บลจ. ถูกซื้อกิจการ ทำอย่างไรดี?

บลจ. ถูกซื้อกิจการ จะเกิดอะไรขึ้นกับกองทุนที่เรากำลังลงทุนอยู่ แล้วนักลงทุนควรทำอย่างไร?

Facebook Twitter LinkedIn

          ผ่านไปแล้ว 5 เดือนเต็มสำหรับการลงทุนประจำปี 2559 นี้ซึ่งเท่าที่ผมสังเกตดูบรรยากาศในการลงทุนยังคงดูไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควรซึ่งสวนทางกับภาวะตลาดหุ้นไทยที่ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีดัชนี SET Index บวกมาแล้ว 10.58% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษาคม 2559) ส่วนบรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมกองทุนรวมนั้นก็ยังถือว่าสามารถเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้หวือหวามากนักก็ตาม

และหากพูดถึงอุตสาหกรรมกองทุนรวม ผมเชื่อว่าผู้ลงทุนหลายท่านคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของบรรดาบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ต่างๆกันอย่างมากมายตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงล่าสุดที่มีข่าวออกมาว่า บลจ. แห่งหนึ่งกำลังจะถูกซื้อกิจการหรือควบรวมในเร็วๆนี้ด้วยเช่นกัน

คำถามที่ตามก็คือ ถ้าบลจ.เกิดการควบรวมหรือปิดกิจการขึ้นมา สถานะของกองทุนรวมที่ บลจ. นั้นบริหารอยู่จะเป็นอย่างไร แล้วเราในฐานะที่เป็นนักลงทุนลงทุนในกองทุนนั้นๆอยู่ควรปฎิบัติตัวอย่างไร

ก่อนอื่นเรามาเริ่มกันที่สถานะภาพของกองทุนรวมกันก่อน ทราบหรือไม่ครับว่า กองทุนรวมนั้นมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกออกมาจาก บลจ. ซึ่งนั้นหมายความว่า กองทุนรวมแต่ละกองทุนนั้นมีสถานะแยกขาดออกมาจาก บลจ. ดังนั้นผลการดำเนินงาน งบกำไรขาดทุน หรือบัชญีต่างๆนั้นก็แยกออกจากกันด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์อาทิเช่น บลจ. มีผลการดำเนินงานขาดทุน จนอาจจะต้องปิดตัวลงหรือมีการเข้าซื้อกิจการหรือควบรวมเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่ากองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารงานจะต้องถูกปิดตัวตามไปด้วย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น ในกรณีที่ บลจ. ถูกซื้อกิจการนั้น โดยปกติแล้วผู้ที่มาซื้อก็จะทำการรับเอากองทุนทั้งหมดที่ บลจ. นั้นๆบริหารอยู่ไปบริหารซึ่งก็อาจจะมีการดำเนินงานเปลี่ยนชื่อกองทุนและรายละเอียดของโครงการต่อไป แต่กองทุนยังคงมีสถานะที่ดำเนินการอยู่ต่อไปได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็ถือเป็นกรณีปกติที่เราเคยเห็นกันมา

แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้และได้เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ก็คือ ผู้ที่มาซื้อกิจการนั้นตัดสินใจไม่รับเอากองทุนไปบริหารต่อ ทำให้ บลจ. ที่บริหารกองทุนรวมนั้นๆต้องทำการดำเนินการขอมติผู้ถือหน่วยเพื่อที่จะทำการตัดสินใจว่าจะมีการย้ายกองทุนไปให้ บลจ. อื่นที่สนใจนำไปบริหารต่อ หรือ จะทำการปิดกองทุนลง

ซึ่งถ้ากองทุนไม่มีผู้สนใจมารับไปบริหารต่อ (ทั้งนี้ต้องขอความเห็นชอบจากผู้ถือหน่วยก่อน) จนทำให้ผู้ถือหน่วยเสียงข้างมากมติเห็นชอบให้ปิดกองทุนนั้นๆลงนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ถือหน่วยก็คือ ผู้ถือหน่วยสามารถขายหน่วยลงทุนออกก่อนวันที่กำหนดหรือถ้าไม่ ท่านจะต้องถูกบังคับขายในวันที่กองทุนปิดตัวลงซึ่งแน่นนอนว่ามีผลกระทบต่อผลกำไรและขาดทุนของท่านนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่า ไม่ว่าราคา NAV จะปิดที่เท่าไร ณ วันนั้น นั่นจะเป็นราคาหน่วยลงทุนที่ท่านได้รับจากการถูกบังคับขาย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งท่านอาจจะยังขาดทุนหรือกำไรอยู่ก็เป็นได้

แล้วนักลงทุนจะป้องกันความเสี่ยงตรงนี้อย่างไร ตรงจุดนี้เบื้องต้นนักลงทุนสามารถทำการวิเคราะห์และพิจารณาจากชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดการลงทุนหรืออาจจะมองไปถึงสถานะของบริษัทแม่ (Parent) ด้วยเลยก็ได้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในหลักการที่ทางนักวิเคราะห์กองทุนของ Morningstar ใช้เป็นเกณฑ์วิเคาระห์กองทุนรวม จากทั้งหมด 5 องค์ประกอบหลักได้แก่

  1. People = ผู้จัดการกองทุน
  2. Parent = บริษัทจัดการลงทุนและบริษัทแม่
  3. Performance = ผลการดำเนินงานทั้งในส่วนของผลตอบแทนและความเสี่ยง
  4. Price = ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ
  5. Process = หลักการ ปรัชญา และวิธีการในการลงทุน

และท้ายนี้สิ่งที่อยากให้ผู้ลงทุนศึกษาเพิ่มเติมนั้นก็คือ ข้อกำหนดในการปิดกองทุนต่างๆตามหลักเกณฑ์อื่นๆที่ได้กำหนดไว้ซึ่งมีอยู่หลากหลายสถานะการณ์ ดังนั้นข้อมูลตรงจุดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญสำหรับการลงทุนในกองทุนรวม

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst