7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Brexit

อะไรคือ hard Brexit, soft Brexit และจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง วันนี้ Karen Wallace ตำแหน่ง Director of investor education จากมอร์นิ่งสตาร์มีคำตอบค่ะ

Morningstar 13/12/2561
Facebook Twitter LinkedIn

1.    Brexit คืออะไร

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 สหราชอาณาจักรได้ให้ประชาชนทำการลงประชามติว่าจะอยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ต่อหรือไม่ โดยผลคือ เสียงข้างมากที่ 51.9% เห็นว่าให้ถอนตัวจากกลุ่ม EU และการลงคะแนนครั้งนี้มีการออกมาใช้สิทธิถึง 72% หรือราว 30 ล้านเสียง ซึ่งสูงกว่าสถิติการเลือกตั้งทั่วไป

2.    แล้วสหราชอาณาจักรต้องออกจากสหภาพยุโรปเมื่อไหร่

สหราชอาณาจักรมีเวลา 2 ปีในการถอนตัวจากกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเริ่มนับตั้งแต่ 29 มีนาคม 2560 ที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ เริ่มใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน (มาตรานี้ว่าด้วยสิทธิการออกจาก EU รวมทั้งระเบียบขั้นตอนการออกจากกลุ่ม) ซึ่งหมายความว่ากำหนดออกจากกลุ่มคือสิ้นไตรมาสแรกของปี 2562

3.    สหภาพยุโรปคืออะไร

สหภาพยุโรปคือสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของสมาชิก 28 ประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 1.7 ล้านตารางไมล์หรือราว 4.4 ล้านตารางกิโลเมตร และมีประชากรรวมราว 510 ล้านคน โดยมีลักษณะเป็นตลาดเดียวที่มีกฎหมาย นโยบายมุ่งสนับสนุนการเคลื่อนย้ายในด้านต่างๆ เช่น ด้านแรงงาน อย่างเสรีในกลุ่มประเทศสมาชิก รวมทั้งมีลักษณะเป็นเขตการค้าที่สมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มได้ใช้สกุลเงินยูโรเป็นสกุลเงินหลัก นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพ และการจ้างงานเช่นเดียวกับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

4.    อะไรคือ “soft” Brexit

soft Brexit หมายถึงสหราชอาณาจักรจะยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปโดยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม โดย Soft Brexit นี้จะทำให้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจกับสหราชอาณาจักรค่อนข้างน้อย เพราะสหราชอาณาจักรจะยังคงอยู่ในเขตการค้าดังเดิม

5.    อะไรคือ “hard” Brexit

ในทางตรงข้าม Hard Brexit คือการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดนโยบายการอพยพเข้าเมือง รวมทั้งเจรจาข้อตกลงการค้าได้เอง

6.    ผลที่จะเกิดขึ้นคืออะไร

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ได้เสนอข้อตกลงโดยจะเริ่มจาก soft Brexit และนำไปสู่ hard Brexit ภายในสิ้นปี 2563 และในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้สหราชอาณาจักรยังคงต้องจ่ายเงินเพื่อการเข้าถึงเขตการค้า และชำระหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว (หนี้ในที่นี้รวมถึงงบประมาณของสหภาพยุโรปที่แต่ละประเทศสมาชิกให้การสนับสนุน)

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะมีการเจรจาด้านความสัมพันธ์เช่น ข้อตกลงการค้าใหม่ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปว่าประชาชนชาวยุโรปจะสามารถทำงานและอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไปได้อีกหรือไม่

นอกจากนี้ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ได้หลีกเลี่ยงประเด็นพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ (ไอร์แลนด์เหนือเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรในขณะที่ประเทศไอร์แลนด์เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป)

การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรเรื่องแผนการแยกตัวจาก EU ของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ (ที่ถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนดจากวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้) มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การออกจาก EU แบบค่อยเป็นค่อยไป หรือแม้กระทั่งการลงประชามติครั้งใหม่

7.    นักลงทุนควรทำอย่างไร

แม้ว่านักลงทุนอาจต้องการใช้โอกาสนี้เก็งกำไรจากผลที่อาจเกิดขึ้น เรากลับมองว่าสถานการณ์การเมืองและการลงทุนที่อิงปัจจัยพื้นฐานนั้นมีความเชื่อมโยงไม่สูงมากนัก โดย Dan Kemp ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนของมอร์นิ่งสตาร์ ได้กล่าวว่า “สำหรับนักลงทุนระยะยาวนั้น การเมืองไม่ใช่ส่วนที่สำคัญมากนักในการจัดพอร์ตการลงทุน แม้ว่าเราอาจต้องการรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดได้บ้างและนำมาปรับการจัดการการลงทุน แต่ก็ไม่ควรเก็งกำไร”

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar