สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 1 ปี 2561

อุตสาหกรรมกองทุนรวมค่อนข้างทรงตัวในไตรมาสแรก โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% จากสิ้นปี 2017 ทำให้ยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปิดที่ 5.05 ล้านบาท   

Morningstar 17/04/2561
Facebook Twitter LinkedIn

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย

เปิดต้นปี 2561 ด้วยความสดใส โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยในเดือนมกราคมที่ SET ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่เปิดทำการซื้อขายในปี 2518 โดยปิดที่ระดับ 1838.96 จุด แต่พอเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม นักลงทุนทั่วโลกกลับต้องเผชิญกับความผันผวนครั้งใหญ่ จากปัจจัยต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของ FED, อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ (Bond Yield) ที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ หลังจากที่ทรัมป์ได้ประกาศเรียกภาษีจากจีนเพิ่มขึ้น เพื่อลดการขาดดุลทางการค้า

ในไตรมาสแรกนั้นมีเงินไหลเข้ากองทุนสุทธิรวมประมาณ 49,168 ล้านบาท โดยนักลงทุนยังคงให้ความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นส่วนใหญ่โดยมีปัจจัยมาจากความกังวลข้างต้น ในทางกลับกันก็ยังมีนักลงทุนบางส่วนที่มีความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้น และใช้โอกาสในช่วงที่หุ้นมีการปรับฐานทยอยสะสมกองทุนหุ้นในกลุ่มต่างๆ โดย 5 อันดับกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดนั้น 3 อันดับแรกล้วนเป็นกลุ่มกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางที่ลงทุนในประเทศทั้งสิ้น คือ กองทุนประเภท Short Term Bond, Mid/Long term Bond, และ Conservative Allocation โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิรวมกว่า 100,919 ล้านบาท (49,319, 27,873, 23,727) ตามมาด้วยกลุ่มหุ้น Asia Pacific ex-Japan มีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 22,548 ล้านบาท และกองหุ้นไทย Large-Cap ประมาณ 18,446 ล้านบาท

Q1-1

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561

ในส่วนของกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลออกมากที่สุด 2 อันดับแรก คือ Foreign Investment Bond Fix Term        -72,752 ล้านบาท ตามมาด้วย Global Bond -30,389 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของ Global Bond นั้นให้ภาพตรงกันข้ามกับปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง (Q4 -2017 มีเงินไหลเข้าสุทธิถึง 15,140 ล้านบาท, ตลอดปี 2017 มีเงินไหลเข้าสุทธิถึง 130,623 ล้านบาท)

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

ในส่วนของการลงทุนในกองต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ในไตรมาสแรกปีนี้นั้นมีเงินไหลเข้าสุทธิเพียง 29,074 ล้านบาท ลดลงอย่างมีนัยะสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ อาจเป็นเพราะสภาพตลาดต่างประเทศยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนหลายประการ โดยรวมแล้วมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกลุ่มนี้อยู่ที่ 669,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.56% เทียบจากสิ้นปี 2017

เงินที่ไหลเข้าสุทธิของกองทุนในกลุ่มกองทุนต่างประเทศนี้ 5 อันดับแรกล้วนแต่เป็นกองทุนหุ้นทั้งสิ้น ได้แก่ Asia Pacific ex-Japan Equity ที่ 22,548 ล้านบาท, Global Equity ที่ 11,641 ล้านบาท, Japan Equity ที่ 9,255 ล้านบาท, Emerging Market Equity ที่ 7,725 ล้านบาท, และ China Equity ที่ 7,539 ล้านบาท ตามลำดับ โดยถึงแม้ว่า 5 อันดับ กลุ่มกองทุนดังกล่าวจะมีผลตอบแทนติดลบในช่วงไตรมาสแรกก็ตาม นักลงทุนกลับมองเป็นโอกาสในการทยอยสะสมกองทุนหุ้นต่างประเทศในช่วงที่ตลาดต่างประเทศมีการปรับตัวลดลง

ในขณะที่กองทุนประเภท Global Bond ที่ปีที่แล้วดูจะเป็นที่นิยมของนักลงทุนนั้นกลับมีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดโดยในไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ประมาณ -30,389 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักน่าจะมาจากผลตอบแทนระยะสั้นที่ติดลบ (3 เดือน -1.19%, 6 เดือน -1.34%,) จึงทำให้นักลงทุนเริ่มทยอยขายทำกำไร ตามมาด้วยกลุ่ม Global Health Care ซึ่งมีเงินไหลออกสุทธิ -5,915 ล้านบาท และกลุ่ม Commodities Precious Metals -1,373 ล้านบาท)

โดย Market share 5 อันดับแรกของกองทุนต่างประเทศ มีดังนี้ Global Allocation ที่ 24.56%, Global Bond ที่ 23.77%, Global Equity ที่ 8.14%, Asia Pacific ex-Japan Equity ที่ 8.02%,และ Global Health Care ที่ 6.12%

ส่วน บลจ.ไทยที่มีส่วนแบ่ง Market share 5 อันดับแรกของกองทุนต่างประเทศมีดังนี้ Kasset ที่ 22.95%, TMBAM ที่ 19.77%, SCBAM ที่ 16.46%, KSAM ที่ 9.40%, และ UOBAM ที่ 8.81%  

Q1-2018

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปีนี้นั้น กองทุนประเภท Commodities Energy นั้นทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี โดยทำได้ถึง +7.10% (เทียบกับปีที่แล้วนั้น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวที่มีผลตอบแทนติดลบ) ซึ่งถ้าหากนักลงทุนท่านไหนที่ลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้ก็คงจะพอทราบดีว่ากองทุนแม่ (Master fund) ที่กองทุนไทยส่วนใหญ่ไปลงทุนนั้นคือ กอง PowerShares DB Oil และกอง United States Oil ซึ่งกองแม่ทั้งสองกองทุนนั้น ทำผลตอบแทนได้ดีตั้งแต่ต้นปีจากการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Crude oil future)

ในกลุ่มส่วนของประเภทกองทุนหุ้นนั้น กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่เป็นกลุ่มเดียวที่มีผลตอบแทนเป็นบวก ที่ 0.69% ในขณะที่กองหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นทำผลตอบได้ไม่ดีนักที่ -2.92% เช่นเดียวกับกองทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศเกือบทุกตลาดทำผลตอบแทนติดลบทั้งสิ้นดังนี้ Japan Equity ที่ -5.26%, Europe Equity ที่-4.43%, Asia Pacific ex-Japan Equity ที่ -3.83%, US Equity ที่ -2.37%, China Equity ที่ -0.31%, และ Emerging Market Equity ที่ -0.16%

Q1-3

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561

ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้นทั้งตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศอย่าง กลุ่ม Money Market กลุ่ม Short Term Bond และ กลุ่ม Mid/Long Term Bond นั้นล้วนแต่ทำผลตอบแทนได้อยู่ในระดับกลางเป็นไปตามระดับความเสี่ยง โดยที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ที่ 0.23%, 0.44%, และ 0.52% ตามลำดับ ในส่วนตราสารหนี้ต่างประเทศอย่าง Emerging Market Bond และ กลุ่ม Global Bond นั้นในไตรมาสแรกของปีกลับทำผลตอบแทนติดลบที่ -1.00% และ -1.19% ตามลำดับ

ขณะที่กองทุนบางกลุ่มที่ปีที่แล้วให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีอย่างกลุ่มที่เน้นลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้น ในไตรมาสแรกนี้นั้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ (Property Indirect) นั้นกลับชะลอตัวให้ผลตอบแทนที่ 1.07% แต่ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ (Property Indirect - Global) กลับให้ผลตอบแทนเป็นลบที่ -4.42%

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และRMF)

ตลาดหุ้นไทยนั้นยังคงได้รับความนิยมจากนักลงทุนไทยแต่เฉพาะกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ โดยพบว่ามีเงินไหลเข้าในกลุ่มกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTFและRMF) ทั้งสิ้นประมาณ 29,741 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งมีเงินไหลเข้าสุทธิ 31,439  ล้านบาท ซึ่งตรงกันข้ามกับกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีเงินไหลออกสุทธิ -1,697 ล้านบาท สืบเนื่องจากผลตอบแทนของกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กในไตรมาสแรกที่ติดลบถึง -2.92% จึงอาจมีนักลงทุนบางส่วนทยอยขายทำกำไรที่ได้จากปีที่แล้ว (2017, +15.24%)

ทั้งนี้กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และRMF) ยังโตต่อเนื่องโดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น +10.7% จากสิ้นปี 2017 มาอยู่ที่ 271,697 ล้านบาท

กองทุนกลุ่ม LTF และ RMF

ในไตรมาสแรกของปีนี้ กองทุนในกลุ่ม LTF ยังคงเป็นไปในลักษณะเดิมเหมือนเช่นทุกๆปีนั้นก็คือ ผู้ลงทุนทยอยขายทำกำไรเมื่อครบกำหนด โดยมีเงินไหลออกสุทธิกว่า -13,713 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลออกในเดือนมกราคมถึง -12,533 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลตอบแทนที่น่าพอใจอีกทั้งตลาดยังทำ New high ในช่วงเดือนมกราคมด้วย หากนับผลตอบแทนการลงทุนในกลุ่ม LTF ณ สิ้นเดือนมีนาคมย้อนหลัง 5 ปีเฉลี่ย 3.46% และ 7 ปีเฉลี่ย 8.88%

ขณะที่กองทุน RMF นั้นกลับมีเงินไหลเข้าสุทธิอยุ่ที่ 904 ล้านบาทสวนทางกลับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว (ไตรมาสแรกของปีที่แล้วเงินไหลออกประมาณ -434 ล้านบาท) โดยมีเงินไหลเข้าในกลุ่มสินทรัพย์ประเภทหุ้น ในขณะที่มีเงินไหลออกจากสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้

แต่อย่างไรก็โดยภาพรวมของทั้ง LTF และ RMF นั้นยังคงเติบโตได้ดีโดยเฉพาะส่วนของ LTF ที่หลายฝ่ายกังวลถึงแรงเทขายช่วงต้นปี ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงว่านักลงทุนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มองการลงทุนใน LTF หรือ RMF เป็นเพียงเรื่องของการลงทุนเพื่อประหยัดภาษีเพียงอย่างเดียว แต่มองเห็นถึงประโยชน์ของการลงทุนในระยะยาวอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นทุกคนคงขาย LTF หรือ RMF กันไปหมดแล้วเมื่อลงทุนมาครบตามกำหนดกฎเกณฑ์ ปิดไตรมาสแรกของปีนี้ LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 381,682 ล้านบาท และ RMF มีอยู่ 255,791 ล้านบาท

โดยบลจ.ไทยที่มี Market share 5 อันดับแรกของกองทุน LTF มีดังนี้ BBLAM ที่ 27.93%, KAsset ที่ 21.20%, Krungsri ที่ 16.50%, SCBAM ที่ 11.82%, และ UOBAM ที่ 6.21%  คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 83.67% ของตลาดทั้งหมด

โดยบลจ.ไทยที่มี Market share 5 อันดับแรกของกองทุน RMF มีดังนี้ BBLAM ที่ 27.88%, KAsset ที่ 23.87%, SCBAM ที่ 12.23%, Krungsri ที่ 11.71%,  และ TMBAM ที่ 5.37%  คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 81.06% ของตลาดทั้งหมด

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar