Awards Winner – LTF Equity

Morningstar Awards 2018 กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund) ได้แก่ กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลไลฟ์หุ้นระยะยาว มาฟังบทสัมภาษณ์จากทีมผู้จัดการกองทุนกันเลยครับ

Morningstar 20/03/2561
Facebook Twitter LinkedIn

 

Logo 2018

ครั้งแรกสำหรับกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลไลฟ์หุ้นระยะยาว โดยสามารถรักษาความโดดเด่นในเรื่องของการทำผลตอบแทนให้อยู่ในระดับสูง โดยมีผลตอบแทน 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 9.46% ต่อปี และที่สำคัญคือการรักษามาตราฐานในเรื่องของความเสี่ยงให้อยู่ในกรอบที่ไม่สูงเกินไป โดยทีมผู้จัดการกองทุนมีจุดเด่นในเรื่องของการคัดเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีศักยภาพการเติบโตสูง เน้นการเลือกหุ้นรายตัวแบบ Bottom-up  จัดพอร์ตโดยไม่ยึดติดกับดัชนีอ้างอิง ทำให้พอร์ตมี Active Share สูง รวมถึงมีวินัยในการลงทุน ถือหุ้นอย่างอดทนและเน้นการลงทุนระยะยาว

ในวันนี้เราจะมารู้จัก กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลไลฟ์หุ้นระยะยาว กันให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์จากทีมผู้จัดการกองทุน บลจ. ซีไอเอ็มบี

คำถาม: โปรดระบุไฮไลท์สำคัญในการปรับพอร์ตการลงทุนตลอดทั้งปี 2017 สินทรัพย์ตัวใดคือปัจจัยที่สำคัญที่ท่านคิดว่าเป็นผลให้กองทุนของท่านประสบความสำเร็จสร้างผลตอบแทนได้ดี

คำตอบ: ในปี 2017 กองทุน CIMB-Principal Life LTF ทำผลตอบแทนได้ 24.1% สูงกว่าดัชนีอ้างอิง (SET TRI) ที่ได้ 17.4% ซึ่งกองทุนใช้โมเดล Core Portfolio โดยผลตอบแทนส่วนเพิ่มหรือ Alpha เกือบทั้งหมดมาจากการเลือกหุ้นรายตัวแบบ Bottom-up Stock Selection เรียงลำดับหุ้นในพอร์ตลงทุนตามการให้น้ำหนักหุ้นสนใจลงทุนจากมากไปน้อย และเป็นการจัดพอร์ตโดยไม่ยึดติดกับดัชนีอ้างอิง (Benchmark Agnostic) ทำให้พอร์ตลงทุนมีสัดส่วนหุ้นที่แตกต่างจากดัชนีมาก โดยมี Active Share กว่า 75% มีสัดส่วนหุ้นขนาดกลางที่เติบโตดีมากกว่าดัชนี ทั้งนี้การเน้นถือลงทุนยาวทำให้มี Turnover เพียง 1.7 เท่า ซึ่งเป็นกลยุทธ์การบริหารจัดการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมในระยะยาว

คำถาม: มุมมองตลาดในปี 2018 ท่านมีความคิดเห็นว่าอย่างไร ตลาดไหนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ท่านคิดว่าปัจจัยใดที่จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด รวมถึงท่านมีวิธีการลดความเสี่ยงอย่างไร

คำตอบ: บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เชื่อว่าในปี 2018 ตลาดหุ้นโดยรวมยังให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า แต่เนื่องจากระดับดัชนีที่ปรับขึ้นมาสูงจนทำ New High ทำให้ Valuation โดยรวมค่อนข้างแพง จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นในปี 2018 จะมีโอกาสผันผวนเป็นระยะ ซึ่งได้เห็นความผันผวนแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ทีมจัดการลงทุนได้วิเคราะห์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยเน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มบริโภคในประเทศ ท่องเที่ยว และสาธารณูปโภค หลายบริษัทที่เป็นหุ้นขนาดกลางที่มีกำไรเติบโตดี และระดับ Valuation ไม่แพงมากเกินไป ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับการลงทุนในปี 2018

คำถาม: โปรดระบุความเสี่ยงสำคัญที่จะมากระทบต่อตลาดการเงิน เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น   ท่านคิดว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างไร

คำตอบ: นอกจาก Valuation ที่ค่อนข้างแพง ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญความเสี่ยงอีกหลายประการ อาทิ

  • ความผันผวนของราคาน้ำมัน อันเกิดจากการเร่งเพิ่มการผลิตของ Shale Oil ในสหรัฐฯ ทำให้เพิ่มอุปทานและกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีน้ำหนักกลุ่มพลังงานมาก ความผันผวนของราคาน้ำมันจะส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนได้มากเช่นกัน
  • ความเคลื่อนไหวของเม็ดเงินจาก ETF และการใช้ Algorithmic Trading ซึ่งล้วนมีพฤติกรรมเข้าเร็ว-ออกเร็ว และเพิ่ม Momentum ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น เช่น หากนักลงทุนตั้งค่า cut loss ไว้ล่วงหน้า เมื่อราคาหุ้นลง จะมีแรงขายจากการตัด Cut Loss มาซ้ำเติม ทำให้ราคามีโอกาสปรับลงไปได้อีก

ดังนั้น ทาง บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จึงมองปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

คำถาม: บลจ.ของท่านมีการจัดทีมการลงทุนอย่างไร ปีที่ผ่านมาบลจ.ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทีมบ้างหรือไม่ บลจ.มีแผนที่จะขยายหรือเพิ่มทีมในอนาคตอันใกล้หรือไม่

คำตอบ: บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มีการบริหารจัดการลงทุนแบบ Team Based หมายถึง ผู้จัดการกองทุนทุกคนมีหน้าที่ 2 อย่าง คือ 1. เป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Analyst) ที่ต้องออกไปเยี่ยมบริษัทจดทะเบียนหรือการทำ Company Visit และทำ Primary Research ครอบคลุมหุ้นคนละ 15-20 บริษัท และ 2. ตัดสินใจซื้อ-ขายหุ้นและบริหารพอร์ตที่ได้รับมอบหมาย โดยทุกวันจันทร์จะมีการประชุมทีมหุ้น โดยมี CIO (Chief of Investment Officer) ร่วมด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดของข้อมูลหุ้นที่แต่ผู้จัดการลงทุนแต่ละคนไป Visit มา แล้วตัดสินใจร่วมกันในการเลือกและกำหนดน้ำหนักของหุ้นใน Universeในปี 2017  ทั้งนี้ คุณวศิน ปริธัญ, CFA ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้าทีมการลงทุนหุ้น (ครอบคลุมหุ้นไทยและเวียดนาม) ซึ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ผลงานได้พิสูจน์ว่าสามารถทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยต้นปี 2018 ทีมจัดการลงทุนหุ้นมีสมาชิกเพิ่มเป็น 5 คน โดยสมาชิกใหม่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนชาวเวียดนาม เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในหุ้นเวียดนาม

คำถาม: โปรดระบุปัจจัยที่ท่านคิดว่าทีมการลงทุน หรือกระบวนการใด ที่บลจ.ของท่านต้องการพัฒนาเป็นพิเศษ

คำตอบ: สิ่งที่ทีมจัดการลงทุนทำได้ดีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คือการยึดมั่นในปรัชญาการเลือกหุ้นแบบ Bottom-up Stock Selection อย่างเคร่งครัด ซึ่งผลตอบแทนที่ทำได้ในระยะยาวก็พิสูจน์ว่าเรามาถูกทาง แต่สิ่งที่ทีมงานจะต้องเผชิญความท้าทายอยู่ตลอดเวลา และคาดว่าจะยิ่งมากขึ้นในอนาคต คือความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้นที่หลายครั้งเกิดจากปัจจัยภายนอกหรือจากพฤติกรรมแบบ Greed and Fear ของนักลงทุนในตลาด ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนอาจจะติดลบหรือแพ้ดัชนีอ้างอิงได้ในระยะสั้น ผู้จัดการกองทุนจึงต้องฝึกใจให้นิ่งมีสมาธิ โดยเน้นความสำคัญของหลักการปรัชญาการลงทุนหลัก คือ คือการทำ Company Visit และ Primary Research ไม่เปลี่ยนแปลงไปกับภาวะตลาดระยะสั้น แต่มุ่งไปที่การสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับกองทุนในระยะยาว

 

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar