Best Fund House – Domestic Equity

Morningstar Awards 2018 บริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทการลงทุนหุ้นภายในประเทศ (Domestic Equity Fund House) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ภัทร จำกัด มาฟังบทสัมภาษณ์จากทีมผู้จัดการกองทุนกันเลยครับ

Morningstar 20/03/2561
Facebook Twitter LinkedIn

Logo 2018

ถือเป็นครั้งแรกสำหรับบลจ. ภัทร ที่สามารถคว้ารางวัลบริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทการลงทุนหุ้นภายในประเทศ (Domestic Equity)  มีสไตล์การลงทุนที่ชัดเจน เน้นวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผ่านหลายปัจจัยที่สำคัญ มีทีมวิเคราะห์การลงทุนภายในที่แข็งแกร่ง มีความเป็นกลาง และยืดหยุ่นสูง บลจ.มีความเชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาว เน้นสร้างผลประโยชน์เพื่อผู้ลงทุนเป็นหลัก รวมทั้งมีกองทุนให้เลือกลงทุนค่อนข้างครอบคลุม ประกอบกับทีมผู้จัดการกองทุนที่มากประสบการณ์ ใส่ใจในเรื่องของการทำงานเป็นทีม ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นเหตุให้กองทุนหุ้นในประเทศของ บลจ. ภัทร โดดเด่นและประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลนี้ไปครอง

ในวันนี้เราจะมารู้จักบลจ. ภัทร ให้ดียิ่งขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษจากทีมผู้จัดการกองทุนกันครับ

คำถาม: มุมมองตลาดในปี 2018 ท่านมีความคิดเห็นว่าอย่างไร ตลาดไหนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ท่านคิดว่าปัจจัยใดที่จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด รวมถึงท่านมีวิธีการลดความเสี่ยงอย่างไร

คำตอบ: มุมมองการลงทุนตลาดหุ้นไทย สำหรับปี 2018 อยู่บนสมมติฐานเรื่องเศรษฐกิจมหภาคของไทยที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องอยู่ในระดับร้อยละ 4.0 – 4.2 โดยการเติบโตของเศรษฐกิจจะมีลักษณะกระจายตัวมากขึ้น ต่างจากปี 2017 ที่การเติบโตกระจุกตัวในภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ประกอบกับราคาน้ำมันคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 55 – 65 เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการที่ดีขึ้น คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ร้อยละ 10-12 ทำให้เรายังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อการลงทุนในตราสารทุนในประเทศ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย เนื่องจาก Valuation ในปัจจุบันค่อนข้างตึงตัว ทั้งนี้การพิจารณาการลงทุนของ บลจ. ภัทร ที่เน้นการคัดเลือกหลักทรัพย์รายตัว ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึก ที่มีการทบทวนและติดตามอย่างใกล้ชิด จะทำให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ในกรณีที่ราคาหลักทรัพย์ไม่สะท้อนมูลค่าแท้จริง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน

คำถาม: โปรดระบุความเสี่ยงสำคัญที่จะมากระทบต่อตลาดการเงิน เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น   ท่านคิดว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างไร

คำตอบ: ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อตลาดเงิน ได้แก่

  • แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งประมาณการอัตราดอกเบี้ย (dot-plot) คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสามครั้งในปี 2561 อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างร้อนแรง อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าที่กำหนดไว้ร้อยละ 2 ทำให้ธนาคารสหรัฐฯ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยนัยแล้วอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ก็จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกต้องลดสัดส่วนการลงทุนลงเพื่อดึงเม็ดเงินกลับสหรัฐฯ หรือเกิดการเคลื่อนย้ายกระแสเงินลงทุนไหลกลับเข้าสหรัฐฯ มากขึ้น สำหรับประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้ยาก อย่างไรตามนักลงทุนต่างประเทศได้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยมาอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับในอดีต กล่าวคือ ความเสี่ยงของการลดสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง  ดังนั้นการลงทุนในตราสารทุนคาดว่าจะยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น
  • ความขัดแย้งทางการเมืองของแต่ละประเทศทั้งภายในและภายนอก ซึ่งอาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังของประเทศนั้นๆ เช่น การปิดตัวลงของรัฐบาลสหรัฐฯ (Government Shutdown) ที่เกิดขึ้นจากการไม่สามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างการยืดเพดานหนี้ชั่วคราวของพรรครีพับลิกัน และความต้องการช่วยเหลือผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายของเดโมแครต ซึ่งทั้ง 2 พรรคจะกลับมาเจรจาใหม่ในเดือนมีนาคม สหรัฐฯดำเนินมาตรการการกีดกันสินค้านำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯหยุดชะงัก การแยกตัวของประเทศในกลุ่ม EU และสงครามระหว่างประเทศต่างๆ เป็นต้น

คำถาม: ปัจจัยใดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บลจ.ของท่านสามารถสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น และยั่งยืนในระยะยาว

คำตอบ: องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ บลจ. ภัทร สามารถสร้างผลงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอให้กับลูกค้า และผู้ถือหน่วย ได้แก่

  • ปรัชญาการลงทุนที่ชัดเจน เน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ผ่านปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Fundamental Progress, Market Sentiment and Earnings revision, Valuation, Sustainability (Management and Environmental Social and Governance) โดยไม่ยึดติดกับการลงทุนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งทั้งการลงทุนในหุ้นเติบโต Growth) หรือ หุ้นคุณค่า (Value) เพียงประเภทเดียวตลอดเวลาอาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมได้ในระยะยาว
  • ทีมวิเคราะห์การลงทุนภายในที่แข็งแกร่ง ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึก ที่มีความเป็นกลาง และความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนและตอบสนองต่อการลงทุนได้ทันท่วงที
  • การทำงานที่เป็น Teamwork อย่างแท้จริง ทำให้บุคลากรแต่ละท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถ และความชำนาญที่ถนัดในแต่ละกลุ่มธุรกิจ โดยข้อมูลแต่ละด้านมาหารือ และตัดสินใจร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้น และตราสารที่คาดว่าจะลงทุน

คำถาม: บลจ.ของท่านมีแผนการลงทุนในอนาคตอย่างไร มีแผนที่จะออกกองทุนใหม่แบบไหน อย่างไร

คำตอบ: หลักการที่ บลจ. ภัทรใช้สำหรับการออกผลิตภัณฑ์ หรือกองทุนใหม่ๆจะคำนึงถึง

  • กองทุนที่มุ่งเน้นให้ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยมีหลักการ และ sustainability รองรับอย่างเหมาะสม ทั้งนี้คำนึงถึงความสามารถของทีมงานว่าสามารถให้บริการกองทุนนั้น ๆ ได้จริง
  • กองทุนเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่ม mass affluent
  • กองทุนที่เอื้อให้ผู้ลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น เช่น การลงทุนต่างประเทศ

คำถาม: ทีมการลงทุนมีแผนที่จะพัฒนาจุดแข็งอย่างไร ในด้านไหนเป็นพิเศษ

คำตอบ: บลจ. ภัทร มุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการเงินลงทุน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้าและผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจึงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคลากรขององค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

  • รักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนและมุ่งมั่นพัฒนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้องค์กรเป็นที่ดึงดูดบุคคลากรคุณภาพเข้ามาร่วมงานกับองค์กร
  • พัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อเพิ่มศักยภาพของทีมวิเคราะห์การลงทุนภายในให้มีความชำนาญในการวิเคราะห์เชิงลึกในแต่ละกลุ่มธุรกิจที่รับผิดชอบ ผ่านการอบรมสัมมนาที่เหมาะสมทั้งภายในและภายนอกประเทศ
  • ขยายขอบเขตความรู้ด้านเศรษฐกิจ การจัดสรรเงินลงทุน และปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มมุมมองการลงทุน จากระดับเศรษฐกิจมหภาค สู่การจัดสรรเงินลงทุนรายอุตสาหกรรม และการคัดเลือกหุ้นรายตัว
  • ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การนำเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบการจัดการดีขึ้น

 

 

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar