สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 3 ปี 2558

ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน ส่งผลกระทบต่อกองทุนรวม เงินลงทุนไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่นักลงทุนเริ่มหาสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ

Facebook Twitter LinkedIn

          นักลงทุนเทขายหุ้นทั่วโลกส่งผลให้หลายตลาดหุ้นทำผลตอบแทนรายไตรมาสติดลบมากที่สุดนับตั้งแต่ วิกฤตการเงินในยุโรปเมื่อปี 2554 กองทุนรวมในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกันทำให้ยอดสินทรัพย์กองทุนรวมหลุด 4 ล้านล้านบาท แต่ทั้งปียังโต 4.07% กองทุนต่างประเทศนำโดยกลุ่ม Healthcare ยังโตต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

          มาถึงตรงนี้คงต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะเห็นอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยปีนี้โตเป็นเลข 2 หลักนั้นคงเป็นเรื่องที่ท้าท้ายมาก เนื่องจากสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกมีความผันผวนอย่างมาก ปิดไตรมาส 3 อตุสาหกรรมกองทุนไทยปีนี้โต 4.07% มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.96 ล้านล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตามหากมองลึกๆแล้ว กองทุนรวมไทยปีนี้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิรวมถึงเกือบ 500,000 ล้านบาท โดยนักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มมองหาและย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น ส่งผลให้กองทุนตลาดเงิน (Money Market) และ กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้ง Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond นั้นได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนสูงสุด โดยมีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิน 169,463 และ 125,967 และ 104,480 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่กองทุน High Yield Bond ที่ลงทุนในต่างประเทศก็ยังคงมีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง กว่า 100,576 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการสลับเปลี่ยนการลงทุนจากกองทุน Term Fund ที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศโดยใน 9 เดือนแรกนี้มีเงินไหลอออกกว่า –140,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้กองทุน High Yield Bond กลุ่มดังกล่าวเริ่มจะได้รับความนิยมลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงต้นปี ทั้งนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะอัตราผลตอบแทนที่ลดลงอยู่ที่ระดับเพียง 1.8-2.5% เท่านั้น

ทั้งนี้กลุ่มกองทุนที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดตลอดปีนี้ก็คือ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) เรียกได้ว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีเงินลงทุนไหลออกนอกประเทศสุทธิกว่า 107,473 ล้านบาท จากกลุ่มดังกล่าว โดยกลุ่มกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ลงทุนคงหนีไม่พ้น กองทุน Healthcare  ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีเปิดดำเนินการทั้งสิ้น 17 กองทุนทั้งแบบกองทุนเปิดธรรมดาและเป็นกองทุน RMF มีเงินลงทุนไหลเข้ากลุ่มนี้สุทธิกว่า 38,575 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 53,897 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนหุ้นญี่ปุ่น และกองทุนหุ้นจีน ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 23,710 และ 17,316 ล้านบาทตามลำดับ

ส่วนแบ่งเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (กราฟ)

FIF_Flow

ซึ่งปัจจุบันกองทุนกลุ่มที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) นี้มีจำนวนทั้งสิ้น 304 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 309,308 ล้านบาท โตจากสิ้นปีที่แล้ว 40.18% โดยกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศยังคงครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ 61.82% ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนผสมที่ 18.37% ส่วนที่เหลือรวมประมาณ 20% ได้แก่ กองทุนทองคำและกองทุนตราสารหนี้

FIF_Allocation

โดยในกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ทั้งหมดนี้ บลจ.กสิกรไทย ยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดสูงถึง 39.11% มีเงินลงทุนรวมในกลุ่มนี้กว่า 120,982 ล้านบาท อันดับที่ 2 บลจ. กรุงศรีมีส่วนแบ่ง 10.69% มีเงินลงทุนประมาณ 33,069 ล้านบาท ซึ่งยังคงโตอย่างต่อเนื่องนับจากสิ้นไตรมาส 2 ที่ 9.28% ส่วนอันดับ 3 ตกเป็นของ บลจ. ยูโอบี ประเทศไทย ที่ 9.42% มีสินทรัพย์สุทธิรวม 29,133 ล้านบาท ซึ่งก็โตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

MarketShare_FIF

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) ได้รับผลกระทบโดยตรงจากตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนในไตรมาสที่ 3 นี้ทำให้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมลดลง -7.47%  มาอยู่ที่ 163,526 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิตลอดทั้งปี 4,580 ล้านบาท โดย 2 กลุ่มที่ได้รับความนิยมอย่างชัดเจนในปีนี้คือ กลุ่มกองทุน Passive Fund มีเงินไหลสุทธิเข้ากว่า 1,700 ล้านบาทและกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กที่หลาย บลจ. ทยอยออกกองทุนในกลุ่มดังกล่าวมาเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน

บลจ. ยังคงทยอยออก Trigger fund อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 นี้ โดยใช้โอกาสในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับลดลงนี้ ออกกองทุนใหม่ทั้งสิ้น 27 กองทุนแต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุนโดยทำยอด IPO ได้เพียง 5,777 ล้านบาท เฉลี่ยต่อกองทุนเพียง 200 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเมื่อต้นปีกว่า 60% ทั้งนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีเงินลงทุนติดอยู่กับกอง Trigger fund กองเก่าที่ออกมาตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี

จบไตรมาส 3 นี้มีกอง Trigger fund เปิดเสนอขายแล้วทั้งสิ้น 96 กองทุน ดึงเงินลงทุนได้ 35,777 ล้านบาท แบ่งเป็น Trigger Fund ลงทุนหุ้นต่างประเทศ 57 กองทุน ลงทุนหุ้นไทย 26 กองทุน ลงทุนในน้ำมัน 13 กองทุน ทั้งนี้มีเพียง 25 กองทุนเท่านั้นที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย

ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน Trigger fund ที่ยังไม่ถึงเป้าหมาย (กราฟ)

Trigger_Fund

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

          ไตรมาส 3 นี้นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าท้ายฝีมือผู้จัดการกองทุนมากที่สุดนับตั้งแต่ วิกฤตการเงินในยุโรปเมื่อปี 2554 โดยมีเพียง 4 กลุ่มเท่านั้นที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก ได้แก่ กลุ่ม Money Market ที่ 0.31% กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้ง Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ที่ 0.39% และ 0.07% ตามลำดับ สุดท้าย กลุ่ม Property Indirect (เน้นลงทุนหุ้นอสังหาริมทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์) ที่ 0.54% ขณะที่กลุ่มที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้น้อยที่สุดนั้นได้แก่ กลุ่มกองทุนหุ้นจีน ที่ -20.55% ตามมาด้วย กองทุนน้ำมัน ที่ -19.72%  และกลุ่ม Emerging Market Equity ที่ -13.65%

 Categoru Return

และหากมองรวมผลตอบแทนทั้งปีนั้น กองทุนหลายประเภทที่โดดเด่นทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงครึ่งปีแรกนั้นก็ได้รับผลกระทบจนกลายเป็นติดลบไป เหลือเพียง 8 กลุ่มกองทุนเท่านั้นที่ยังคงมีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกอยู่ ซึ่งกลุ่มกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงสุดในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาได้แก่ กลุ่ม Property Indirect ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.84% ตามมาด้วยกลุ่ม Europe Equity ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงครึ่งปีแรกมาช่วย ทำให้ได้ยังทำผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.62% ขณะที่กลุ่ม Healthcare ก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกันส่งผลให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเหลือเพียง 4.27% ส่วนกลุ่ม Japan Equity ที่ทำผลตอบเฉลี่ยได้สูงสุดในช่วงครึ่งปีแรก นั้นปัจจุบันเหลือผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง  2.04%

หุ้นไทยกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-Cap) และกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) นั้นได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆโดยทำผลตอบแทนเฉลี่ย -4.81 และ -7.81ตามลำดับ

ส่วนผลตอบแทนของกองทุนในกลุ่มตราสารหนี้นั้นกลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond นั้นสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกที่ 1.73% และ  1.58% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่ม Global Bond และEmerging Market Bond  นั้นผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบทั้ง 2 กลุ่มที่ -1.68% และ  -6.64% ตามลำดับ

ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันนั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันโลกที่ตกลงอย่างต่อเนื่องทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมาถึง -24.03% ส่วนกองทุนทองคำนั้นก็ยังคงผันผวนทำผลตอบบแทนได้ที่      -3.79%

ปิดท้ายกันที่กองทุน LTF และ RMF ซึ่งหนีไม่ผลที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้นไทยเช่นกันส่งผลให้ กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 253,420 ล้านบาท -6.49% ขณะที่ RMF โตเพียงเล็กน้อยที่ 0.19% มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 167,021 ล้านบาท

ทั้งนี้นักลงทุนบางส่วนก็ใช้โอกาสในช่วงหุ้นตกนี้ทำการทยอยลงทุนทั้งกองทุนมากเป็นประวัติการณ์ โดย LTF มีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิในไตรมาส นี้กว่า 10,766 ล้านบาทขณะที่ RMF มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิอย่างต่อเนื่องเช่นกันที่ 4,420 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามจากการประเมินและสถิติในอดีตนั้นแสดงให้เห็นว่า ยังมีเม็ดเงินอีกกว่า 30,000 ล้านบาทในส่วนของ LTF และอีกกว่า 15,000 ล้านบาทของ RMF ที่ยังรอการลงทุนอยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

 

 

*ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2558

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ 02-126-8137

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst