สรุปภาพรวมกองทุนรวมปี 2558

กองทุนรวมไทยฝ่ามรสุมความผันผวนปี 2558 กลุ่ม Health Care โชว์ผลงาน 12.42% น้ำมัน -40.28%

Facebook Twitter LinkedIn

          กองทุนรวมไทยฝ่ามรสุมความผันผวนของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น วิกฤตตลาดหุ้นจีน สหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ดันยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4.063 ล้านล้านบาทโตจากปีที่แล้ว 6.67%

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

          ปี 2558 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย หลังจากที่เติยโตอย่างต่อเนื่องในระดับเลข 2 หลักตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจบปี 2558 นี้กองทุนรวมทั้งอุตสาหกรรมโตเล็กน้อยที่  6.67%

แต่หากมองโดยละเอียดแล้วนั้น กองทุนรวมไทยยังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องโดยปี 2558 นี้มีเงินไหลเข้าสุทธิรวมถึงเกือบ 300,000 ล้านบาท แต่ด้วยความผันผวนที่มีอย่างมากมายในตลาดทำให้นักลงทุนเริ่มย้ายเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กองทุนตลาดเงิน (Money Market) และ กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้ง Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond นั้นได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนสูงสุดในปีนี้ โดยมีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิน 171,151 และ 135,536 และ 121,972 ล้านบาท ตามลำดับ

5 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุด (หน่วย: พันล้านบาท)

Top_5_Flowing_Morningstar_Categories

*ที่มา: Morningstar Direct

กลุ่มกองทุนประเภทถัดมาที่เรียกได้ว่าเป็นพระเอกของการลงทุนในปี 2558  ที่ผ่านมานี้ทั้งในแง่ของการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและผลตอบแทนที่โดดเด่นนั้น ก็คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งนำมาโดยกลุ่มกองทุน Global Health Care และการลงทุนในหุ้นต่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมของกองทุนในกลุ่มนี้นั้นโตกว่า 51.64% ซึ่งในปี 2558 นี้มีการเปิดกองทุนในกลุ่นนี้ใหม่มากถึง  77 กองทุน ส่งผลให้ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมทั้งสิ้น 334,584 ล้านบาท จากจำนวน 332 กองทุน และกว่า 15 ประเภทสินทรัพย์ให้เลือกลงทุน เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับทำให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายเทียบเท่ากับกองทุนรวมในต่างประเทศ

5 อันดับกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุด (หน่วย: พันล้านบาท)

Top_5_FIFs_Flowing

*ที่มา: Morningstar Direct

ซึ่งในกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) นี้ บลจ.กสิกรไทย ยังคงครองความเป็นเจ้าตลาดอยู่โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด 38.57% แต่ลดลงจากปี 2557 ที่มีอยู่สูงถึง 47.83%  โดยทีปัจจุบันมีเงินลงทุนรวมในกลุ่มนี้กว่า 129,035 ล้านบาท อันดับที่ 2 บลจ. กรุงศรีมีส่วนแบ่ง 11.62% มีเงินลงทุนประมาณ 38,869 ล้านบาท และยังคงโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนอันดับ 3 ตกเป็นของ บลจ. ยูโอบี ประเทศไทย ที่ 9.23% มีสินทรัพย์สุทธิรวม 30,567 ล้านบาท

FIF

*ที่มา: Morningstar Direct

ขณะที่กองทุนประเภท Term Fund ทั้งแบบปกติและแบบ High Yield Bond นั้นเริ่มได้รับความนิยมลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยมีเงินไหลออกสุทธิจากกลุ่มกองทุนดังกล่าวนี้รวมกว่า 313,512 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมากจากผลตอบแทนที่ไม่เป็นที่น่าจูงใจอีกต่อไป อีกทั้งยังมีเรื่องของสภาพคล่องที่ด้อยกว่ากองทุนตราสารหนี้แบบปกติเป็นอีกหนึ่งปัจจัยด้วย

5 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุด (หน่วย: พันล้านบาท)

Top_5_Out_Flowing_Categories

*ที่มา: Morningstar Direct

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยตรงจากตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนในช่วงครึ่งปีหลังทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมลดลง -10.33%  มาอยู่ที่ 158,476 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่มูลค่าทรัพย์สินในกลุ่มนี้โตติดลบ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิตลอดทั้งปี 6,680 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มหุ้นขนาดเล็กยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดย บลจ. ที่กวาดเงินจากนักลงทุนมากที่สุดในกลุ่มนี้ได้แก่ บลจ. กรุงศรี ซึ่งมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 3,796 ล้านบาท โดยที่มีกองทุนอย่าง Krungsri Dividend Stock เป็นตัวชูโรงดึงเงินจากนักลงทุน ขณะที่อันดับ 2 นั้นตกเป็นของ บลจ. ไทยพาณิชย์ ที่มีเงินไหลสุทธิเข้ากว่า 3,127 ล้านบาท และอันดับ 3 เป็นของ บลจ. กรุงไทย ที่ 1,553 ล้านบาท

          Trigger fund ทำลายสถิติออกกองทุนทั้งหมด 103 กองทุน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ทำยอด IPO ได้เพียง 39,000 ล้านบาท เฉลี่ยเพียงกองทุนละไม่ถึง 400 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่ลดลงและความไม่มั่นใจที่นักลงทุนมีต่อสภาพตลาดโดยรวมอย่างชัดเจน  

โดย Trigger fund ปี 2558 นี้เป็นการเน้นการลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศ อาทิ หุ้นญี่ปุ่น หุ้นจีน หุ้นเอเชียและหุ้นยุโร เป็นต้น โดยมีทั้งสิ้น 59 กองทุน ขณะที่เน้นลงทุนหุ้นไทย 29 กองทุน และลงทุนน้ำมัน 15 กองทุน ทั้งนี้มีเพียง 29 กองทุนเท่านั้นที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย ซึ่ง บลจ ทิสโก้ยังครองเป็นเจ้าตลาดโดยสามารถทำยอดได้ประมาณ 9,000 ล้านบาท ครองส่วนแบ่ง 24.26%

Trigger

 

ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน Trigger fund ที่ยังไม่ถึงเป้าหมาย (กราฟ)

Trigger Fund Performance

 

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ความผันผวนของตลาดการลงทุนทั่วโลกที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้ง วิกฤตตลาดหุ้นจีน สหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ รวมถึงการชลอตัวของเศรษฐกิจภายในระเทศ ส่งผลให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมในปี 2558 ที่ผ่านไปนี้โดยเฉลี่ยลดลงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการลงทุนภายในประเทศทั้งหุ้นและตราสารหนี้

ดังนั้นความโดดเด่นของผลตอบแทนในปีที่ผ่านมานี้จึงเป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเป็นหลักนำมาโดย กลุ่ม Healthcare ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดของปีที่ 12.42% ตามมาด้วยกลุ่ม Japan Equity ที่เฉลี่ย 11.99% และกลุ่ม Europe Equity ที่ทำได้เฉลี่ย 10.51% ซึ่งส่วนใหญ่เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น

ในขณะที่กลุ่มที่เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่นั้นผลตอบแทนยังคงผันผวนและให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบทั้งสิ้น โดยกลุ่ม Emerging Market Equity นั้นมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -11.49% กลุ่ม China Equity หรือหุ้นจีนนั้นก็มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ -4.34% และกลุ่ม Asia Pacific ex-Japan ก็เช่นกันที่เฉลี่ย -2.52%

ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้น ถึงแม้ว่าจะดูปลอดภัยแต่ผลตอบแทนเฉลี่ยนั้นก็ต่ำลงเช่นเดียวกัน โดย กลุ่ม Money Market ทำได้เฉลี่ยที่ 1.49% กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้ง Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ที่ 2.22% และ 2.49% ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มต่างทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ลดน้อยลงกว่าในอดีตที่ผ่านมาทั้งสิ้น เช่นเดียวกับกลุ่มตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศที่แย่ถึงขั้นผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเลยทีเดียว

ขณะที่การลงทุนในหุ้นไทยนั้นได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆทั้งกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-Cap) และกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย -4.1% และ -9.08% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่ม Property Indirect (เน้นลงทุนหุ้นอสังหาริมทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์) นั้นยังคงให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นเฉลี่ยที่ 8.56%

ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันนั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันโลกที่ตกลงอย่างต่อเนื่องทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมาถึง -40.28% เรียกว่าลงทุน 100 บาทเหลือ 60 บาทกันเลยที่เดียว ส่วนกองทุนทองคำนั้นก็ยังคงผันผวนทำผลตอบแทนได้ที่ -7.42%

Category

*ที่มา: Morningstar Direct

 

ปิดท้ายกันที่กองทุน LTF และ RMF ซึ่งสุดท้ายแล้วนักลงทุนก็ช่วยกันซื้อในช่วงท้ายของปีส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทั้ง 2 ประเภทโตอย่างเนื่องติดต่อกันในทุกปีนับแต่มีการจัดตั้งกองทุนเป็นต้นมาถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาหุ้นที่ตกลงในตลอดช่วงปีทีผ่านมา โดยกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 277,312 ล้านบาท โตขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 2.32% ขณะที่ RMF นั้นได้รับแรงซื้อจากการออกกองทุนใหม่ๆตลอดทั้งปีทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่ม 7.50% มาอยู่ที่ 179,216 ล้านบาท

ในส่วนเม็ดเงินสุทธิที่ไหลเข้ากองทุนทั้ง 2 ประเภทนั้นยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องซึ่งพฤติกรรมในการลงทุนนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเป็นเช่นเดิมคือเน้นลงทุนในช่วงสิ้นปี ทั้งนี้ในส่วนของเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิของ LTF เริ่มมาถึงจุดอิ่มตัวแม้ว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 34,360 ล้านบาทก็ตาม ขณะที่ RMF นั้นยังคงเติบโตได้เป็นอย่างดีทำลายสถิติเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิทั้งปีที่ 20,913 ล้านบาทเป็นผลมาจากความนิยมและความเข้าใจถึงประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับการออกกองทุนใหม่ๆเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน

10 อันดับกองทุน LTF ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุด (หน่วย: พันล้านบาท)

10_LTF_Flowing

 

*ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2558

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ 02-126-8137

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst