5 ข้อคิดเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น

เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 แล้วตลาดยังผันผวนต่อเนื่อง วันนี้ Morningstar มีข้อคิดมานำเสนอเพื่อให้นักลงทุนมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นกันค่ะ

Morningstar 19/07/2561
Facebook Twitter LinkedIn

เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 แล้วตลาดยังผันผวนต่อเนื่อง วันนี้ Morningstar มีข้อคิดมานำเสนอเพื่อให้นักลงทุนมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นกันค่ะ

1. ต้นทุนต้องต่ำ

เรามาเริ่มกันด้วยความจริงที่ว่าการลดต้นทุนจะช่วยให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ซึ่งต้นทุนนั้นมาได้หลายรูปแบบ เช่น ค่าธรรมเนียมกองทุนมักเป็นสิ่งที่เรานึกถึง แต่ต้องอย่าลืมว่ายังมีค่าใช้จ่ายการซื้อขาย hedging cost รวมไปถึงค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) ซึ่งบ่อยครั้งต้นทุนอาจเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามเช่น หากผลตอบแทนขยับขึ้นมากกว่า 1% ใน 1 สัปดาห์แต่เรากลับจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงแค่ 1% ต่อปี เช่นนี้เลยทำให้เรามองเห็นเป็นเพียงค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ในทางกลับกัน หากมองในระยะยาวแล้วนั้น ค่าธรรมเนียมแม้เพียงน้อยนิด ก็จะค่อยๆ ลดทอนผลตอบแทนของเราเช่นกัน

2. เข้าใจว่าสิ่งไหนไม่สำคัญ

โดยทั่วไปเราอาจจะติดกับดักการมองภาพระยะสั้นเวลาอยากได้ผลตอบแทนสูง เช่นการมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำอะไรต่อไป? Brexit จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยรึเปล่า? การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกหรือไม่? ซึ่งการพยายามมองภาพแบบผู้เชี่ยวชาญในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้

ด้วยเหตุนี้นักลงทุนควรใช้เวลาพิจารณาว่าสิ่งไหน “สำคัญ” สิ่งไหน “ไม่สำคัญ”  เพราะการลงทุนคือการจัดการกับความไม่แน่นอน  เราควรศึกษาและเข้าใจปัจจัยสำคัญที่อาจจะยังไม่รู้ให้มากขึ้น และมองข้ามสิ่งที่ไม่สำคัญไปก่อน หากนำแนวคิดนี้ไปลองปรับใช้ก็จะไม่ตื่นเต้นไปกับตลาดที่ปรับขึ้นและใจจะนิ่งขึ้นเมื่อตลาดปรับลง

3. จัดการกับสัญชาตญาณ

พฤติกรรมของแต่ละบุคคลก็มีส่วนสำคัญในการลงทุนเช่นกัน แน่นอนว่าเราสามารถคุมพฤติกรรมตนเองได้แต่ในหลายครั้งพฤติกรรมก็มีผลต่อความมีเหตุผลของแต่ละคนอยู่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากความกลัว ความโลภ บวกกับอารมณ์ความรู้สึก ยิ่งถ้านักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดใช้อารมณ์ความรู้สึกด้วยก็จะยิ่งไปกันใหญ่ แต่สำหรับนักลงทุนที่สามารถตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุและผลก็จะช่วยให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

นักลงทุนอาจจะต้องให้ความสำคัญกับข้อนี้เป็นพิเศษกับสภาวะตลาดปัจจุบัน เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่คนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในตลาดอย่างมากซึ่งส่งผลให้ราคาทรัพย์สินบางประเภททะยานขึ้นสูงจนเกิดคำถามว่าจะสามารถขึ้นไปอีกได้แค่ไหน หากความเชื่อมั่นนี้หายไปก็อาจจะคาดเดาผลที่ตามมาได้ยาก

4. นำความน่าจะเป็นมาประยุกต์ใช้

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการลงทุนแบบ chase performance (หรือพูดง่ายๆ คือการลงทุนในกองทุนหรือทรัพย์สินอื่นใดจากความคาดหวังที่ว่าผลตอบแทนที่ดีในอดีตจะยังดีต่อไปในอนาคตนั่นเอง) ทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาว แต่หากเราทำตรงกันข้าม หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดเช่น การลงทุนในหุ้นที่ใครๆ ก็ไม่รัก หรือการมองหาทรัพย์สินที่ซื้อขายกันที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (intrinsic value) มากอย่างมีนัยสำคัญ วิธีนี้จะช่วยลดความน่าจะเป็นที่จะเกิดความผิดพลาดได้

นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ในระยะยาวนั้น การลงทุนในหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้หรือถือเงินสด ดังนั้นนักลงทุนจึงควรคำนึงถึงเป้าหมายของพอร์ตการลงทุนเป็นหลักในการตัดสินใจที่จะลดพอร์ตการถือหุ้นเมื่อราคาดูแพง มากกว่าการลดหรือเพิ่มน้ำหนักตามความเคลื่อนไหวของตลาด

5. ระวังความเสี่ยงที่มองไม่เห็น

อาจเรียกได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือรู้ว่าเรื่องไหนที่เราไม่รู้ เพราะนักลงทุนเก่งๆ หลายท่านอาจพลาดทั้งจากความมั่นใจมากเกินไป มีความลำเอียงเวลาตัดสินใจ หรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่ในความเป็นจริงแล้วความเสี่ยงนั้นมีอยู่รอบด้านแต่โดยธรรมชาติมนุษย์มักจะจดจ่อแต่กับสิ่งที่เราเห็นตรงหน้าเท่านั้น

แนวทางที่จะลดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุดก็คือสร้างพอร์ตการลงทุนที่สามารถรับมือกับหลายๆ สถานการณ์ได้ เพราะฉะนั้นการจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวมอาจจะเป็นทางที่ฉลาดและปลอดภัยกว่า ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง และยังเป็นการสร้างความสมดุลย์ของโอกาสที่จะลด downside และเพิ่ม upside ของผลตอบแทน

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar