Best Fund House: Domestic Fixed Income

Morningstar Awards 2016 บริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยมประเภทการลงทุนตราสารหนี้ภายในประเทศ (Domestic Fixed Income) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด

Facebook Twitter LinkedIn

Awards Logo

Thanachart Fund Management Co., Ltd.

Awards Winner in Best Fund House: Domestic Fixed Income

          

          ถึงตรงนี้คงอยากที่จะปฎิเสธถึงความสามารถในการบริหารกองทุนตราสารหนี้ภายในประเทศของ บลจ ธนชาต พิสูจน์ได้จากการที่ กองทุนตราสารหนี้ของ บลจ ธนชาต นั้นได้รับการจัด อยู่ในระดับ 5 ดาวเท่านั้น นั้นหมายถึง การสร้างผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงแล้วอยู่เหนือคู่แข่งตลอดมา รวมทั้งยังเป็น บลจ ที่สามารถคว้ารางวัลในกลุ่มตราสารหนี้มาในทุกปีตลอด ปีที่ผ่านมาและถือว่าเป็น บลจที่ได้รับรางวัล มากที่สุดอีกด้วย และนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่รางวัลบริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยมประเภทการลงทุนตราสารหนี้ภายในประเทศตกเป็นของ บลจ ธนชาต

จากนี้คือ บทสัมภาษณ์สุดพิเศษถึงที่มาในความสำเร็จ รวมทั้งมุมมองต่อการลงทุนในปี นี้ด้วย

คำถาม: บลจ.ธนชาต  มีปรัชญาในการลงทุนหุ้นและเลือกหลักทรัพย์เข้าพอร์ตลงทุนอย่างไร

คำตอบ: บลจ.ธนชาต  มีปรัชญาในการลงทุน  ดังนี้

  1. เชื่อว่าการลงทุนที่ดีต้องต่อเนื่องและสม่ำเสมอ   ผลการดำเนินงานต้องทำให้ผู้ลงทุนวางใจได้ในระยะยาว
  2. บริหารเชิงรุก ปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ   แต่จะอยู่บนพื้นฐานความรัดกุมสูงสุด   ไม่นำเงินลงทุนไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
  3. ดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมา   ยึดหลักความโป่รงใส โดยให้ความสำคัญของ  Corporate Governance (CG)
  4. ให้ความสำคัญความเสี่ยงการชำระหนี้ (Credit Risk) เพราะการผิดนัดชำระหนี้ (Default)  กระทบต่อกองทุนมาก

คำถาม:  สไตล์ในการบริหารพอร์ตการลงทุนของทีมผู้จัดการกองทุน บลจ.ธนชาต เป็นอย่างไร มีความโดดเด่น และเชี่ยวชาญในด้านไหนเป็นพิเศษ

คำตอบ: สไตล์การบริหารพอร์ต คือ ติดตามปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทิศทาง Bond Yield อย่างใกล้ชิด อาทิเช่น ทิศทางดอกเบี้ยทั้งในบ้านเราและในต่างประเทศ ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ Interest Rate Swap หรือ IRS โดยมีวิธีการบริหารการลงทุนในเชิงรุก (Be Proactive)

ส่วนความโดดเด่นที่ทำให้กองทุนเหนือกว่าคู่แข่ง คือ กลยุทธ์การบริหารแบบ Active Management การติดตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด การประเมินโอกาสการลงทุนอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราเชี่ยวชาญด้านตราสารหนี้เป็นพิเศษ พิสูจน์ทั้งจากผลตอบแทนที่เป็นอันดับต้นๆของอุตสาหกรรม และรางวัลการันตีจากหลายสถาบัน รวมทั้ง Morningstar Awards เราก็ได้รับทั้งจากรายกองทุนไม่ว่าจะเป็น T-TSARN หรือ T-NFRMF และ Best Fund House ก็ได้รับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เรียกได้ว่าตั้งแต่แจกรางวัลมา ไม่มีใครได้รางวัลนี้ นอกจากเรา

คำถาม: อะไรคือความแตกต่างที่ทำให้กองทุนตราสารหนี้ของ บลจ.ธนชาต มีความโดดเด่นกว่าของ บลจ. อื่นๆ

คำตอบ: สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ จะมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก ประกอบกับพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศ  เช่น  สภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน แนวโน้มเงินเฟ้อ และพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศ เช่น กระแสเงินทุนเข้า-ออกในตลาดเกิดใหม่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศ เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในเรื่องของ Portfolio Duration และกำหนดสัดส่วนการลงทุนว่าจะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และเงินฝาก ในสัดส่วนเท่าใด โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน จะให้ความสำคัญกับ Credit Risk นอกจากพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือแล้ว จะวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท รวมทั้งผู้บริหารของบริษัท เพราะบริษัทจะอยู่รอดได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริหารเป็นสำคัญ    

เทคนิคการลงทุนที่โดดเด่น คือ การปรับ Portfolio Duration ให้สอดคล้องกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งต้องทำล่วงหน้าระดับหนึ่ง (Move Ahead) ควบคู่ไปกับการคัดเลือกลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนคุณภาพดีที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างเข้มข้น หรือพิจารณา Credit Risk เป็นหลัก เนื่องจากหากเกิด Default จะทำให้ Portfolio ได้รับผลกระทบมาก

คำถาม: ในปี 2559 นี้ บลจ.ธนชาต มองเห็นโอกาสในการลงทุนตราสารหนี้ประเภทใดเป็นพิเศษบ้าง และท่านมีมุมต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศอย่างไร รวมถึงมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่ต้องระมัดระวัง

คำตอบ:  จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ในตลาดรองปรับตัวลดลงมาอย่างมากตั้งแต่ต้นปี เพราะกระแสเงินทุนที่ไหลกลับเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ปริมาณพันธบัตรที่ออกใหม่มีน้อยลง นักลงทุนคาดการณ์ว่าจะเห็นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากประเทศหลักเช่น ยูโรโชน และญี่ปุ่น แม้กระทั่งของไทยที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับต่ำต่อไป และไม่เพียงแต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวลดลงมามาก อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนก็ปรับตัวลดลงตาม Yield Curve และมี Credit Spread ที่แคบลงจาก Supply ของตราสารหนี้ที่มีค่อนข้างจำกัดและไม่สมดุลย์กับ Demand ในตลาดที่มีอยู่สูง ทำให้ตลาดตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้นมากตั้งแต่ต้นปี การปรับตัดลงลงของ Yield มาอยู่ในระดับต่ำมากเช่นในปัจจุบัน (Bond Yield อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงมาแล้วประมาณ 62 bps) ทำให้มีความเสี่ยงที่ตลาดอาจจะมีความผันผวนได้สูงขึ้นจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน การลงทุนในตราสารหนี้จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ และอาจมีลักษณะของการ trading ไปกับจังหวะของตลาด

แนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจเริ่มกลับมาปรับสูงขึ้น จากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มทรงตัวได้ ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับเงินเฟ้อจะมีความน่าสนใจขึ้น

คำถาม: บลจ.ธนชาต มีมุมมองต่อเศรษฐกิจภายในประเทศไทย และแนวโน้มในการลงทุนตลาดตราสารหนี้ไทยในอนาคตอีก 3-5 ปี เป็นอย่างไร

คำตอบ: อัตราการขยายตัวของ GDP ในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังน่าจะได้ผลดีจากภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ การค่อยๆ ฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคในประเทศ หลังจากที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายไปเพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ความคาดหวังว่าจะเห็นนโยบายการลงทุนของภาครัฐเริ่มส่งผล และราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยที่น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การส่งออกที่ยังไม่น่าจะกลับมาปรับดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อไป การเปลี่ยนวัฎจักรของอัตราดอกเบี้ยไทยเป็นขาขึ้นคงจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่เข้าสู่ปี 2560 แล้ว แนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น อาจมีความเสี่ยงจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Bond Yield แต่ก็จะเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนที่จะสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นได้    

คำถาม: คำแนะนำต่อผู้ลงทุนหน้าใหม่ที่กำลังสนใจลงทุนในกองทุนตราสารหนี้

คำตอบ:  เริ่มจากการลงทุนกับกองทุนตราสารหนี้ของ บลจ. ธนชาต ซึ่งมีประเภทของกองทุนหลากหลาย นอกเหนือจากกองทุนตราสารหนี้ประเภท RMF แล้วยังมีกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป  และกองทุนตราสารหนี้ประเภทมีอายุของโครงการ ซึ่งทุกประเภทกองทุน ถือเป็นการเพิ่มโอกาสนอกเหนือจากการฝากเงินทั้งสิ้น

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst