ครั้งสุดท้ายกับ Trigger Fund

วินาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Trigger Fund แต่จะมีซักกี่คนที่เข้าใจกองทุนชนิดนี้อย่างท่องแท้

Facebook Twitter LinkedIn

#เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ประโยคยอดฮิตในสื่อสังคมออนไลน์นี้คงอยู่ในใจของนักลงทุนในกองทุน Trigger Fund หลายๆท่าน ณ ช่วงเวลานี้ ผมจำได้ว่าตั้งแต่เริ่มมี Trigger Fund เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ไม่เคยมีปีไหนเลยที่ Trigger Fund จะไม่เป็นประเด็นให้ผมต้องเขียนถึง

มาถึงวันนี้ปี 2558 วันที่ Trigger Fund นั้นกำลังได้รับความนิยมจากทั้งคนออกกองทุน (บลจ.) และนักลงทุนอย่างล้นหลามจนถึงขั้นที่เรียกกว่ามีการเปิดเสนอขายกันทุกอาทิตย์ ปีๆหนึ่งมีเม็ดเงินหมุนเข้าออก Trigger Fund หลายหมื่นล้านบาท เฉพาะช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 นี้มี Trigger Fund จดทะเบียนดำเนินการแล้วเกือบ 100 กองทุน ระดมเงินจากผู้ลงทุนได้กว่า 37,000 ล้านบาท (มากกว่าเม็ดเงินสุทธิที่ไหลเข้าลงทุนใน LTF ปี 2557 ที่ 34,000 ล้านบาท เสียอีก)

ผมมองว่าที่มาของความนิยมและความสำเร็จของ Trigger Fund ในอดีตที่ผ่านนี้นั้นเข้าข่ายสถานการณ์ที่เรียกว่า “Win-Win situation” ในกรณีนี้หมายถึง บลจ. และนักลงทุน Win-Win อย่างไรนะหรอครับ

บลจ. ก็ทำกำไรได้จากการบริหารกองทุนดังกล่าวซึ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการที่สูงกว่ากองทุนหุ้นแบบปกติ (Trigger Fund เรียกเก็บค่าใช้จ่ายกองทุนที่เฉลี่ย 2.8% ขณะที่กองทุนหุ้นทั่วไปเรียกเก็บเฉลี่ยที่ 1.8%) อีกทั้งค่าธรรมเนียมซื้อและขายซึ่งก็สูงกว่ากองทุนหุ้นแบบปกติทั่วไป ส่วนนักลงทุนเองส่วนใหญ่ก็สมหวังได้ผลตอบแทนตามที่กองทุนนั้นตั้งเป้าหมายไว้จะ 15% 10% 8% 6% หรือ 5% ก็ตามซึ่งก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่นักลงทุนพอใจกับมัน

จะสังเกตได้ว่าในอดีต 5-6 ปี ที่ผ่านมานี้ตลาดหุ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นช่วงตลาดขาขึ้น ดังนั้น Trigger Fund ส่วนใหญ่ก็มักจะทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย บางกองทุนยังสามารถปิดกองทุนได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น 1-2 เดือน ตามที่นักลงทุนมักจะเห็นตามข่าวประชาสัมพันธ์ (แต่ท่านเคยสงสัยกันไหมครับว่า แล้วกองทุนที่ไม่สามารถทำได้ถึงตามเป้าหมายทำไมไม่เห็นเค้าพูดถึงกันเลย) จากฐานข้อมูลของ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่าตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2557  นั้นมีกองทุน Trigger Fund หุ้นไทยเปิดมาทั้งหมดประมาณ 204 กองทุน และมีกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย 135 กองทุน คิดเป็น 66% ของกองทุนที่ออกทั้งหมด ขณะที่อีก 69 กองทุนนั้นไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย 34% ของกองทุนที่ออกทั้งหมด

ส่วน Trigger Fund ที่เน้นลงทุนหุ้นต่างประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกันมีกองทุนเปิดมาทั้งหมดประมาณ 114 กองทุน มีกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย 75 กองทุน คิดเป็น 66% ของกองทุนที่ออกทั้งหมด ขณะที่อีก 39 กองทุนนั้นไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย 34% ของกองทุนที่ออกทั้งหมด สัดส่วนเท่ากันพอดีเลย

ที่นี้ กลับมาที่ประเด็นที่ผมตั้งไว้ตอนต้นซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากเน้นให้นักลงทุนทราบก็คือ ผลงานล่าสุดของ Trigger Fund ทั้งที่ลงทุนในหุ้นไทยและต่างประเทศปีนี้นั้นเรียกว่าเข้าขั้นวิกฤต โดย Trigger Fund หุ้นไทย ที่เปิดปี 2558 นี้ทั้งหมด 25 กองทุนทำผลตอบแทนเฉลี่ย -10% ยังไม่กองไหนสามารถปิดได้เลย

ส่วน Trigger Fund หุ้นต่างประเทศ ปีนี้เปิด 52 กองทุน ทำผลตอบแทนเข้าเป้าและปิดได้แล้วมี 18 กองทุน ที่เหลือก็อาการหนักไม่แพ้กัน ทำผลตอบแทนเฉลี่ย -14% เช่นเดียวกัน แต่ที่หนักสุดเห็นจะเป็น Trigger Fund ที่ลงทุนในหุ้นจีนที่ยังปิดไม่ได้ทำผลตอบแทนเฉลี่ย -24% และหลายกองทุนก็เปิดดำเนินงานมาแล้วเกินครึ่งทาง นั้นหมายความว่าเหลือเวลาอีกไม่นานประมาณ 6 เดือนก็จะครบกำหนดอายุ ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2557 ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)

มาถึงตรงนี้ผมเลยอยากจะฉายภาพให้นักลงทุนเห็นกันครับว่าโอกาสที่ Trigger Fund ของท่านจะทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายนั้นมีอยู่มากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น Trigger Fund หุ้นไทยที่ส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 6% แต่ตอนนี้มีผลตอบแทนเฉลี่ย -10% ดังนั้นการที่กองทุนจะทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายนั้นกองทุนต้องทำผลตอบแทนในช่วง 6 เดือนที่เหลือให้ได้อย่างน้อย 17% คิดแบบง่ายๆก็คือวันนี้ดัชนี SET Index อยู่ที่ 1365 อีก 17% ก็คือ SET Index 1597 จุด หรือถ้าคิดแบบเอาแค่ไม่ขาดทุนก็ยังต้องทำอีกอย่างน้อย 11%

ขณะที่ Trigger Fund ที่ลงทุนในหุ้นจีนนั้นปัจจุบันผลตอบแทนเฉลี่ย -24% จะเข้าเป้าได้ 8% นั้นต้องทำอีก 42% หรือแค่เท่าทุนก็ยังต้องทำอีก 32%

แต่ทั้งนี้ อย่าเพิ่งหมดหวังกันครับเพราะผมลองคำนวณสถิติ 10 ปีย้อนหลังของทั้งดัชนี SET Index และ Hang Seng China Enterprises (H-Shares) โดยดูรอบการลงทุนทุกๆ 6 เดือน ผลปรากฎว่ามีโอกาสที่ SET Index และ Hang Seng China Enterprises (H-Shares) จะทำได้ตามเป้าหมายที่ผมกล่าวมานั้นอยู่ที่ 15.65% และ 8.7% ตามลำดับ

ที่ผมเขียนมายืดยาวขนาดนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์จะโจมตี Trigger Fund แต่อย่างไรเพียงแต่ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงที่ม่ที่ไปรวมทั้งอบากฝากข้อควรระวังถึงนักลงทุนที่กำลังพิจารณาหรือสนใจการลงทุนใน Trigger Fund เพิ่มเติมดังนี้

  • Trigger Fund ไม่สามารถทำการ cut loss ทำให้ไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงในช่วงขาลงได้
  • ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนต้องมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีเนื่องจากไม่สามารถขายได้ก่อนครบกำหนด
  • โดยเฉลี่ยแล้วมีการเก็บค่าธรรมเนียมสูงกว่ากองทุนหุ้นแบบปกติ

โชคดีครับทุกท่าน

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst