานเดย์ (anop.pandey@morningstar.com)

เรียบเรียงโดย ชิสา รัศมีสังข์ (shisa.ratsameesang@morningstar.com)

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar Analysts   -