Awards Winner - RMF Fixed Income

Morningstar Awards 2018 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประเภทตราสารแห่งหนี้ (Retirement Mutual Fund – Fixed Income) ได้แก่ กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ มาฟังบทสัมภาษณ์จากทีมผู้จัดการกองทุนกันเลยครับ

Morningstar 20/03/2561
Facebook Twitter LinkedIn

 Logo 2018

นับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันของกองทุนธนชาตตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (T-NFRMF) ที่สามารถคว้ารางวัล Morningstar Awards กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประเภทตราสารแห่งหนี้ (Retirement Mutual Fund – Fixed Income) มีความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนที่ดีโดยมีผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.09% ต่อปีในการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น นั้นถือเป็นความสำเร็จโดดเด่น ทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์และสไตล์การบริหารแบบ Active คัดเลือกลงทุนในตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดี รวมถึงมีการจับจังหวะซื้อ-ขายพันธบัตรที่แม่นยำ นั้นคือปัจจัยหลักที่ทำให้กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพประสบความสำเร็จ

ในวันนี้เราจะมารู้จัก กองทุนเปิดธนชาติตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพกัน ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์จากทีมผู้จัดการกองทุน บลจ. ธนชาต

คำถาม: โปรดระบุไฮไลท์สำคัญในการปรับพอร์ตการลงทุนตลอดทั้งปี 2017 สินทรัพย์ตัวใดคือปัจจัยที่สำคัญที่ท่านคิดว่าเป็นผลให้กองทุนของท่านประสบความสำเร็จสร้างผลตอบแทนได้ดี

คำตอบ: ปี 2017  เป็นปีที่นักลงทุนกังวลต่อทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ การลดขนาดงบดุลของ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แต่อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ของไทยกลับแกว่งตัวในทิศทางขาลงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องมาจากสภาพคล่องในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเกินดุลระหว่างประเทศของไทย และการที่เงิน ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ผลักดันให้มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทย ทำให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของไทย (LB26DA) อยู่สูงสุดที่ 2.84% ในช่วงต้นปี และปรับตัวลงมาต่ำสุดที่ 2.24% ในช่วงไตรมาส 3 จนมาปิดสิ้นปีที่ 2.36%

ทั้งนี้ ความสำเร็จของกองทุน T-NFRMF ในปี 2017 และในหลายปีก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นเนื่องจากการผสมผสานกลยุทธ์การลงทุน 3 ส่วนเข้าด้วยกัน คือ

  • การใช้กลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรุก (Active Management) ด้วยการติดตามแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด, การประเมินโอกาสการลงทุนอย่างรัดกุม และมีการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน (Rebalance Portfolio) ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กองทุนปรับเพิ่มอายุของตราสารขึ้นในช่วงต้นปี และทยอยปรับลดลงในช่วงปลายปี
  • การเลือกลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนคุณภาพดี มีความมั่นคง เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจาก Credit Spread โดยตลอดมากองทุนเน้นคุณภาพของตราสารหนี้ที่ลงทุนเป็นสำคัญ
  • การจับจังหวะซื้อขายทำกำไร (Trading) ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่เป็นตราสารที่มีสภาพคล่องสูงในตลาดรอง เพิ่มสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับกองทุน

การใช้กลยุทธ์ทั้ง 3 อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ทำให้กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ โดยที่ไม่ได้สร้างภาระความเสี่ยงให้กับกองทุนมากเกินไป ทำให้อัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk Adjusted Return) ของกองทุน T-NFRMF อยู่ในเกณฑ์ดีที่ดีมากจนทำให้สามารถได้รับรางวัลจาก Morningstar มาหลายปีติดต่อกัน

คำถาม: มุมมองตลาดในปี 2018 ท่านมีความคิดเห็นว่าอย่างไร ตลาดไหนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ท่านคิดว่าปัจจัยใดที่จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด รวมถึงท่านมีวิธีการลดความเสี่ยงอย่างไร

คำตอบ: บลจ. ธนชาต เชื่อว่าปี 2018 จะเป็นปีที่ท้าท้ายสำหรับการบริหารการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯประมาณ 3-4 ครั้งในปีนี้ จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการลดการซื้อตราสารหนี้ตามแผนการลดขนาดงบดุลของ Fed และการลดขนาดมาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ขณะที่แรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงการเร่งตัวขึ้น ส่งผลต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อ ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก ทำให้อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 

บลจ. ธนชาต  ประเมินโอกาสในการลงทุนและความเสี่ยงในปีนี้ ดังนี้

  • แม้ว่าอัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเพียงไม่ถึง 2 เดือนแรกของปีนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปีสหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นไปถึง 2.25% เพิ่มขึ้น 0.37% จากสิ้นปีก่อน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ขึ้นไปที่ 2.90% ปรับเพิ่มขึ้น 0.50% จากภาพดังกล่าวจะเห็นว่าตลาดการเงินต่างประเทศมีแรงกดดันต่อตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากสภาพคล่องในระบบของไทยยังอยู่ในระดับสูง และการที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มเร่งตัวขึ้น ทำให้ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ตลาดตราสารหนี้ไทยจึงผันผวนน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องลดอายุของตราสารที่ลงทุนลงอย่างรวดเร็ว แต่ผู้จัดการกองทุนวางแผนว่าจะทยอยปรับลดอายุของตราสารลงในช่วงนี้ ขณะที่ยังคงใช้กลยุทธ์ในการซื้อขายในช่วงที่ตลาดเกิดความผันผวน โดยการติดตามข้อมูลและความเคลื่อนไหวของปัจจัยต่างๆ ให้ทันท่วงที เพื่อให้สามารถจับจังหวะการลงทุนได้อย่างถูกต้อง
  • การที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการเร่งตัวขึ้น ทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนค่อนข้างต่ำ ผู้จัดการกองทุนจึงยังให้ความสำคัญกับการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนคุณภาพดี โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีเครดิต A- ขึ้นไป
  • สำหรับปีนี้ บลจ. ธนชาต มีมุมมองเชิงระมัดระวังมากขึ้นต่อการลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่อตลาดเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง และมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า ดังนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดจึงมีแนวโน้มที่จะผันผวนสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงหลังของปี ผู้จัดการกองทุนจึงเตรียมการที่จะค่อยๆ ลดอายุของตราสารลงในปีนี้ และจำกัดการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวเพื่อควบคุมความเสี่ยงของกองทุน พร้อมทั้งเตรียมสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อรับกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงและภาวะความผันผวนของตลาด

คำถาม: โปรดระบุความเสี่ยงสำคัญที่จะมากระทบต่อตลาดการเงิน เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น   ท่านคิดว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างไร

คำตอบ: สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการลงทุนในปี 2018 นี้ บลจ. ธนชาต เห็นว่ามี 4 ปัจจัยหลักที่ต้องติดตาม คือ

  • ความถี่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ
  • ทิศทางอัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ
  • การตัดสินใจยุติการใช้มาตรการ QE  ของยุโรปในช่วงหลังของปีนี้
  • ความเสี่ยงของธุรกิจขนาดใหญ่และสถาบันการเงินในประเทศจีน

ทิศทางของปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อตลาดการเงินการลงทุนทั้งในด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับว่าจะดีกว่าหรือแย่กว่าที่ตลาดคาดหวัง โดย บลจ. ธนชาต คาดการณ์ว่าความผันผวนจะค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากราคาสินทรัพย์ทางการเงินปัจจุบันไม่เพียงเฉพาะตราสารหนี้เท่านั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จึงมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่เข้ามากระทบมาก ดังนั้นการบริหารการลงทุนในปีนี้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เน้นการควบคุมความเสี่ยง มากกว่าการสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าตลาด

คำถาม: บลจ.ของท่านมีการจัดทีมการลงทุนอย่างไร ปีที่ผ่านมาบลจ.ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทีมบ้างหรือไม่ บลจ.มีแผนที่จะขยายหรือเพิ่มทีมในอนาคตอันใกล้หรือไม่

คำตอบ: บลจ. ธนชาต จัดโครงสร้างการบริหารการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ โดยมอบหมายประเภทกองทุนให้ตรงกับความชำนาญของผู้จัดการกองทุนแต่ละท่าน และเน้นที่ความต่อเนื่องในการบริหารกองทุน ไม่มุ่งเน้นผลตอบแทนระยะสั้นๆ ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการทำงาน มีการประชุมเพื่อประเมินปัจจัยการลงทุนและทิศทางตลาด แลกเปลี่ยนแนวความคิด เพื่อกำหนดกลยุทธ์และสรุปออกมาเป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน มีการประชุมเพื่อติดตามและทบทวนความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ทั้งที่ บลจ. ลงทุนอยู่ หรืออยู่ใน Universe โดยพิจารณาสภาวะการณ์ในการทำธุรกิจ กระแสเงินสดของบริษัท ความแข็งแกร่งของงบการเงิน แผนการลงทุน วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร การมี Corporate Governance (CG) ฯลฯ ทำให้การบริหารกองทุนมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และควบคุมความเสี่ยงได้ ทำให้ บลจ.ธนชาต ประสบความสำเร็จในการบริหารกองทุนจนได้รับรางวัลตราสารหนี้หลายรางวัลตลอดหลายปีที่ผ่านมาบลจ.ธนชาต เน้นทำงานในระบบทีม (Teamwork) มากกว่าเฟ้นหาผู้จัดการกองทุนที่เก่งเพียงคนเดียว (one man show) เพราะเราเชื่อมั่นว่าการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการทำงานแบบระบบทีมเป็นอันดับแรกจะช่วยให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าการบริหารจัดการกองทุนของบริษัทจะดีไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการกองทุนไปอย่างไรก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารในแบบนี้ไม่ได้ทำให้ Turnover ของบริษัทสูงแต่กลับอยู่ในระดับต่ำมาก โดยเฉพาะทีมบริหารกองทุนด้านตราสารหนี้ที่ปัจจุบันอยู่ร่วมงานกับ บริษัทมานานกว่า 15 ปีแล้ว และด้วยอุตสาหกรรมกองทุนในปัจจุบันที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทเองก็มีการขยายทีมงานด้านการบริหารกองทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบริหารกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดรับกับธุรกิจที่จะขยายต่อไปในอนาคต

คำถาม: โปรดระบุปัจจัยที่ท่านคิดว่าทีมการลงทุน หรือกระบวนการใด ที่บลจ.ของท่านต้องการพัฒนาเป็นพิเศษ

คำตอบ: นอกเหนือจากการที่ บลจ. ธนชาต จะมีระบบการบริหารการลงทุนที่ดี ทำงานเป็นทีม มีการตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนโดยเทียบกับดัชนีมาตรฐานและคู่แข่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงให้ผลการดำเนินงานของกองทุนให้ดียิ่งขึ้น ในปีนี้ยังมีแผนที่จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาช่วยในการค้นหาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ทำให้การติดตามวิเคราะห์ข้อมูลรวดเร็วและสะดวกขึ้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมทั้งมีแผนที่จะนำเอาเครื่องมือทาง Quantitative มาใช้ในการพยากรณ์อัตราดอกเบี้ย กระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flows) และการประเมินความเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar