ยิ่งใหญ่ยิ่งดี จริงหรือไม่?

กองทุนขนาดใหญ่ดีจริงหรือไม่ แล้วกองทุนที่มีขนาดเล็กละ ใครกำลังงงๆกับเรื่องนี้ ลองตามมาดูทางนี้ครับ

Facebook Twitter LinkedIn

          คำพูดนี้ฟังดูเผินๆแล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะเห็นด้วย ตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่ก็คงจะชอบนั่งรถคันใหญ่มากกว่ารถคันเล็ก พักอาศัยในบ้านหลังใหญ่มากกว่าคอนโดห้องสตูดิโอเล็กๆ หรือแม้กระทั่งเวลาเราไปสั่งอาหารฟาสต์ฟู้ด เราก็มักจะสั่งชุดใหญ่ แต่ถามว่าแท้จริงแล้ว มันจำเป็นหรือไหมที่ว่า ยิ่งใหญ่แล้วมันจะยิ่งดีเสมอไป ดังเช่นเรื่องที่วันนี้ผมอยากจะเล่าให้ผู้ลงทุนฟังนั้นก็คือ เรื่องของขนาดของกองทุนรวม ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว ซึ่งบ้างก็ว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน หรือ บ้างก็ว่าดูดีมีความน่าเชื่อถือ

ทราบกันหรือไหมครับว่า กองทุนรวมเปิดทั่วไปในบ้านเรานี้ กองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงถึง 242,619.68 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559) ซึ่งนั้นก็คือ กองทุนเปิดเค เอ็ม พลัส ของ (K-MPLUS) บลจ. กสิกรไทย และมีอีก 11 กองทุนที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกินกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกองทุนประเภทตลาดเงินและกองทุนตราสารหนี้ ของ บลจ. ที่มีธนาคารเป็นบริษัทแม่ทั้งสิ้น ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้แปลกอะไรเพราะระยะหลังมานี้กองทุนเหล่านี้มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการลงทุนที่เข้ามาทดแทนการฝากเงินในธนาคารมากขึ้น

แต่ทั้งนี้จุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ในจำนวน 20 กองทุนที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทยนี้ มีถึง 5 กองทุนที่เป็นกองทุนหุ้นติดอันดับเข้ามาด้วยและทั้งหมดนี้ก็เป็นกองทุน LTF ด้วย ซึ่งขนาดของกองทุนนั้นจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุนนั้นๆหรือไม่อย่างไร ลองมาติดตามกันครับ

โดยทั่วไปแล้วนั้นการที่กองทุนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆนั้นย่อมต้องส่งผลถึงผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แถมส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปในทางลบมากกว่าด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น ตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้นชื่อดัง Fidelity Magellan ที่บริหารโดย Peter Lynch ครั้งหนึ่งก็เคยประสบกับปัญหานี้มาแล้ว (แต่ถ้าเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้หรือตลาดเงินนั้นมักจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบสักเท่าไรเนื่องมาจากตลาดตราสารหนี้นั้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่สามารถที่จะรองรับเม็ดเงินลงทุนได้มากกว่า) ซึ่งเมื่อกองทุนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆอาจจะส่งผลต่อความยากลำบากในการบริหารจัดการให้คงอยู่ในนโยบายการลงทุนเดิมที่ตนเองถนัด (style consistency) จนอาจจะต้องเปลี่ยนสไตล์ในการลงทุน หรืออาจจะต้องมีการลงทุนในหุ้นตัวอื่นๆเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดการกระจายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก Small Cap จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเพราะการที่กองทุนมีเงินลงทุนจำนวนมากจะไปซื้อหุ้นตัวเล็กๆก็อาจจะประสบปัญหาในเรื่องของสภาพคล่องก็เป็นได้ เพราะโดยปกติแล้วหุ้นขนาดเล็ก Small Cap นั้นจะมีมูลค่าตลาดรวมเพียงแค่ 10% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดเท่านั้น

แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า กองทุนที่มีขนาดเล็กนั้นจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่ากองทุนที่มีขนาดใหญ่

ผลตอบแทน 5 อันดับกองทุนหุ้นกลุ่ม (Equity Large Cap) ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิใหญ่และเล็กที่สุด

BigSmall

และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วกองทุนจะมีวิธีการจัดการเรื่องการเติบโตของขนาดกองทุนอย่างไรได้บ้าง สิ่งที่กองทุนในต่างประเทศมักจะทำกันบ่อยก็คือ ปิดหรืองดรับเงินลงทุนจากนักลงทุนรายใหม่ (Closed to new investors) แต่ยังคงเปิดให้นักลงทุนเดิมลงทุนเพิ่มเติมได้ ซึ่งตรงจุดนี้อาจจะช่วยชะลอเม็ดเงินลงทุนได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาสไตล์และนโยบายการลงทุนแบบเดิมเอาไว้

สรุปคือ “ยิ่งใหญ่ยิ่งดี นั้นไม่เสมอไปนะครับ” ดังนั้นแล้วในฐานะนักลงทุนเราควรมองเรื่องขนาดของกองทุนนี้อย่างไร ในมุมหนึ่งเรื่องความมั่นคงก็คงจะมีส่วนเพราะถ้ากองทุนมีขนาดเล็กเกินไปก็มีความเสี่ยงอาจจะถูกปิดตัวลงได้ง่าย แต่สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ การที่กองทุนนั้นมีขนาดใหญ่เรื่อยๆแล้วนั้น มันจะส่งผลต่อสไตล์และนโยบายของกองทุนหรือไม่อย่างไร และถ้าเปลี่ยนกองทุนนั้นจะยังเหมาะกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราอยู่หรือไม่ เราคงไม่อยากจะซื้อกองทุนหุ้นขนาดเล็กแต่สุดท้ายกองทุนไปลงทุนในหุ้นขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ถูกไหมครับ

และนอกเหนือไปจากนี้ เรื่องของผลตอบแทน ความเสี่ยง ผู้จัดการกองทุน พอร์ตการลงทุน และค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรดูประกอบการเลือกลงทุนในกองทุนรวมทุกครั้งไป ซึ่งผมจะมาเล่าให้ฟังกันต่อในโอกาสต่อๆครับ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst