New Trick for Trigger Fund

เมื่อ Trigger Fund มีการปรับตัวเพิ่มลูกเล่นใหม่ (New Trick) จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันครับ

Facebook Twitter LinkedIn

          Never say never ถือเป็นคำพูดติดปากของฝรั่งคำหนึ่งที่มักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เมื่อปลายปีแล้วผมประกาศออกสื่ออย่างชัดเจนว่าจะไม่เขียนบทความเกี่ยวกับกองทุน Trigger Fund อีกต่อไปแล้วโดยทิ้งบทความสุดท้าย (ผมหวังไว้ ณ ตอนนั้น) ไว้ชื่อว่า “ครั้งสุดท้ายกับ Trigger Fund” แต่แล้วมาวันนี้ผมก็จำเป็นจะต้องกลืนน้ำลายตัวเองจนได้ เนื่องด้วยจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

พูดถึงกองทุน Trigger Fund นักลงทุนทราบหรือไม่ว่ากองทุนประเภทนี้อยู่กับอุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทยมาแล้วครบ 10 ปีพอดี มีกองทุนเปิดมาแล้วกว่า 450 กองทุนระดมเงินลงทุนจากนักลงทุนไทยกว่า 150,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุน Trigger Fund มีการพัฒนารูปแบบของการจัดการรวมไปถึงนโยบายการลงทุนและประเภทสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยนั้นก็คือ Trigger Fund เป็นผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่ค่อนข้างตรงใจกับความต้องการของนักลงทุนไม่ใช้น้อย มิเช่นนั้นคงหายไปจากอุตสาหกรรมกองทุนไทยนานแล้ว

ตลอดช่วง 3-4 ปีหลังที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้ออกมาวิจารณ์ถึงข้อเสียของกอง Trigger Fund นี้กันอย่างมากมาย ซึ่งผมเชื่อว่านักลงทุนหลายท่านคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็น 1. การจำกัดโอกาสในการรับผลตอบแทนไว้เพียงเป้าหมาย (X%) ที่กองทุนตั้งไว้ (upside limit) 2. โอกาสในการติดลบอย่างไม่จำกัด (downside no limit) 3. ความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องในการไถ่ถ่อนเนื่องจากไม่สามารถขายหน่วยลงทุนระหว่างทางได้ และ 4. ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายกองทุนที่เฉลี่ยแล้วเก็บในอัตราที่สูงกว่ากองทุนแบบปกติ

แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีผู้ลงทุนจำนวนหนึ่งที่ยังคงชื่นชอบและลงทุนในกอง Trigger Fund อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เปรียบเสมือนกับสินค้าประเภทอื่นๆ อาทิเช่น น้ำอัดลมหรือ Junk Food ต่างๆ ที่ขายกันอยู่ ซึ่งทุกคนต่างรู้กันดีถึงข้อเสียของมันแต่ก็ยังมีคนที่ชื่นชอบที่จะบริโภคอยู่ดี ดังนั้นบทสรุปเบื้องต้นตรงจุดนี้ก็คือ ความชื่นชอบในตัวผลิตภัณฑ์ของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ดังนั้นตราบใดที่ยังคงมีความต้องการจากผู้ลงทุน Trigger Fund ก็ยังอยู่กับอุตสาหกรรมกองทุนไทยต่อไป

ทั้งหมดที่ผมกล่าวมันนั้นไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผมต้องกลับมาเขียนเล่าเรื่องราวของ Trigger Fund อีกครั้งในวันนี้ แต่สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากผมได้มีโอกาสไปพบกับกองทุน Trigger Fund รูปแบบใหม่ที่กำลังเปิด IPO ขายอยู่ ณ ตอนนี้ (ทั้งนี้ผมไม่ได้มีเจตนาจะช่วยโปรโมตเป็นอย่างใด) ซึ่งทำให้ผมถึงกับต้องทึ่งและยอมรับถึงความสามารถในการปรับตัวของผู้คิดค้นออกกองทุน Trigger Fund กองนี้ 

มาวันนี้ Trigger Fund มีการปรับตัวอีกครั้งโดยมีลูกเล่นใหม่ New Trick นั้นก็คือ การพยายามที่จะปิดจุดอ่อนของกองทุน Trigger Fund ในเรื่องของโอกาสในการติดลบอย่างไม่จำกัด (downside no limit) โดยกองทุนใหม่นี้ได้บอกไว้ว่าจะจำกัดความเสี่ยงในช่วงขาดทุนไว้อยู่ที่ 5% นั้นหมายความว่าเมื่อใดที่หน่วยลงทุนของกองทุนมีการปรับตัวลงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 9.5 บาทกองทุนจะทำการปิดและขายคืนหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนทันที พูดง่ายๆนั้นก็คือการ stop loss เหมือนเล่นหุ้นนั้นเอง (ซึ่งต้องขอเตือนไว้ก่อนว่าโอกาสที่จะได้ 5% แบบเป๊ะๆแล้วปิดนั้นคงยาก)

ซึ่งถามผมว่าแล้วมันดีไหม ถ้ามองกันแบบตรงๆเฉพาะมุมนี้ก็ต้องยอมรับว่าดี ตรงที่มันสามารถช่วยจำกัดความเสี่ยงให้ได้อยู่ที่ระดับนั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารกองทุนด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากผมได้มีโอกาสเข้าไปดูนโยบายการลงทุนและวิธีการบริหารกองทุนนี้แล้วถือว่ามีความสลับซับซ้อนอยู่มากโดยใช้หลากหลายเครื่องมือทางการลงทุนซึ่งรวมถึงตราสารอนุพันธุ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนควรดูให้ละเอียด

แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวผมเองก็ยังคงยืนยันว่าวิธีการตั้งจุด Trigger ทั้งขาขึ้นและขาลงนั้น ท่านนักลงทุนสามารถทำได้เองเพียงแต่ท่านต้องสนใจติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด หรืออีกหนึ่งช่องทางถ้าทาง บลจ. จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุนได้ตรงประเด็นนี้ก็คือ การทำระบบ Trigger ขึ้นมาให้เป็นเครื่องมือทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนดังเช่นในบางประเทศเช่น อินเดีย เป็นต้นครับ

เนื่องจากการลงทุนทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากนักลงทุนทุกท่านก็คือ การศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดและรู้ถึงวัตถุประสงค์ของการลงทุนก่อนตัดสินลงทุนทุกครั้งนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst