สรุปภาพรวมกองทุนรวมครึ่งแรกปี 2018

อุตสาหกรรมกองทุนรวมค่อนข้างผันผวนอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก โดยปรับตัวลดลง -1.67% จากสิ้นปี 2017 ทำให้ยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปิดที่ 4.93 ล้านล้านบาท 

Morningstar 13/07/2561
Facebook Twitter LinkedIn

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย

หลังจากที่ดัชนี SET ได้ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 1,838.96 จุด ในไตรมาสแรกของปี 2018 ตลาดก็ต้องเผชิญกับความผันผวนและปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายนมาแตะที่จุดต่ำสุดของปีที่ 1,595.58 จุด ทั้งนี้เป็นผลจากความกังวลจากปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มประกาศการใช้ภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม ตามมาด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของ FED เมื่อเดือนมีนาคม และเดือนมิถุนายน

โดยในครึ่งแรกของปีนี้ มีเงินไหลเข้ากองทุนรวมประมาณ 111,970 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มกองทุนหุ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก โดยมีเงินไหลเข้าสูงสุดในกลุ่มกองทุนรวมหุ้นไทยขนาดใหญ่ Equity Large cap สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 59,076 ล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสที่ 2 ถึง 40,621 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการที่นักลงทุนอาศัยจังหวะเข้าลงทุนขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าวตามมาด้วย กองทุนรวมกลุ่ม Short Term Bond มีเงินไหลเข้าสุทธิ 44,762 ล้านบาท, กลุ่ม Aggressive Allocation ที่ 29,895 ล้านบาท, Conservation Allocation และ Property Indirect ที่ 22,883 และ 22,542 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า 5 อันดับแรกที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดนั้นเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในไทยทั้งสิ้น

ทางด้านของกองทุนรวมที่มีเงินไหลออกสูงสุดช่วงครึ่งปีแรกนั้น คงยังเป็นกลุ่ม Global Bond ที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงถึง -57,315 ล้านบาท ซึ่งหากดูเป็นรายไตรมาส จะเห็นได้ว่าเป็นการไหลสุทธิออกต่อเนื่องจากไตรมาสแรก (1Q18 ที่ -28,841 ล้านบาท และ 2Q18 ที่ -28,473 ล้านบาท) ตามด้วยกลุ่ม Foreign Investment Bond Fixed Term และ Money Market ที่มีเงินไหลออกสุทธิ -33,892 ล้านบาท, และ -18,534 ล้านบาท ตามลำดับ

Q2-1

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

ในส่วนของการลงทุนในกองต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ในช่วงครึ่งปีแรกนั้นมีเงินไหลออกสุทธิถึง -14,284 ล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกภายในไตรมาสที่ 2 ถึง -43,360 ล้านบาท โดยรวมแล้วมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกลุ่มนี้อยู่ที่ 622,033 ล้านบาท ลดลง -4.66% เทียบจากสิ้นปี 2017

ถึงแม้ว่าสภาพตลาดยังไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเท่าไรนัก แต่นักลงทุนยังคงให้ความเชื่อมั่นต่อกองทุนหุ้นในต่างประเทศ โดยจะเห็นได้จากเงินที่ไหลเข้าสุทธิในครึ่งปีแรกของกองทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ Asia Pacific ex-Japan Equity ที่ 14,528 ล้านบาท, Global Equity ที่ 13,191 ล้านบาท, China Equity ที่ 10,373 ล้านบาท, Emerging Market Equity ที่ 9,676 ล้านบาท และ ASEAN Equity ที่ 5,749 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่ม China Equity ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีความกังวลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ตาม แต่กลุ่มกองทุนหุ้นจีนกลับมีเงินไหลเข้ามากที่สุดในไตรมาส 2 ถึง 2,834 ล้านบาท (ผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือน -3.62%, 6 เดือน -3.93%) รวมถึงกองทุนหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ถูกมองว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากก็มีเงินไหลเข้าเป็นอันดับสองถึง 1,950 ล้านบาท (ผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือน -8.32%, 6 เดือน -8.40%) ในขณะที่หุ้น US Equity กลับมีเงินไหลเข้าเพียงเล็กน้อยที่ 567 ล้านบาท (ผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือน +5.74%, 6 เดือน +3.18%)

ในส่วนของกองทุนที่มีเงินไหลออกมากที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้นกลุ่ม Global Bond ที่ในครึ่งปีแรกนั้นมีเงินไหลออกถึง -57,315 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกลุ่มนี้เหลือเพียง 126,879 ล้านบาท จากที่เคยสูงสุดในช่วงสิ้นปีที่เกือบ 190,000 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม Global Health Care ซึ่งมีเงินไหลออกสุทธิ -10,459 ล้านบาท และ และ Global Allocation -5,543 ล้านบาท

โดย Market share 5 อันดับแรกของกองทุนต่างประเทศ มีดังนี้ Global Allocation ที่ 24.33%, Global Bond ที่ 20.40%, Global Equity ที่ 9.26%, Global Health Care ที่ 6.26% และ China Equity ที่ 5.94%

ส่วน บลจ.ไทยที่มีส่วนแบ่ง Market share 5 อันดับแรกของกองทุนต่างประเทศยังคงเหมือนเดิมจากไตรมาสที่แล้วมีดังนี้ KAsset ที่ 24.55%, TMBAM ที่ 17.64%, SCBAM ที่ 16.20%, KSAM ที่ 9.13%, และ UOBAM ที่ 8.62%  

Q2-2

โดยในครี่งปีแรกนั้นมีการออกกองทุนต่างประเทศใหม่ ไม่รวม Term Fund ทั้งสิ้น 57 กอง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 40,000 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรกเป็นกองในกลุ่ม Global Bond 11 กอง (9,400 ล้านบาท) Global Equity 15 กอง(8,200 ล้านบาท) และ Global Allocation 9 กอง (6,200 ล้านบาท)

ในส่วนของกองทุน FIF ที่มีการลงทุนผ่าน Master Feeder นั้น ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 500,000 ล้านบาท นำโดย PIMCO ซึ่งถึงแม้ว่ามูลค่าทรัพย์สินจะลดลงเกือบ 40% จากการไหลออกของกองทุนกลุ่ม Global Bond แต่ก็ยังครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งได้ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 94,000 ล้านบาท ตามมาด้วย BlackRock ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 50,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 27% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว และเป็น บลจ. เดียวใน 5 อันดับแรก ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2017 โดยเป็นเงินไหลเข้าในกลุ่มกองทุนประเภท Asia Pacific ex-Japan Equity กองเดียวกว่า 9,500 ล้านบาท ตามมาด้วย JP Morgan,  State Street มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ  ที่ 47,000 และ 34,000 ล้านบาท และ Deutsche Asset ที่มูลค่าทรัพย์สินลดลงเกือบ 40% เช่นเดียวกันกับ PIMCO โดยเป็นเงินไหลออกจากกลุ่ม Global Allocation ในกองประเภท Global Income Fund ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเหลือเพียงกว่า 28,000 ล้านบาท

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก กองทุนประเภท Commodities Energy นั้นยังคงทำผลตอบแทนได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยทำได้ถึง ผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือน +21.81%, และในช่วง 1 ปี +48.62%, ตามด้วย Global Health Care และ US Equity 6 เดือน +3.71%, +3.18% ตามลำดับ

ในส่วนกลุ่มกองทุนหุ้นไทยนั้นทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างน่าผิดหวัง  นำโดยกองทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือน -12.71%, 3 เดือน -10.09% ส่วนกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือน  -8.41%, 3 เดือน -9.05% สอดคล้องกับดัชนีหุ้นไทย SET TR ที่มีผลตอบแทน 6 เดือน -7.33%, 3 เดือน -9.25% ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยทิ้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยแรงเทขายนั้นเกิดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

ส่วนกองทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศเกือบทุกตลาดทำผลตอบแทนติดลบทั้งสิ้นดังนี้ ASEAN Equity ผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือน ที่ -9.32%, Emerging Market Equity -8.40%, India Equity ที่ -7.96%, Asia Pacific ex-Japan Equity ที่ -6.57%, China Equity ที่ -3.93%, Japan Equity ที่ -3.35% และ Europe Equity ที่ -0.45% มีเพียงตลาดหุ้นในสหรัฐฯเท่านั้นที่ยังมีผลตอบแทนเป็นบวก

ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้นทั้งตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศอย่าง กลุ่ม Short Term Bond , Money Market  และ กลุ่ม Mid/Long Term Bond นั้นล้วนแต่ทำผลตอบแทนเป็นบวกเล็กน้อย โดยที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือน อยู่ที่ 0.49%, 0.43%, และ 0.37% ตามลำดับ

ในส่วนตราสารหนี้ต่างประเทศอย่าง Emerging Market Bond และ กลุ่ม Global Bond นั้นกลับทำผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือนติดลบที่ -5.24% และ -1.91% ตามลำดับ

Q2 -avg

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และRMF)

ถึงแม้ว่าผลตอบแทนหุ้นไทยจะไม่ได้ดูดีเหมือนปีที่แล้ว ในทางกลับกันได้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก และมากกว่าตลาดอื่นๆในภูมิภาคด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เงินไหลออกแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกองทุนหุ้นไทยไม่รวม LTF และ RMF กลับมีเงินไหลเข้ามากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ในช่วงครึ่งปีแรก มีเงินไหลเข้ามากถึง 59,316 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กกลับมีเงินไหลออกสุทธิ -948 ล้านบาท ทำให้กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และRMF) ยังโตต่อเนื่องโดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น +11.42% จากสิ้นปี 2017 มาอยู่ที่ 273,477 ล้านบาท

ส่วน บลจ.ไทยที่มีส่วนแบ่ง Market share 5 อันดับแรกของกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และRMF), BBLAM 15.32%, ThanachartFund ที่ 15.18%, SCBAM ที่ 13.09%, KSAM ที่ 13.08%, และ KAsset ที่ 9.18%  

กองทุนกลุ่ม LTF และ RMF

กองทุน LTF ในช่วงครึ่งปีแรกนั้น มีเงินไหลออกสุทธิ -4,881 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินไหลออกในไตรมาสแรกสูงถึง -13,712 ล้านบาท และเป็นเงินไหลเข้าในช่วงไตรมาสสองสูงถึง 8,831 ล้านบาท โดยนับว่าเป็นเงินไหลเข้าสูงสุดตลอดกาลเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ของปีอื่น ๆ ทั้งนี้น่าจะเกิดจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่มีการปรับตัวลดลงของ SET TR -9.25% ทำให้นักลงทุนใช้โอกาสนี้ทยอยลงทุนในกลุ่มกองทุนประหยัดภาษี ทั้งยังมีการออกกองเพิ่มอีก 3 กอง ในช่วงไตรมาสสองนี้อีกด้วย โดยผลตอบแทนเฉลี่ย 6 เดือนของกองทุน LTF สำหรับกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ -8.38% และกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กเฉลี่ยที่ -12.62%

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแรงเข้าซื้อกองทุน LTF สูงในไตรมาสที่ 2 แต่มูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของกองทุน LTF มีมูลค่าลดลง ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ 356,975 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ถึง -6.47% หรือ -10.12% จากสิ้นปี 2017

ในด้านของส่วนแบ่งตลาดกองทุน LTF แบ่งตาม บลจ. ณ สิ้นเดือนมิถุนายนสัดส่วนไม่ต่างจากไตรมาสแรกเท่าใดนัก โดยยังคงส่วนแบ่งตลาดกระจุกตัวอยู่ใน 5 อันดับแรกได้แก่ BBLAM ที่ 28.12% KAsset 21.11% KSAM ที่ 16.42% SCBAM ที่ 11.72% และ UOBAM ที่ 6.26% (รวม 5 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 80%)

สำหรับกองทุน RMF นั้นมีเงินไหลเข้าสุทธิในครึ่งปีแรกรวมอยู่ที่ 5,711 ล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้าในกลุ่ม RMF Equity สูงสุดถึง 7,447 ล้านบาท, RMF Allocation 1,015 ล้านบาท และเป็นเงินไหลออกสุทธิในกลุ่ม RMF Other และ RMF Fixed Income -282 ล้านบาท, -2,469 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในครึ่งปีแรกนี้นั้นมีกอง RMF เปิดใหม่ถึง 4 กองทุน (มูลค่าทรัพย์สิน 1,717 ล้านบาท)

ทั้งนี้กองทุนกลุ่ม RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดที่ 246,510 ล้านบาท ลดลง -3.18% จากสิ้นปี 2017 โดยมีสัดส่วนเงินลงทุนในกลุ่มกองทุนหุ้นสูงถึง 47.14%, ตราสารหนี้ 29.72%, กองผสม 19.90% และ อื่นๆ 3.24%

กองทุน RMF มีสัดส่วน Market share คล้ายกับ กองทุน LTF ดังนี้ BBLAM ที่ 28.11% KAsset 23.71% SCBAM ที่ 12.12% KSAM ที่ 11.67%  และ TMBAM ที่ 5.44% (รวม 5 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 80%)

 

 

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar