กองทุน High Yield Bond

High Yield แค่ฟังชื่อก็พอจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้บางส่วนได้แล้ว แต่จริงๆแล้วอะไรคือ High Yiled Bond มาติดตามกันครับ

Facebook Twitter LinkedIn

นานทีจะมีโอกาสพูดถึงกองทุนรวมตราสารหนี้สักครั้ง มิใช่ว่ากองทุนตราสารหนี้ไม่มีความน่าสนใจ หากแต่การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ มักอยู่ในประเภทการลงทุนหรือการออมระยะยาวที่มีความเสี่ยงต่ำ และมักไม่มีลูกเล่นหรือหวือหวามากนัก

ประเด็นที่อยากแนะนำเกี่ยวกับกองทุนตราสารหนี้ในครั้งนี้ มีแนวคิดมาจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นไทยเริ่มผันผวนอย่างมาก จึงเห็นการปรับตัวของบริษัทจัดการลงทุน หรือ บลจ. ด้วยการหันไปเปิดกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็กลายเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนด้วย

การลงทุนในตราสารหนี้โดยทั่วไปแล้ว แบ่งออกเป็นกองทุนเปิดแบบปกติ ซึ่งสามารถลงทุนได้ทั้งตราสารหนี้ของไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศ (Global Bond) กองทุนอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากคือกลุ่ม Term Fund ลงทุนในตราสารหนี้ในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีแล้วปิดกองไป เป็นกองทุนที่มีไว้เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่นิยมออมเงินในระยะเวลาไม่นานนักและให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก หรือเป็นทางเลือกการลงทุนที่มาทดแทนเงินฝากได้ และไม่ต้องเสียภาษี กลุ่มนักลงทุนที่นิยมลงทุนในกองทุนนี้ จึงมักจะเป็นกลุ่มผู้มีเงินฝากจำนวนมาก หรือเรียกว่ากลุ่ม High Net Worth กองทุนกลุ่มนี้ จึงมีเม็ดเงินลงทุนใหม่หมุนเวียนเข้ามาสูงมากไม่น้อยกว่า 2 - 3 แสนล้านบาทในแต่ละปี

ในระยะหลังนี้ เมื่อผลตอบแทนการลงทุนในประเทศเริ่มไม่จูงใจ จึงเกิดทางเลือกที่จะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งเทรนด์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากมองย้อนไปเมื่อ 3 – 4 ปีก่อน เคยมีกระแสนิยมลงทุนในกองทุนที่เรียกว่า “กิมจิบอนด์” หรือกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีที่ให้ผลตอบแทนสูงถึงประมาณ 4% ทีเดียว ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลเกาหลีใต้ไม่มีการระดมทุนจากต่างประเทศอีก กองทุนนี้จึงหมดไป

ขณะที่ผลตอบแทนจากกองทุนตราสารหนี้ในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ให้ผลตอบแทนไม่สูงมากนัก บลจ. จึงต้องมองหาตราสารหนี้จากประเทศใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ในระดับความเสี่ยงที่ “พอรับได้” ออกมาเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน นั่นคือ ตราสารหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศเกิดใหม่ที่กำลังต้องการเงินทุน เช่น บราซิล ตุรกี หรืออาเจนตินา ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับของกองทุนเหล่านี้ ที่เป็นกองทุนแบบ Term Fund เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศแบบ Term Fund เช่นกัน จะพบว่าอัตราผลตอบแทนแตกต่างกันพอสมควร โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศเหล่านี้ ให้ผลตอบแทน 3 – 3.5% ต่อปี เทียบกับกองทุนของไทยที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 2.5% ต่อปี

ส่วนต่างผลตอบแทนที่ระดับประมาณ 1% นี้ สำหรับนักลงทุนในกลุ่ม High Net Worth ที่มีเงินฝากในระดับ 10 – 20 ล้านบาทนั้น นับเป็นผลตอบแทนที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดกองทุนรวมเหล่านี้จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศแบบที่ให้ผลตอบแทนสูงหรือ High Yield เหล่านี้ มีขนาดใหญ่ โดยบลจ.ที่มีแม่เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และมีเครือข่ายสาขา จะมีขนาดกองทุนราว 4,000 – 5,000 ล้านบาท และบางกองก็มีขนาดใหญ่เกือบ 10,000 ล้านบาททีเดียว และยังได้รับความนิยมอย่างมากมีการเปิดกองทุนใหม่ๆ หรือทดแทนกองเดิมที่ครบกำหนดอยู่เสมอ เรียกกว่าแทบทุกสัปดาห์ต้องมีกองทุนแบบนี้เปิดใหม่ขึ้นมาอีก ซึ่งหากนับเฉพาะเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่เข้ามาลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้ นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงเดือนพฤษภาคม (ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสริช์ ประเทศไทย จำกัด) ที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่า 2 แสนล้านบาท นับเป็นมูลค่าการลงทุนที่สูงมากทีเดียว

ประเด็นสำคัญคือ นักลงทุนจะทราบได้อย่างไรว่ากองทุนนี้ คือกองทุนตราสารหนี้แบบ High Yield ต้องบอกก่อนว่าชื่อของกองทุนอาจไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าตราสารที่ไปลงทุนนั้น เป็นตราสารหนี้มาจากประเทศใด บอกเพียงเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศเท่านั้น นักลงทุนจำเป็นต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือชี้ชวน ซึ่งจะระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่านำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ประเทศอะไร และสัดส่วนของตราสารหนี้แต่ละประเภทเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์

สิ่งที่ต้องตระหนักอีกประการหนึ่งของการลงทุนในตราสารหนี้ คือ การที่กองทุนตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนสูงได้นั้น ย่อมหมายถึงอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating ที่อาจจะไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นหลักการ Trade off กันระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทน

สิ่งสำคัญคือ ตราสารหนี้ในประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ มักมีอันดับ Credit Rating อยู่ที่ระดับ BBB- เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดของ Investment Grade เรียกว่าคาบเส้นกันทีเดียว หากเกิดเหตุการณ์บางอย่างกระทบความเชื่อมั่นของประเทศนั้นๆขึ้นมา ตราสารของประเทศเหล่านั้นถูกลดอันดับเครดิตลง จะกลายเป็นการลงทุนใน Junk Bond ทันที และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ แรงเทขายหน่วยลงทุน ราคาและผลตอบแทนของกองทุนก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักได้

อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมเหล่านี้ ยังมีข้อกำหนดของสำนักงานก.ล.ต. ที่ช่วยควบคุมอยู่ในระดับหนึ่ง โดยกำหนดว่ากองทุนรวมห้ามลงทุนในตราสารหนี้ที่มี Credit Rating ต่ำกว่าระดับ Investment Grade หรือ BBB- หรือหากจะลงทุน ต้องมีสัดส่วนไม่เกิน 15% ของ NAV และแต่ละตราสาร ไม่เกิน 5% ของ NAV เพื่อเป็นการป้องกับความเสี่ยงให้กับนักลงทุนรายย่อยในระดับหนึ่ง

ไม่นานมานี้ สำนักงานก.ล.ต. มีการอนุญาตให้จัดตั้งกองทุนรวมตราสารหนี้แบบใหม่ โดยอนุญาตให้ลงทุนในตราสารหนี้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดสัดส่วนการลงทุน และไม่จำกัดว่าตราสารเหล่านั้นจะมีอันดับ Credit Rating ในระดับใด แต่จำกัดการลงทุนในกองทุนเหล่านี้ไว้เฉพาะกลุ่มนักลงทุน Accredited Investor เท่านั้น เนื่องจากเชื่อว่าเป็น กลุ่มนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนมากกว่านักลงทุนรายย่อยทั่วไป

นักลงทุน Accredited Investor ได้แก่ 1. กลุ่มนักลงทุนสถาบัน เช่น กบข. ประกันสังคม บริษัทประกัน หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2. นักลงทุนรายย่อยที่มีความรู้ความเข้าใจ วัดได้จากจำนวนเงินลงทุนที่มีมากพอในระดับหนึ่ง หรือเป็นผู้มีเงินฝากแบบ High Net Worth ให้สามารถลงทุนในกองทุนเหล่านี้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด รวมทั้งเงินลงทุนขั้นต่ำครั้งแรกของกองทุนเหล่านี้จะสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไป บางกองทุนเริ่มต้นสูงถึง 1 ล้านบาท นี่จึงเป็นวิธีการปกป้องนักลงทุนร่อยย่อยที่ยังมีเงินลงทุนไม่มากนัก และรับความเสี่ยงได้น้อย ไม่ให้สามารถมาลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ Term Fund แบบ High Yield นี้ได้

สำหรับการลงทุนแบบไม่มีข้อจำกัดนี้ นักลงทุนที่จะลงทุนได้ ต้องลงนามยอมรับเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเอกสารนี้จะระบุข้อมูลความเสี่ยงเพิ่มเติมมากขึ้นจากกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารระดับที่เป็น Junk Bond, ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนและส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์, ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากเป็นการลงทุนต่างประเทศ และความเสี่ยงจากสภาพคล่องเพราะตราสารที่เป็น Non - Investment Grade อาจจะไม่มีนักลงทุนสนใจซื้อขายมากนัก และความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ อย่างนี้เป็นต้น

จนถึงขณะนี้ แม้ว่ากองทุนรวมตราสารหนี้แบบ High Yield เหล่านี้ จะยังไม่มีกองใดที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดหมายไว้ รวมถึงสำนักงานก.ล.ต. จะเปิดโอกาสให้กองทุนรวมสามารถลงทุนในตราสารได้ทุกระดับก็ตาม แต่บลจ.ไทย ก็ยังคงมีความระมัดระวัง และไม่ลงทุนในตราสาร Non - Investment Grade ทั้งหมด โดยยังคงให้น้ำหนักกับตราสารที่เป็น Investment Grade และใช้ตราสาร Non - Investment Grade เข้ามาผสมไว้ในพอร์ตลงทุนเพื่อเติบผลตอบแทนของกองทุนให้สูงขึ้น

ในอนาคต เชื่อว่าจะมีกองทุนรวมตราสารหนี้แบบ High Yield อย่างนี้ออกมาอีก เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังคงเป็นขาลง ผลตอบแทนที่สูงระดับ 3.5% ต่อปี จูงใจนักลงทุนอยู่มากทีเดียว แต่อย่าลืมว่า ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้ 3.5% เป็นเพียงคาดการณ์ว่าจะได้รับ และไม่มีกองทุนรวมใดกล้าการันตีว่าจะได้รับผลตอบแทนตามนั้นจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ ก่อนตัดสินใจลงทุน ตอบตัวเองให้ได้ว่าคุณอ่านและทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในกองทุนรวม High Yield เหล่านี้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบดีพอแล้วจริงๆ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst