กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (2)

จากคราวที่แล้วได้พูดถึงภาพรวมและลักษณะสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กบช. วันนี้จะมาต่อกันด้วยรายละเอียดอื่นๆ ที่ควรทราบกันค่ะ

Morningstar 29/11/2561
Facebook Twitter LinkedIn

ใครต้องส่งเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติบ้าง?

เนื่องจาก กบช. เป็นกองทุนภาคบังคับจึงทำให้มีผลกับนายจ้างและลูกจ้างเอกชนในระบบ รวมทั้งลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วต้องมี กบช. ด้วยหรือไม่?

วัตถุประสงค์ของ กบช. นั้นเพื่อให้แรงงานในระบบมีเงินออมเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น ซึ่งคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นกองทุนภาคสมัครใจ ดังนั้นผู้ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วจะไม่ถูกบังคับให้เข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือถ้าหากยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและไม่ต้องการเข้ากองทุน กบช. นี้ นายจ้างยังสามารถจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ก่อน พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้  อย่างไรก็ตามการออมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่เดิมนั้น ต้องมีลักษณะไม่ด้อยไปกว่า กบช. เช่น อัตราการส่งเงินเข้ากองทุนต้องไม่น้อยกว่าเกณฑ์ของ กบช.

การเข้าระบบ กบช. ของภาคเอกชน

ในปีที่ 2 หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปต้องเข้าสู่ระบบ กบช. และสำหรับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้าง 10 คน และ 1 คนขึ้นไปจะต้องเข้าระบบในปีที่ 5 และ ปีที่ 7 ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการให้เวลาเอกชนรายเล็กที่จะเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้

การส่งเงินเข้ากองทุน

การส่งเงินเข้ากองทุนจะกำหนดให้ส่งเงินสะสมและเงินสมทบอย่างน้อย 3% ของค่าจ้างใน 3 ปีแรก จากนั้นเพิ่มเป็นอย่างน้อย 5% ในปีที่ 4-6 และเพิ่มเป็นอย่างน้อย 7% ในปีที่ 7-9 และนับจากปีที่ 10 เป็นต้นไปให้ส่งฝ่ายละไม่เกิน 10% ของค่าจ้าง ทั้งนี้มีการกำหนดเพดานค่าจ้างในส่วนที่เป็นการบังคับส่งเงินไว้ที่ 60,000 บาท ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเป็น 2 กรณีสำหรับการส่งเงินในปีที่ 10 เป็นต้นไป

1)    เงินเดือนไม่เกิน 60,000 บาท เช่น 40,000 บาท จะส่งที่ 10% หรือ 4,000 บาท

2)    เงินเดือนเกิน 60,000 บาท เช่น 80,000 บาท จะบังคับส่งเงินที่ 6,000 บาท (10% x เพดานค่าจ้าง 60,000 บาท)

อย่างไรก็ตามลูกจ้างและนายจ้างสามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง เช่นในกรณีที่ 2) หมายความว่าต้องส่งเงินอย่างน้อย 6,000 บาทที่เป็นส่วนของภาคบังคับ ส่วนอีก 20,000 บาทที่เป็นส่วนเกินเพดานค่าจ้างจะส่งเพิ่มหรือไม่ก็ได้แล้วแต่สมัครใจนั่นเอง

ผู้มีรายได้น้อยต้องถูกบังคับออมด้วยหรือไม่?

สำหรับผู้มีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือนนั้น ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดว่าให้นายจ้างเป็นผู้ส่งเงินให้ในส่วนของนายจ้างฝ่ายเดียว (เงินสมทบ) จนกว่าลูกจ้างจะมีรายได้ตามเกณฑ์ 10,000 บาทแล้วจึงให้เริ่มส่งเงิน (เงินสะสม)ตามอัดราที่กำหนด

ผลประโยชน์ตอบแทนจากกองทุน

ในด้านของผลประโยชน์ตอบแทนจากกองทุน กบช. สมาชิกกองทุนสามารถเลือกรับเป็นแบบบำนาญ 20 ปี หรือบำเหน็จ (เงินก้อน) เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าต้องการบริหารจัดการเงินก้อนเองหรือเลือกรับเป็นเงินงวดอย่างบำนาญเพื่อจะได้มีเงินใช้ไปอีก 20 ปี

แนวทางการใช้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขเมื่อ พ.ร.บ. กบช. มีผลบังคับใช้

For article wk 5 Nov 18

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

จากการเปรียบเทียบแสดงให้เห็นแนวทางของเกณฑ์การส่งเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นจะถูกปรับขึ้นเพื่อให้ไม่ด้อยไปกว่าการส่งเงินเข้า กบช. ทั้งนี้หนึ่งในความแตกต่างที่สำคัญคือการบริหารจัดการเงินกองทุน ซึ่งทางด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความยืดหยุ่นกว่าคือคณะกรรมการกองทุนสามารถคัดเลือก บลจ. ที่จะมาบริหารได้ในขณะที่ กบช. นั้นจะมีการคัดเลือก บลจ. ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงอาจทำให้มีความแตกต่างด้านนโยบายกองทุนที่ให้ลูกจ้างเลือกลงทุน อย่างไรก็ตามนายจ้างอาจต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบหากจะตัดสินใจเลือกระหว่างกองทุนการออม 2 แบบนี้เช่น ต้นทุนการจัดตั้งเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดขององค์กร

จากรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นับได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ภาครัฐแสดงถึงการสนับสนุนส่งเสริมการออมเพื่อวัยเกษียณ ทั้งยังถือเป็นตัวช่วยให้ลูกจ้างตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงินระยะยาวเพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอและเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตวัยเกษียณอีกด้วยนะคะ

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar