สรุปภาพรวมกองทุนรวมครึ่งปีแรก 2559

กองทุนรวมไม่หวั่นต่อความผันผวนในตลาดหุ้นต่างประเทศเดินหน้าโตอย่างต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกโตแล้วกว่า 8.73%

Facebook Twitter LinkedIn

          กองทุนรวมไม่หวั่นต่อความผันผวนในตลาดหุ้นต่างประเทศเดินหน้าโตอย่างต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกโตแล้วกว่า 8.73% ส่งผลให้ยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4.42 ล้านล้านบาท

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

จากความกังวลและความผันผวนที่มีอยู่อย่างมากในตลาดการลงทุนทั่วโลก เป็นผลนักลงทุนไทยเริ่มหันมาลงทุนในกองทุนรวมกันมากขึ้นเนื่องจากเริ่มเห็นประโยขน์จากการลงทุนที่ได้กระจายความเสี่ยง ทำให้ผ่านไปเพียงครึ่งปีแรกอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยปี 2559 นี้มีอัตราการเติบโตสูงกว่าเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาทั้งปีที่ 8.73% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4.42 ล้านล้านบาท

และไม่เพียงแต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเท่านั้นที่โต ในแง่ของเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่ไหลเข้าอุตสาหกรรมก็สูงจะทะลุ 319,733 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิของเมื่อปี 2558 รวมทั้งปี เพียงแต่นักลงทุนยังคงเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและรวมถึงในกองทุนที่เน้นลงทุนแบบระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลถึงความผันผวนของเม็ดเงินไหลเข้าออกในอุตสาหกรรม โดยครึ่งปีแรก 2559 นี้ประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดนั้นนำมาโดยกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้งสิ้น ได้แก่ Mid/Long Term Bond, Global High Yield Bond Fix Term และ Foreign Investment Bond Fix Term โดยมีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิน 114,797 , 103,657 และ 49,025 ล้านบาท ตามลำดับ

10 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุด (หน่วย: ล้านบาท)

 TopFlow

*ที่มา: Morningstar Direct

อีกหนึ่งประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานี้เช่นเดียวกันนั้นก็คือ กลุ่มกองผสมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนผสมที่ลงทุนในต่างประเทศ Global Allocation ที่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนสุทธิเข้าอุตสาหกรรมได้สูงถึง 31,040 ล้านบาท

ในทางกลับกันจะสังเกตได้ว่ากลุ่ม Money Market  จากที่เคยเป็นแหล่งพักเงินหลักของนักลงทุนในช่วงที่ขาดความมั่นใจในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงนั้นกลับไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ทั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากอัตราผลตอบแทนที่ไม่เป็นที่จูงใจมากนักเท่าไรตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

ส่วนการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้นั้น ยังคงมีการเติบโตอย่างเนื่องต่อแต่ด้วยอัตราที่ลดลงหรือเริ่มชลอตัว ถึงแม้ว่าจะมีกองทุนเปิดใหม่กว่า 32 กองทุนในช่วงที่ผ่านมาแต่กลับสามารถทำยอด IPO ได้เพียง 13,302 ล้านบาทเท่านั้น และรวมไปถึงเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิของกองทุนในกลุ่มดังกล่าวนี้ก็ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่แล้วกว่า -66% โดยครึ่งปีแรกนี้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิเพียง 24,383 ล้านบาท (ครึ่งปีแรกปี 2558 อยู่ที่ 72,000 ล้านบาท)

ซึ่งเม็ดเงินที่ไหลเข้าสุทธิของกองทุนในกลุ่ม กองทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) นี้ไหลไปยังกลุ่ม Global Allocation ที่ในปีนี้ทาง บลจ มีการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชื่อว่า Global Income Fund มาขายและได้รับความนิยมจากนักลงทุนค่อนข้างสูง แต่เป็นที่น่าสังเกตในรายละเอียดของกองทุนทั้งหมดนั้นไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลซึ่งดูจะขัดกับชื่อของกองทุน

ขณะที่กองทุน Commodities Precious Metals (ทองคำ) เริ่มมีนักลงทุนนำเงินออกหลักจากที่ทำผลตอบแทนได้ดีในครึ่งปีแรกนี้ โดยมีเงินไหลออกกว่า 4,186 ล้านบาท

3อันดับกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ที่มีเงินไหลเข้าออกสุทธิมากที่สุด (หน่วย:ล้านบาท)

 TopFIFInOut

 

*ที่มา: Morningstar Direct

ซึ่งในกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) นี้ บลจ.กสิกรไทย ยังคงครองความเป็นเจ้าตลาดอยู่โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด 34% แต่ลดลงจากปี 2558 (38%) และจากที่เคยมีอยู่สูงถึง 47.83% ในปี 2557 โดยทีปัจจุบันมีเงินลงทุนรวมในกลุ่มนี้ 121,927 ล้านบาท อันดับที่ 2 บลจ. ไทยพาณิชย์ที่กระโดดจากอันดับที่ 5 เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยมีส่วนแบ่งที่ 11.18% สินทรัพย์สุทธิรวม 39,199 ล้านบาท ขณะที่  บลจ.กรุงศรี ตกลงมาอยู่ที่อันดับ 3 มีส่วนแบ่ง 9.96% มีเงินลงทุนประมาณ 34,917 ล้านบาท

 FIFMarketShare

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) นั้นมีเงินไหลออกสูงถึง -7,386 ล้านบาท (หุ้นขนาดใหญ่ Equity Large Cap -8,128 ล้านบาท หุ้นขนาดกลางและเล็ก Equity Small/Mid Cap 743 ล้านบาท)โดยเป็นผลมาจากนักลงทุนขายทำกำไรอันเนื่องมาจากผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในกลุ่มนี้ยังคงโตจากปีที่แล้ว 7.11% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 169,741 ล้านบาท โดยกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ลงทุนยังคงเป็นแชมป์เก่าหน้าเดิมกองทุน Krungsri Dividend Stock ที่มีเม็ดเงินไหลเข้า 2,555 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 2 ก็คือ TISCO Mid/Small Cap Equity กองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงที่สุดประจำปี 2558 นั้นเองที่ 416ล้านบาท และอันดับ 3 เป็นของกองทุน CIMB-Principal (FAM) EEF จาก บลจ. ซีไอเอ็มบี ที่ 214 ล้านบาท

         สำหรับกองทุนประเภท Trigger fund ครึ่งปีแรกนี้มี Trigger fund เปิดขายใหม่เพียง 13 กองทุนและทำยอด IPO รวมทั้งสิ้นได้ไม่ถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับช่วงเวลาที่เป็นที่ Trigger fund เป็นที่นิยม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยออกกันอย่างคึกโคม ตัวอย่างเช่นเมื่อครึ่งปีแรก 2558 มีออกกองทุน Trigger fund กว่า 68 กองทุน โดยทำยอด IPO ได้สูงกว่า 30,000 ล้านบาท   

หรือแท้จริงแล้วเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถขายกองทุน Trigger fund ได้เนื่องจากผลตอบแทนที่ยังไม่ถึงเป้าหมายเป็นผลทำให้ขาดความเชื่อมั่นและไม่มีเงินมาลงทุน โดยปัจจุบันยังมีกองทุน Trigger fund ทั้งสิ้นกว่า 100 กองทุนที่ยังทำผลตอบแทนไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินคงค้างกว่า 36,000 ล้านบาท

ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน Trigger fund ที่ยังไม่ถึงเป้าหมาย (กราฟ)

 Trigger

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ความผันผวนของตลาดการลงทุนทั่วโลกที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้วยังคงส่งผลต่อเนื่องมาถึงช่วงนี้ และรวมไปถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน และล่าสุดกับผลการลงประชามติออกจาก Eurozone ของ สหราชอาณาจักร นั้นส่งผลให้ผลตอบแทนกองทุนโดยเฉพาะกลุ่มหุ้นในต่างประเทศติดลบกันทั่วหน้า

ดังนั้นความโดดเด่นของผลตอบแทนในช่วงครึ่งปีแรกนี้จึงเป็นของ safe heaven asset ที่นักลงทุนไทยต่างรอคอยกันมานานนั้นก็คือ กลุ่มทองทุนทองคำ ที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึง  20.74% ตามมาด้วยกลุ่ม Property Indirect ที่ยังคงทำผลตอบแทนได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยครึ่งปีแรกนี้ทำได้เฉลี่ย 16.43% ขณะที่กลุ่มหุ้นไทยทั้งกลุ่ม Equity Large Cap และ Equity Small/Mid Cap ก็ไม่น้อยหน้าโดยสามารถทำได้เฉลี่ย 10% และ 9.20% ถึงแม้ว่าดัชนี SET Index จะโตกว่า 12.46% ก็ตาม

ในขณะที่กลุ่มดาวเด่นที่สามารถทำผลตอบแทนได้ดีเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมานั้นทั้ง กลุ่ม Japan Equity กลุ่ม Healthcare และกลุ่ม Europe Equity ในครึ่งปีแรกนี้ล้วนแต่ทำผลตอบแทนได้ติดลบทั้งสิ้นที่ -16.24%, -10.96% และ -8.36% ตามลำดับ

ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้นต่างทำผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีทั้งส่วนที่ลงทุนในและต่างประเทศ ยกเว้นแต่กลุ่ม Money Market ที่ผลตอบแทนดูจะน้อยลงไปมากโดยทำได้เฉลี่ยเพียง 0.55% ส่วนกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้ง Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ที่ 0.86% และ 1.65% ขณะที่กลุ่ม Emerging Market Bond นั้นโดดเด่นอย่างมากที่เฉลี่ยผลตอบแทน 8.36% แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน

ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันนั้นก็เริ่มดีขึ้นบ้างโดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผลตอบแทนสูงถึง 17.4% แต่อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมยังมีความผันผวนอยู่มาก

 CategoryReturn

 *ที่มา: Morningstar Direct

          ปิดท้ายกันเช่นเคยที่กองทุน LTF และ RMF ที่ในครึ่งปีแรกนี้ในภาพกว้างมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนทั้ง 2 ประเภทยังคงโตอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตจนใกล้ทะลุ 300,000 ล้านบาท แต่โตขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 5.86% ขณะที่ RMF ก็เช่นเดียวกันโตเพียงเล็กน้อยที่ 5.81% ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมาอยู่ที่ 189,621ล้านบาท

แต่หากมองในส่วนของเม็ดเงินสุทธิที่ไหลเข้าออกกองทุนทั้ง 2 ประเภทนั้นต้องบอกว่าน่าผิดหวังพอสมควร โดยนักลงทุนอาศัยจังหวะที่ผลตอบแทนหุ้นค่อนข้างดีทำการขายเงินลงทุนออกส่งผลให้กองทุน LTF นั้นมีเงินไหลออกสุทธิกว่า -10,623 ล้านบาท สูงสุดนับแต่ปี 2556 (นับเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก) ขณะที่ RMF นั้นก็เช่นเดียวกันมีเงินไหลออกกว่า -1,256 ล้านบาท สูงสุดตลอดกาล รวมทั้งครึ่งปีแรกนี้มีกองทุน RMF ออกใหม่เพียงแค่กองทุนเดียวเท่านั้นจึงขาดแรงกระตุ้นอีกแรงหนึ่ง

ดังนั้นเชื่อได้ว่าเม็ดเงินลงทุนในกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ยังคงจะไปกระจุกตัวกันในช่วงท้ายของปีอีกเช่นเคย แต่ประเด็นที่น่าติดตามคงหนีไม่พ้นในส่วนของกองทุน LTF ที่ได้มีการเปลี่ยนเกณฑ์ในการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์เป็นปีแรกจากที่ลงทุน 5 ปีเป็น 7 ปีปฎิทินซึ่งอาจส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนสุทธิทั้งปี 

เม็ดเงินไหลเข้าออก LTF และ RMF นับเฉพาะครึ่งปีแรก (หน่วย:ล้านบาท)

 LTFRMFFlow

 

*ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ 02-126-8137

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst