สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 1 ปี 2559

ไตรมาส 1 ปี 2559 กองทุนไหนเด่น กองทุนไหนดับ กองทุนไหนกำลังฮิต ติดตามกันได้เลยครับ

Facebook Twitter LinkedIn

          กองทุนรวมไทยยังคงโตอย่างต่อเนื่องโดยได้รับอานิสงส์จากตลาดหุ้นไทยที่โตกว่า 9.3% ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ติดลบ ทำให้ปิดไตรมาส 1 ปีนี้ กองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.35% จากปลายปีที่แล้วและยังคงมีแนวโน้มในทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

          ปี 2559 นี้เปิดตัวกันด้วยความผันผวนและการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ว่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าท้ายสำหรับผู้ลงทุน แต่สำหรับอุตสาหกรรมกองทุนนั้นเห็นจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเท่าไรเนื่องจากปิดไตรมาส1 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นกว่า 4.35% ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ส่วนหลักๆนั้นก็คือ ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยที่โตกว่า 9.3% และการที่นักลงทุนยังคงลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีมูลค่าเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนสุทธิรวมกว่า 110,520 ล้านบาท

และหากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดนั้น จะเห็นได้ว่า 2 กลุ่มสินทรัพย์หลักที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนนั้นก็คือ กองทุนรวมตราสารหนี้ภายในประเทศทั้งแบบระยะกลางถึงยาว (Mid/Long Term Bond)  และรวมไปถึงกลุ่มกองทุนรวมแบบผสมทั้งที่ลงทุนในไทยและต่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับความกังวลต่อความเสี่ยงที่ยังมีอยู่มากของผู้ลงทุนส่วนใหญ่ โดยกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว (Mid/Long Term Bond) นั้นได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนอย่างล้นหลามโดยมีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิน  125,723 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มตราสารหนี้แบบ Term Fund ที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign investment Bond Fix Term) และ กองทุนตราสารหนี้แบบระยะสั้น (Short Term Bond) ซึ่งมีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิน 76,179 และ 13,018 ล้านบาท ตามลำดับ

5 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุด (หน่วย:ล้านบาท)

TopInflow

*ที่มา: Morningstar Direct

          ส่วนกลุ่มกองทุนที่ผู้ลงทุนตัดสินใจขายออกมากที่สุดนั้นได้แก่ กองทุนกลุ่ม Global High Yield Bond ที่ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วมามีผลตอบแทนที่คาดหวังลดต่ำลงมาเรื่อยๆจนเหลือเพียงแค่ประมาณ 2% เท่านั้นทำให้กองทุนกลุ่มนี้ขาดความน่าสนใจไป ส่งผลให้ผู้ลงทุนตัดสินใจไม่ลงทุนต่อเมื่อกองทุนครบกำหนดอายุ โดยกลุ่มนี้มีเงินไหลออกสุทธิกว่า -66,556 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) ซึ่งปรกติแล้วจะเป็นแหล่งพักเงินของผู้ลงทุนที่สำคัญ แต่ต้นปีมานี้มีผู้ลงทุนขายออกสุทธิที่ -51,261 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการย้ายเงินไปลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวเนื่องจากมีผลตอบแทนที่จูงใจกว่านั้นเอง อีกกลุ่มที่มีเม็ดเงินไหลออกสุทธิค่อนข้างมากนั้นคือ กลุ่มกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) ที่มีเงินไหลออสุทธิประมาณ -8,426 ล้านาท ทั้งนี้เป็นผลมาจาก 2 ส่วนหลักคือ 1. ผู้ลงทุนขายทำกำไรระยะสั้นเนื่องจากดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูงและ 2. ผลมาจากการขายหน่วยลงทุนของกองทุนหุ้นระยะยาว LTF ที่ครบกำหนดนั่นเอง

5 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุด (หน่วย: ล้านบาท)

TopOutflow

*ที่มา: Morningstar Direct

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศหรือกองทุน FIF นั้น (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ยังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะไม่เท่ากับเมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมาก็ตามแต่ บลจ. ต่างๆก็ยังคงพยายามหาสินทรัพย์ทางการลงทุนใหม่ๆมาเสนอเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยตั้งแต่ต้นปีมานี้มีกองทุน FIF เปิดใหม่ทั้งสิ้น 13 กองทุนทำยอด IPO ได้กว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนแบบผสมทั่วโลก (Global Allocation) กองทุนกลุ่ม Global Infra&REITs และกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของกลุ่มประเทศใน ASEAN

ทั้งนี้ถ้ามองในภาพรวมต้องยอมรับว่ากลุ่มกองทุนต่างประเทศนั้นเริ่มมีการเติบโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งนี้เป็นผลมาจากความผันผวนของผลตอบแทนในตลาดต่างประเทศที่มีมากขึ้นเรื่อยๆส่งผลให้ผลตอบแทนกองทุน FIF ส่วนใหญ่ติดลบในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาประกอบกับการที่ บลจ. ต่างๆได้ออกกองทุน FIF ในกลุ่มดังกล่าวกันมามากแล้วตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

อีกทั้งยังเห็นได้ชัดจากการที่ไตรมาส 1 ปีนี้มีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิในกลุ่มนี้เพียง 3,105 ล้านบาทลดลงกว่า 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (24,508 ล้านบาท) อีกทั้งกลุ่มกองทุนที่ผู้ลงทุนนิยมลงทุนนั้นก็ยังเน้นไปยังกลุ่มที่มีความผันผวนต่ำลงมาและมีการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น อาทิเช่น กล่มหุ้นทั่วโลก (Global Equity) กลุ่มกองทุนผสมทั่วโลก (Global Allocation) และกลุ่มกองทุน (Global Infra&REITs)

 

5 อันดับกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุด (หน่วย:ล้านบาท) เปรียบเทียบไตรมาส 1 ปี 2559 และ 2558

FIF

*ที่มา: Morningstar Direct

ปัจจุบันมีกองทุนในกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ทั้งสิ้น 349 กองทุน มีมุลค่าทรัพย์สินสุทธิอยุ่ที่ 323,099 ล้านบาท โดยลดลงจากปลายปีที่แล้ว -3.41% ซึ่งเป็นผลมาจากผลตอบแทนที่ติดลบเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตมาอยู่ที่ 169,158 ล้านบาทแต่ทั้งนี้เป็นการเพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนของกองทุนไม่ได้เป็นการโตจากเงินลงทุนใหม่ ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นนักลงทุนบางส่วนกลับได้ทำการขายเพื่อทำกำไรระยะสั้นเนื่องจากเห็นผลตอบแทนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาในช่วงนี้ ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนหุ้นไทยกลุ่มนี้ประมาณ -4,710 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นยอดเงินไหลออกที่มากที่สุดนับแต่ ไตรมาส 1 ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งเงินลงทุนที่ไหลออกนั้นส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) และกองทุนรวมดัชนี (Index Fund)

          ไตรมาส 1 ปีนี้ Trigger fund ทำลายสถิติอีกแล้วแต่เป็นเรื่องตรงกันข้ามกับเมื่อปีที่แล้วนั้นก็คือ เป็นไตรมาสที่มีจำนวนกองทุน Trigger fund ออกน้อยที่สุดและยอด IPO ที่ทำได้น้อยที่สุด โดยปีนี้มีออกมาแล้วทั้งหมดเพียง 9กองทุนโดยทำยอด IPO ได้เพียง 1,000 ล้านบาทเท่านั้น เรียกได้ว่าผู้ลงทุนไม่ให้การตอบรับเลยก็ว่าได้ถึงขนาดที่ว่าบางกองทุนทำยอด IPO ได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ทั้งนี้คงเป็นเพราะผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังคงติดดอยอยู่กับ Trigger fund  ที่ออกมาในปีที่แล้วกันเป็นส่วนใหญ่ซึ่งยังคงมีผลตอบแทนติดลบเฉลี่ยกว่า -13% ในกรณีของกองที่เน้นลงทุนหุ้นต่างประเทศและกว่า -6% ในกรณีกองที่เน้นลงทุนหุ้นไทย

แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้เราก็ได้พบกับอีกหนึ่งพัฒนาการใหม่ของ Trigger fund โดยในปีนี้มีการเปิดตัวกองทุน Trigger fund ที่มีการจำกัดความเสี่ยงในช่วงขาลงและอีกกองหนึ่งคือ Trigger fund ที่มีนโยบายลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน Trigger fund ที่ยังไม่ถึงเป้าหมาย (กราฟ)

TriggerFund

*ที่มา: Morningstar Direct

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ความผันผวนของตลาดการลงทุนนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับโลกของการลงทุนและนี้คือสิ่งที่นักลงทุนต้องทำเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนและอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องปกติเลยนั้นก็คือ โอกาสที่สินทรัพย์ประเภทเดิมจะเป็น    ผู้ชนะ (ทำผลตอบแทนได้ดีเป็นที่หนึ่ง) ติดต่อกันหลายๆปีนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น

ผ่านไตรมาสแรกไป ต้องยอมรับว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยนั้นสวนทางกลับเมื่อปีที่ผ่ามมาโดยสิ้นเชิง โดยบรรดากลุ่มกองทุนต่างประเทศที่ทำผลตอบแทนได้ดีในปีที่แล้วนั้นกลับติดลบกันทั่วหน้า นำมาโดยกลุ่ม Healthcare ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบสูงสุดที่ -14.39% ตามมาด้วยกลุ่ม Japan Equity ที่เฉลี่ย -10.29% กลุ่มหุ้นจีน China Equity ที่เฉลี่ย -7.88% และกลุ่ม Europe Equity ที่ทำได้เฉลี่ย -6.36%

แต่กองทุนทองคำและกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) สามารถพลิกกลับมาทำผลตอบแทนได้ดีอย่างโดดเด่นในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ที่เฉลี่ย 13.58% และ 6.96% ตามลำดับ

ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้น กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว Mid/Long Term Bond ยังทำผลตอบแทนได้โดดเด่นที่เฉลี่ย 1.45% เช่นเดียวกับกลุ่มตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 5.28%

ขณะที่กลุ่มที่ยังคงสม่ำเสมอต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วนั้นมีอยุ่ 2 กลุ่มทั้งในแง่ดีสม่ำเสมอนั้นก็คือ กลุ่ม Property Indirect (เน้นลงทุนหุ้นอสังหาริมทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์) ที่ยังคงให้ผลตอบแทนโดดเด่นเฉลี่ยที่ 12.22% แต่กลุ่มที่แย่สม่ำเสมอนั้นคงหนีไม่พ้น กองทุนน้ำมันที่ยังคงได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันโลกที่ตกลงอย่างต่อเนื่องทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากถึง -14.16%

อย่างไรก็ตามการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายและความเสี่ยงโดยไม่วิ่งไล่ตามผลตอบแทน (chasing performance) นั้นยังคงเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุด

Return

*ที่มา: Morningstar Direct

          ปิดท้ายกันเช่นเคยที่กองทุน LTF และ RMF ซึ่งทั้ง 2 กองทุนยังคงเติบโตอย่างเนื่องโดยทำสถิติใหม่ในกองทุนทั้ง 2 ประเภทโดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดตลอดกาลที่ 290,755 ล้านบาท และ 187,035 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนการขายเงินลงทุนออกในช่วงต้นปีที่มักเกิดขึ้นประจำเนื่องจากผู้ลงทุนลงทุนครบตามหลักเกณฑ์แล้วนั้น ปีนี้ถือว่ามีไม่มากโดยในส่วนของ LTF มีเงินไหลออกสุทธิอยู่ที่ -7,052 ล้านบาท ขณะที่ RMF มีเงินไหลออกสุทธิอยุ่ที่  -949 ล้านบาท

ท้ายนี้สำหรับผู้ลงทุนใน LTF ที่กำลังจะลงทุนในปี 2559 นี้ อย่าลืมนะครับว่ามีการเปลี่ยนกฎระยะเวลาการถือครองจาก 5 ปีเป็น 7 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้วดังนั้นอย่าลืมคำนวณเรื่องของสภาพคล่องกันให้ดีๆก่อนตัดสินใจลงทุน

 

*ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ 02-126-8137

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst