Healthcare กับ Silver age ต่างกันอย่างไร

Mega Trend คำนี้ผมเชื่อว่าผู้ลงทุนส่วนใหญ่คงได้ยินกันบ่อยในช่วงที่ผ่านมานี้ และหนึ่งในกระแสใหญ่ของโลกทุกวันนี้คงหนีไม่พ้น เรื่องของ Aging Society

Facebook Twitter LinkedIn

         หนึ่งในกระแส Mega Trend ใหญ่ของโลกช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาคงจะหนีไม่พ้น เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอาทิเช่น โรงพยาบาล บริษัทผลิตยารักษาโรค เครื่องมือทางการแพทย์ ต่างเติบโตกันเป็นอย่างมาก รวมไปถึงราคาหุ้นในกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ซึ่งกระแส Aging society ดังกล่าวประกอบกับผลตอบแทนในอดีตที่ผ่านมาในช่วง 5 ปีย้อนหลังที่สามารถทำได้โดดเด่นที่สูงถึง 19.9% ต่อปีของกองทุนกลุ่ม Healthcare นี้  จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กองทุนกลุ่ม Healthcare นี้ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทยตลอดช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 นี้ บรรดา บลจ. ต่างๆ พากันออกกองทุนกลุ่ม Healthcare มาเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนอย่างมากมาย ส่งผลให้กองทุนในกลุ่มนี้สามรถดึงเงินจากนักลงทุนไทยได้สูงถึงเกือบ  46,000 ล้านบาทในปีนี้ และทำให้ปัจจุบันมีกองทุนในกลุ่ม Healthcare ในไทยทั้งสิ้น 18 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมสูงถึง 54,700 ล้านบาท นับเป็นกองทุนที่มีความร้อนแรงมากที่สุดใน พ.ศ. นี้ก็กว่าได้

และสถานการณ์เช่นนี้จึงส่งผลให้หลาย บลจ. ที่ยังไม่ได้ออกกองทุนในกลุ่ม Healthcare นั้นได้เริ่มฉีกตัวเองออกมาจากการออกกองทุนกลุ่ม Healthcare  โดยหันไปออกกองทุนที่เรียกว่า Silver age เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มโอกาสทางการลงทุนให้กับผู้ลงทุน แต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่าทั้ง 18 กองทุนในกลุ่ม Healthcare และกองทุนกลุ่ม Silver age  นี้มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ผมขออนุญาตเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้ครับ

เริ่มต้นกันที่กลุ่ม Healthcare โดยกองทุนส่วนใหญ่ 15 กองทุนมีการลงทุนแบบ feeder fund หมายความว่า นำเงินไปลงทุนยังกองทุน master fund เพียงกองทุนเดียว ซึ่งในจำนวนทั้ง 15 กองทุนนี้มีกองทุน master fund เพียง 5 กองทุนเท่านั้นหมายความว่าหลายกองทุนมีการลงทุนใน master fund กองเดียวกันนั้นเอง  ขณะที่อีก 3 กองทุนมีการลงทุนแบบ fund of funds คือนำเงินไปลงทุนในกองทุนหลายๆกอง ซึ่งอย่างไรก็ตามทั้ง 2 แบบนั้นก็จะเน้นลงทุนในกลุ่ม Healthcare มากกว่า 95% ขึ้นไป เหมือนกัน

มาถึงตอนนี้นักลงทุนหลายท่านคงกำลังสงสัยว่าความต่างคืออะไร ในเมื่อทุกกองทุนก็ลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะเสริมว่าอุตสาหกรรม Healthcare นี้มีหลายกลุ่มธุรกิจรวมตัวกันอยู่ อาทิเช่น Biotechnology (บริษัทค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับยารักษาโรค) Drug Manufacture (บริษัทผลิตยารักษาโรค) Medical Device (บริษัทผลิตเครื่องมือทางการแพทย์) Long-Term Care Facilities (ธุรกิจเกี่ยวกับบ้านพักสำหรับผู้สูงวัย) Healthcare Plans (ธุรกิจที่เกี่ยวกับการประกันสุขภาพ) เป็นต้น ซึ่งแต่ละกองทุนนั้นก็ให้น้ำหนักในการลงทุนที่ไม่เท่ากัน นั้นจึงเป็นที่มาของผลตอบแทนที่ต่างกันของแต่ละกองทุน ซึ่งจุดนี้ผมอยากให้ท่านนักลงทุนทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมให้ดี

ตัวอย่างการลงทุนของกองทุน JPM Global Healthcare Fund ในธุรกิจต่างๆในอุตสาหกรรม Healthcare

 Health Care Industry

*ที่มา: Moringstar Direct, www.morningstarthailand.com

**ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2558

ส่วนกลุ่มกองทุน Silver Age นั้นจะว่าไปแล้วก็มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกับกลุ่ม Healthcare โดยในส่วนที่ว่าเหมือนกันนี้ก็คือ มีการเกาะกระแส Aging society เป็น theme ในการลงทุนหลักด้วยเช่นกัน โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมทุกประเภทที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก Aging society ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นการลงทุนจะไม่ได้จำกัดเพียงแต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมในกลุ่ม Healthcare เท่านั้น เพียงแต่น้ำหนักในการลงทุนส่วนใหญ่ประมาณ 40-45% จะเน้นลงทุนในกลุ่ม Healthcare ซึ่งอาจเรียกได้ว่าได้รับผลโดยตรงจาก Aging society และที่ส่วนที่เหลือก็กระจายการลงทุนไปยังธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลทางอ้อมอาทิ Anti-aging (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ) Leisure (ธุรกิจท่องเที่ยว) Asset Gatherers (สถาบันการเงินที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเงินหลังวัยเกษียณ) เป็นต้น

ตัวอย่างการลงทุนของกองทุน CPR Silver Age ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ

CPR Silver Age

*ที่มา: Moringstar Direct, www.morningstarthailand.com

**ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2558

ดังนั้นโดยภาพรวม กองทุนกลุ่ม Healthcare นั้นจะมีการลงทุนที่เฉพาะเจาะจงมากกว่ากลุ่มกองทุน Silver Age ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าเนื่องจากมีการลงทุนที่กระจุกตัวเพียงอุตสาหกรรมเดียว แต่ผลดีก็คือนักลงทุนที่ลงทุนในกลุ่มนี้จะได้รับความชัดเจนทางการลงทุนที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม Healthcare โดยตรงไปแบบเต็มๆ ขณะที่กลุ่ม Silver Age นั้นมีการลงทุนที่กระจายตัวในหลายอุตสาหรรมมากกว่า ซึ่งนั้นก็หมายความว่าความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม Healthcare ในทางตรงนั้นก็น้อยกว่ากองทุน Healthcare แต่ทั้งนี้กลุ่ม Silver age นี้ก็จะมีความคล่องตัวในการบริหารการลงทุนที่มากกว่าเนื่องจากมีความหลากหลายของอุตสาหกรรมที่ลงทุนมากกว่า

ส่วนนักลงทุนจะเลือกลงทุนกองทุนประเภทไหนนั้นก็ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์ทางการลงทุน ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ท่านต้องการจะได้รับครับ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst