ยุคประชากรสูงวัยจะส่งผลกระทบอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วันนี้เราจึงนำข้อมูลจากงานวิจัยที่จัดทำโดย BlackRock ที่ชี้ให้เห็นผลกระทบเชิงโครงสร้าง

Morningstar 25/07/2561
Facebook Twitter LinkedIn

การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ เช่น จำนวนประชากรโลก ความหนาแน่นของประชากร ระดับการศึกษาและอื่นๆ ใดที่เกี่ยวข้องจะนำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอย่างมาก ซึ่งเป็นการสร้างทั้งความท้าทายและโอกาสให้กับภาคธุรกิจไปจนถึงระดับรัฐบาลของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังหนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตได้

ผลกระทบ

จากข้อมูลโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) ระบุว่า ประชากรโลกจะเพิ่มอีกพันล้านคนภายในปี 2030 โดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากประเทศเกิดใหม่ และข้อมูลยังระบุอีกว่าภายในปี 2050 หรืออีก 32 ปีข้างหน้า 80% ของประชากรโลกกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา

โดยหากเราพูดถึงประเทศที่มีประชากรอายุยืนที่สุดก็ต้องนึกถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก ซึ่งเมื่อปี 2015 ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีมากกว่า 30% ของประชากรทั้งประเทศ แต่จากตัวเลขของ UN ระบุเพิ่มว่าภายในปี 2050 จะมีถึง 55 ประเทศด้วยกัน

(หมายเหตุ: ประเทศไทยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีที่ 15% ของประชากรทั้งหมด ณ เดือนธันวาคมปี 2017 - ข้อมูลโดยกรมการปกครอง) จากข้อมูลเบื้องต้นบอกได้ว่าประชากรวัยเกษียณจะอายุยืนขึ้นทำให้รัฐบาลต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบริการและผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข เช่น ในประเทศไทย อย. ประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ภายในสิ้นปีนี้

1

นอกจากนี้ปัญหาการมีลูกน้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มคนมีฐานะร่ำรวย และมีการศึกษา จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งในด้านการขาดแรงงาน และการเติบโตของการลงทุนที่น้อยลง อีกทั้งยังสร้างภาระให้กับวัยทำงานในการที่จะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุอีกด้วยซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

ดังนั้นหากเรามองในภาพใหญ่จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้นส่งผลกระทบต่อความต้องการตามโครงสร้างแรงงานและโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นภาคธุรกิจรวมถึงภาครัฐจำเป็นเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะมาถึง

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่อาจจะส่งผลต่อนักลงทุนในระยะกลางและระยะยาว เช่น

  1. ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมากขึ้น – ในอเมริกานั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น 8% ของ GDP ทุกปี คิดเป็นตัวเลขประมาณ 3,400 พันล้าน USD
  2. ความสำคัญของกองทุนประเภทบำนาญ – จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากคนจะต้องการหารายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ดังนั้นอาจจะทำให้ธุรกิจประเภทการวางแผนการเงิน หรือ Robo-advisor เป็นที่นิยมมากขึ้น
  3. การทดแทนแรงงานโดยใช้หุ่นยนต์ – จำนวนแรงงานที่อาจน้อยลงทำให้ธุรกิจหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น และทำให้เกิดความต้องการแรงงานเฉพาะทาง เช่น Data Scientists เพิ่มขึ้น
  4. พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เทรนด์การรักสุขภาพที่ผู้บริโภคหันมาระมัดระวังการกินมากขึ้นส่งผลต่อผู้ประกอบธุรกิจอาหาร และความต้องการความสะดวกสบาย ทำให้เกิดบริการ Delivery ที่เพิ่มมากขึ้น

 

จากปัจจัยที่กล่าวถึงเบื้องต้น กลุ่มกองทุนที่เกี่ยวข้องอย่างเห็นได้ชัดคงเป็นกลุ่ม Global Health Care ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันมีกองทุนประเภทนี้จำนวน 22 กองทุน มีทรัพย์สินสุทธิรวม 38,929 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2018) โดยเป็นที่นิยมอย่างมากเมื่อปี 2015 ที่มีการเปิดกองประเภทนี้ถึง 12 กอง และมีการเปิดกองใหม่ในปีนี้ 1 กอง ในด้านของผลตอบแทน จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนกองทุนกลุ่มนี้ถือว่าค่อนข้างดีในปีนี้ (ม.ค.- มิ.ย. 2018) เนื่องจากมีผลตอบแทนมาเป็นอันดับที่ 2 ที่ 3.71% รองจากกองทุนกลุ่ม Commodities Energy ที่ปีนี้ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น

2

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2018

อย่างไรก็ตามกองทุนในกลุ่มนี้นั้นอยู่ในกองทุนหมวดอุตสาหกรรม (Sector Fund) ที่มีความเสี่ยงระดับ 7 หากนักลงทุนสนใจในกองทุนประเภทนี้ ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปของกองทุน หรือในเวปไซด์มอร์นิ่งสตาร์ โดยควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง ผลตอบแทน และค่าธรรมเนียมด้วยนะคะ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar