กองทุนขาดทุนสูงสุดเท่าไร

ภาพของผลตอบแทนสูงๆที่บรรดากองทุนพยายามนำเสนอขายนักลงทุนอยู่นั้น ใครจะรู้บ้างว่าระหว่างทางนั้นมีความเสี่ยงอยู่มากเช่นเดียวกัน

Facebook Twitter LinkedIn

          นับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมต่อเนื่องมาจนถึงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวขึ้นแล้วกว่า 5.36% และก็ดูเหมือนว่าบรรยากาศการลงทุนก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง กองทุนรวมหุ้นไทยขนาดใหญ่ (ไม่รวม LTF และ RMF) ก็เช่นเดียวกันไม่ยอมน้อยหน้าเพราะเห็นเงียบๆแบบนี้ปีนี้ก็ยังทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีอย่างต่อเนื่องที่เฉลี่ย 9.95% และมากไปกว่านั้นหากดูผลตอบแทนย้อนหลังทั้งแบบ 3-, 5-, 10-, 15 ปีก็จะเห็นว่ากองทุนรวมหุ้นไทยนั้นสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ค่อนข้างดีในทุกๆช่วงเวลา

และนั้นเองก็อาจจะทำให้ผู้ลงทุนบางส่วนหลงระเริงไปกับผลตอบแทนที่สวยหรูจนลืมนึกถึงความเสี่ยงที่ตามมาควบคู่กับผลตอบแทนนั้นๆ แต่ไม่เป็นไรครับวันนี้ด้วยมาตราฐานการเปิดเผยข้อมูลใหม่ตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต ที่บังคับให้กองทุนรวมเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะค่าความเสี่ยงที่เรียกว่า “Maximum Drawdown” หรือแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆว่า “ผลขาดทุนสูงสุด” ซึ่งมีความหมายตรงตัวก็คือ ค่านี้จะบอกถึงผลขาดทุนสูงสุดที่เกิดขึ้นของกองทุนนั้นๆตามละช่วงเวลาที่คำนวณ โดยที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต กำหนดให้เปิดเผยค่า “Maximum Drawdown” นี้ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปและมีการกำหนดระยะเวลาการคำนวณไว้ที่ 5 ปี

           แล้วค่า “Maximum Drawdown” ที่ว่านี่มีวิธีการคำนวณอย่างไร?

“Maximum Drawdown” คำนวณโดยการเอาผลขาดทุนจากค่าสูงสุด (Peak Value) ของพอร์ตการลงทุนในช่วงเวลานั้นๆนับไปจนถึงจุดต่ำสุด (Valley Value) ของพอร์ตการลงทุน จากนั้นนำไปหารกับค่า Peak Value อีกครั้งก็จะได้ค่า Maximum Drawdown เป็นเปอร์เซนต์

          Maximum Drawdown% = (Valley Value – Peak Value) ÷ Peak Value

Max

ที่มารูปภาพ: www.mutualfundobserver.com

 และเพื่อให้ท่านนักลงทุนเข้าใจง่ายขึ้น ผมขอยกตัวอย่างตามนี้ครับ สมมติว่า พอร์ตการลงทุนมีมูลค่าเริ่มต้นที่ 1,000,000 บาท เวลาผ่านไปมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1,200,000 บาท จากนั้นก็ตกลงมาเหลือ 800,000 บาทจากนั้นก็ขึ้นไปเป็น 1,100,000 บาท จากนั้นก็ตกลงมาอีกเหลือ 700,000 บาท และก็กลับขึ้นไปอีกที่ 1,250,000 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 5ปี

ดังนั้นค่า Maximum Drawdown ของพอร์ตการลงทุนนี้ก็จะเท่ากับ (700,000 - 1,200,000) / 1,200,000 =            -41.67% ซึ่งก็หมายความว่า โอกาสในการขาดทุนสูงที่สุดจากพอร์ตการลงทุนนี้คือ -41.67% ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่เข้าลงทุนในจุด Peak Value และขายออกในจุด Valley Value นั้นเอง

ในส่วนของวิธีการนำไปใช้นั้นก็ต้องบอกว่า ถ้าจะให้ดีค่าดังกล่าวนี้ควรนำไปเปรียบเทียบกับทั้งดัชนีชี้วัด (Benchmark) ของกองทุนนั้นๆและรวมไปถึงนำไปเปรียบเทียบกับกับกองทุนในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งข้อมูลตรงส่วนของการเปรียบเทียบนั้นนักลงทุนสามารถติดตามไปด้ทาง www.morningstarthailand.com ซึ่งเราจะนำเสนอข้อมูลดังกล่าวในทุกๆเดือน โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนหุ้นไทย กองทุน LTF และ กองทุน RMF

ท้ายนี้ผมมีความเห็นว่า ค่าความเสี่ยงดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการลงทุนในกองทุนของผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ผู้ลงทุนเห็นอีกแง่มุมหนึ่งของการลงทุน ซึ่งนั้นก็คือ ความเสี่ยง หรือ ผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน แตกต่างจากแต่ก่อนที่ค่าความเสี่ยงนั้นถูกเปิดเผยโดยผ่านค่าสถิติที่เรียกว่า ส่วนเบี่ยงเบนมาตราฐาน (Standard Deviation) เพียงอย่างเดียวซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นค่าสถิติที่เข้าใจยากอยู่พอสมควร

ทั้งนี้เรื่องการปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลตรงจุดนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นความตั้งใจดีของทาง สำนักงาน ก.ล.ต ที่พยายามจะช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลที่มากขึ้นและพยายามทำให้มาตราฐานการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมในบ้านเรานั้นมีมาตราฐานที่สูงมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายนี้ก็ได้แต่หวังว่านักลงทุนจะนำข้อมูลดังกล่าวนี้ไปใช่เพื่อประกอบการตัดสินใจการลงทุนของท่านต่อไป

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst