Share class คืออะไร สำคัญอย่างไร

Share class ของกองทุนรวมคืออะไร และมีความหมายกับนักลงทุนอย่างไร วันนี้เราลองมาหาคำตอบกันค่ะ

Morningstar 22/08/2561
Facebook Twitter LinkedIn

Share class คืออะไร?

Share class หรือชนิดหน่วยลงทุน เป็นหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้กองทุนรวมสามารถแบ่งชนิดหน่วยลงทุนเป็นหลายชนิดภายใต้กองทุนรวมเดียวกันได้ (multi-class) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับบลจ. ในการจัดตั้งกองทุนรวมและเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนที่มีความต้องการผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่แตกต่างกันภายใต้นโยบายการลงทุนเดียวกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่ากองทุนนี้เป็น Share class อะไร และมีความแตกต่างกันอย่างไร

ท่านนักลงทุนที่ลงทุนกองทุนรวมอาจเคยเห็นจากหน้าแรกของหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญกองทุนว่าบางกองมีการระบุชื่อกองทุนต่อด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ท้ายชื่อที่ไม่เหมือนกันเช่น Equity Growth-A, Equity Growth-D หรือ Equity Growth-R ทำให้ท่านนักลงทุนอาจสงสัยว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร โดยแบบที่พบได้บ่อยมีดังนี้

- ชนิดสะสมมูลค่า (มักใช้ตัว A) หรือจะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นแบบไม่จ่ายเงินปันผล แต่ผู้จัดการกองทุนจะนำผลประโยชน์จากกองทุนไปลงทุนต่อ จึงให้ผลตอบแทนในลักษณะของ Capital gain เมื่อนักลงทุนขายหน่วยลงทุนนั่นเอง

- ชนิดจ่ายเงินปันผล (มักใช้ตัว D) ซึ่งมีความหมายตรงตัวคือมีการจ่ายปันผลทำให้ผู้ถือหน่วยมีรายได้สม่ำเสมอ แต่จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% จากเงินปันผล

- ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (มักใช้ตัว R) มีลักษณะคล้ายกับกองทุนจ่ายปันผล แต่ต่างกันที่เงินที่ได้เป็นเงินจากการขายคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติและเงินจากการขายคืนนี้จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเหมือนกับแบบจ่ายปันผล

เปรียบเทียบระหว่างชนิดจ่ายปันผลกับชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ

ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างหน่วยลงทุน 2 ชนิดนี้คือเงินที่จ่ายออกให้ผู้ลงทุนซึ่งจะอธิบายโดยยกตัวอย่าง สมมติท่านนักลงทุนซื้อหน่วยลงทุน 20,000 บาท ที่มูลค่าหน่วยละ 10 บาท จะได้ 2,000 หน่วย เวลาผ่านไปมูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 12 บาท และมีการประกาศจ่ายปันผล/ขายคืนส่วนกำไรทั้งหมดให้แก่ผู้ถือหน่วย (2,000x2 = 4,000 บาท) หากเป็นชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ บลจ.จะทำการขายคืนหน่วยให้ผู้ลงทุนจำนวน 4,000/12 = 333.33 หน่วย ทำให้มีหน่วยคงเหลือ 1,667 หน่วย ซึ่งแม้ว่าจำนวนหน่วยจะลดลงแต่มูลค่าการลงทุนยังคงเดิมที่ 1,667x12 = 20,000 บาท หากเป็นการจ่ายเงินปันผล บลจ. จะจ่ายให้ผู้ลงทุน 4,000 บาทและถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% = 400 บาท จึงได้รับเงินจริง 3,600 บาท (ตัวอย่างนี้ไม่ได้คำนวณรวมค่าธรรมเนียมเพื่อให้เข้าใจง่าย)

2018 08 22 1418

นอกจากชนิดหน่วยลงทุนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนแบบอื่นๆ อีกเช่น แบ่งตามกลุ่มผู้ลงทุน ค่าธรรมเนียม หรือมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ ที่อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดหน่วยลงทุน

อย่างไรก็ตามการใช้ตัวอักษรที่ท้ายชื่อกองทุนรวมไม่ได้เป็นหลักการหรือกฎเกณฑ์สากลว่าจะมีความหมายเดียวกันในแต่ละบลจ. เช่นบางบลจ. อาจใช้ A แทนการบอกชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto redemption) ดังนั้นท่านนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้งหรือหากยังมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามข้อมูลกับทางบลจ.โดยตรงได้นะคะ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar