กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย

อุตสาหกรรมกองทุนไทยรวมตัวกันส่งเสริมการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีธรรมภิบาลสูงผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทยของทั้ง 11 บลจ. 

Facebook Twitter LinkedIn

ธรรมาภิบาล หรือ Corporate Governance ถือเป็นอีกหนึ่งคำศัพท์ที่เชื่อว่าประชาชนทั่วไปคงได้ยินกันอยู่เป็นประจำในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็หลายท่านๆฟังดูแล้วก็อาจจะรู้สึกว่ามันไกลตัวเราเหลือเกิน ฟังดูเหมือนเป็นเพียงระดับนโยบายที่ทั้งทางภาครัฐและเอกชนพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้นแต่จับต้องได้ยาก

แต่นับจากวันนี้เรื่องของธรรมภิบาลจะไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวเราอีกต่อไปโดยเฉพาะในหมู่ของนักลงทุนเนื่องจากว่าประเทศไทยเรากำลังจะมีการจัดตั้ง กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย โดยความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น สำนักงาน ก.ล.ต ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และที่ขาดไม่ได้เลยคือ บลจ. ทั้ง 11 แห่งนั้นก็คือ บลจ.กรุงไทย บลจ.กรุงศรี บลจ.ทหารไทย บลจ.ทาลิส บลจ.ทิสโก้ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.บัวหลวง บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ. กสิกรไทย บลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.บางกอกแคปปิตอล ที่ร่วมกันลงนามจัดตั้งกองทุนธรรมาภิบาลไทยขึ้นโดยจะเริ่มทยอยออกขายตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป

สำหรับท่านนักลงทุนที่พลาดติดตามข่าวนี้ไปนั้น สรุปสาระสำคัญคร่าวๆของกองทุนดังกล่าวนี้ก็คือ

  1. ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการจัดอันดับ CG Rating จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในระดับ 4 ดาวขึ้นไป
  2. บริษัทดังกล่าวต้องเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (CAC)
  3. กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทยที่จัดตั้งทุกกองทุนต้องรายได้ 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนไปบริจาคให้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมธรรมมาภิบาลไทย

จริงๆแล้วแนวคิดเรื่องการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักธรรมาภิบาลที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียวเพราะในช่วงที่ผ่านมาได้มีหลายกองทุนนำร่องออกกองทุนที่มีหลักคิดดังกล่าวออมาแล้ว อาทิเช่น กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว  (CG-LTF) หรือ กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล (BSIRICG) เป็นต้น เพียงแต่ในครั้งนี้ความต่างกันก็คือในเรื่องของมาตราฐานในการวัดและประเมินบริษัทที่เข้าเกณฑ์ที่กองทุนสามารถลงทุนได้นั้นได้ถูกยกระดับให้เป็นมาตราฐานเดียวกันของทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้รายชื่อบริษัทมาทั้งสิ้น 123 บริษัทและนั้นก็ถือเป็น Stock Universe ที่แต่ละ บลจ. จะนำไปใช้คัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตนั้นเอง ทั้งนี้จะมีการทบทวน Stock universe ใหม่ในทุกๆ 1 ปี

คำถามต่อมาก็คือ กองทุนดังกล่าวนี้แตกต่างอะไรกับกองทุนหุ้นธรรมดาที่มีอยู่ในตลาดและนักลงทุนควรจะคาดหวังอะไรจากการลงทุนในกองทุนประเภทนี้?

อย่างแรกเลยก็ต้องบอกเลยว่าในเรื่องของนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนที่เน้นในเรื่องของธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และการมี Stock Universe ในการลงทุนที่ชัดเจนทำให้นักลงทุนพอจะทราบถึงหน้าตาบริษัทได้อย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากกองทุนหุ้นแบบปกติที่ส่วนใหญ่กองทุนนิยมเขียนนโยบายการลงทุนแบบกว้างๆไว้ก่อน

ส่วนต่อมาที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์มากสำหรับการลงทุนในกองทุนธรรมาภิบาลนั้นก็คือ ความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น อาทิเช่น การโกง/รับสินบนของผู้บริหาร หรือ การเอารัดเอาเปรียบผู้ถือหุ้น เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ควรจะลดน้อยลงหรือไม่ควรจะมีเลยด้วยซ้ำไปเนื่องจากบริษัทเหล่านี้ได้รับการการันตีจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ ซึ่งตรงนี้ก็จะส่งผลกระทบมายังผลตอบแทนที่กองทุนจะสามารถทำได้ด้วยในระยะยาวในทางที่ดีด้วยเช่นกัน

แต่ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ผมอยากตั้งไว้ตรงนี้นั้นก็คือ เรื่องของการนำเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนไปบริจาคประมาณ 40% นั้น ตรงส่วนนี้ต้องมีการชี้แจงให้ชัดและดำเนินการอย่างโปร่งใส และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากองทุนธรรมาภิบาลเหล่านี้จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการที่สูงกว่ากองทุนหุ้นแบบปกติทั่วไปหรือไม่ เพราะถ้าหากว่ามีการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงกว่ากองทุนแบบปกติทั่วไปแล้วนั้น ค่าธรรมเนียมตรงจุดนี้ก็จะตกเป็นภาระของทั้งนักลงทุนที่ลงทุนกองทุนดังกล่าวและรวมถึงผู้จัดการกองทุนที่จะต้องพยายามทำผลตอบแทนให้สูงมากขึ้นเพื่อที่จะมาครอบคลุมในส่วนของค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามก็จุดนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคส่วนพยายามร่วมมือทำเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา สนับสนุนผู้ที่ทำความดีในสังคมและไม่สนับสนุนคนทำไม่ดี ท้ายนี้ก็หวังว่านักลงทุนจะให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวซึ่งผมเชื่อว่ามันจะส่งผลโดยทางอ้อมให้ทุกบริษัทเกิดการแข่งขันกันทำความดี ไม่นอกลู่นอกทาง ซึ่งสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆก็คือ ประชาชนและประเทศไทยนั้นเอง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst