วิธีเลือกกองทุนหุ้นไทยแบบง่ายๆ

หากจะเลือกลงทุนกองทุนหุ้นไทย จะมีวิธีการเลือกแบบง่ายๆ ได้อย่างไร ลองมาดูกันค่ะ

Morningstar 20/12/2561
Facebook Twitter LinkedIn

ในรอบปีที่ผ่านมานี้สถานการณ์การลงทุนมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลให้ภาวะการลงทุนผันผวนค่อนข้างมาก ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เริ่มส่งผลลบชัดเจนขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ไม่สู้ดีนัก รวมทั้งเริ่มมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้นักลงทุนไม่รู้จะจัดการลงทุนยังไงในกองทุนรวมประเภทต่างๆ มอร์นิ่งสตาร์จึงมีวิธีเลือกกองทุนรวมแบบง่ายๆ มานำเสนอ โดยวันนี้จะเริ่มกันด้วยกองทุนหุ้นไทยกันก่อน

สำหรับนักลงทุนมือใหม่หลายๆ คนที่จะเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม หนึ่งในกลุ่มกองทุนที่ได้รับความสนใจคงหนีไม่พ้นกองทุนรวมหุ้นไทย แต่ด้วยจำนวนกองทุนหุ้นไทยที่มีมากถึง 193 กองทุน (ไม่รวมกองทุน LTF) อาจทำให้นักลงทุนเลือกไม่ถูก หรือไม่รู้จะคัดเลือกกองทุนยังไงดี จนสุดท้ายก็หันไปใช้วิธีลงทุนในกองทุนที่ “เขาว่าดี” นั่นเอง แต่กองทุนที่คนอื่นว่าดีนั้นอาจจะไม่เหมาะกับเราก็เป็นได้

ฉะนั้นสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเริ่มลงทุนกองทุนรวมควรคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

1.    รู้จักตัวเอง

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดก่อนจะตัดสินใจลงทุนทุกครั้งที่หลายคนอาจมองข้ามนั่นคือการรู้จักตัวเอง เหตุผลคือการรู้จักตัวเองนั้น ทำให้นักลงทุนต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า รับความเสี่ยงได้มากหรือน้อยแค่ไหน ต้องการลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ใด ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนของเงินลงทุนโดยรวมเลยทีเดียว เมื่อได้คำตอบแล้วก็จะช่วยให้วางแผนจัดพอร์ตการลงทุนได้ง่ายขึ้น เช่น รับความเสี่ยงได้น้อย รับผลขาดทุนได้น้อย ก็จะทำให้เหมาะกับทรัพย์สินเสี่ยงต่ำเช่น ตราสารหนี้ ในขณะที่หากรับความเสี่ยงได้สูง ยอมรับผลขาดทุนหรือความผันผวนของราคาทรัพย์สินได้ ก็สามารถกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้สูง เช่น ลงทุนในกองทุนหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าตราสารหนี้

2.    รู้จักกองทุน

เมื่อนักลงทุนรู้แล้วว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด ก็มาถึงขั้นตอนการเลือกกองทุนกันต่อ สำหรับกองทุนหุ้นไทยที่ได้บอกไปตอนต้นว่าปัจจุบันมี 193 กองนั้น แม้จะอยู่ในลงทุนในทรัพย์สินประเภทเดียวกัน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปที่พอจะแบ่งให้เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้

-      กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ ที่จะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าตลาดหรือ Market Cap ที่สูงเช่น หุ้นในดัชนี SET50

-      กองทุนหุ้นขนาดกลางถึงเล็ก หรือกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นอื่นๆ ที่อยู่นอกดัชนี SET50 นั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความผันผวนมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่

-      กองทุนหมวดอุตสาหกรรม คือกองทุนที่เน้นลงทุนในอุตสาหกรรมใดๆ เป็นหลัก เช่น พลังงาน ธนาคาร โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามกองทุนประเภทนี้ถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเนื่องจากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเดียวทำให้ขาดการกระจายความเสี่ยง

-      กองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นปันผล ซึ่งจะเป็นแบบที่มีนโยบายเน้นลงทุนหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูงหรือสม่ำเสมอ โดยจะสังเกตุได้ง่ายๆ คือมักจะมีคำว่า Dividend หรือ หุ้นปันผล อยู่ในชื่อกองทุน

-      กองทุนรวมดัชนี มีลักษณะการลงทุนแบบตามดัชนีชี้วัดเช่น SET50 ทำให้มีจุดเด่นที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าแบบอื่นๆ ซึ่งได้เคยพูดถึงกันไปในบทความก่อนหน้านี้

3.    รู้จักผู้บริหารกองทุน

หลังจากนักลงทุนได้เลือกแล้วว่าจะลงทุนกองทุนหุ้นแบบใด การรู้จักผู้บริหารกองทุนทั้ง บลจ. และผู้จัดการกองทุนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะพวกเขาเหล่านั้นคือคนที่นักลงทุนให้ความไว้วางใจบริหารเงินลงทุน และหากติดตามข่าวการลงทุนด้านกองทุนในต่างประเทศจะเห็นว่าข่าวการย้ายค่ายของผู้จัดการกองทุนในบลจ.ระดับโลกนั้น มักจะเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจเสมอ สำหรับกองทุนรวมในประเทศไทย นักลงทุนสามารถดูรายละเอียดในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญได้ว่า ผู้จัดการกองทุนชื่ออะไร และเริ่มบริหารกองทุนนั้นๆ มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนพอทราบถึงสไตล์การลงทุนและผลงานในอดีตที่ผ่านมาได้

4.    ผลตอบแทนและค่าธรรมเนียม

นอกจากรู้ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative) แล้ว ก็มาดูที่ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative) กันบ้าง ซึ่งทั้งผลตอบแทนและค่าธรรมเนียมเป็นตัวเลขที่บ่งบอกได้ชัดเจนที่สุดสำหรับนักลงทุน ในด้านของผลตอบแทนนั้น แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากได้ผลตอบแทนสูงๆ เหมือนกัน แต่ลักษณะสำคัญของผลตอบแทนกองทุนที่ดีนั้นควรมีความสม่ำเสมอด้วย หมายความว่าผลตอบแทนนั้นควรมีความผันผวนที่จำกัด หรือค่าที่มักใช้ในการเปรียบเทียบคือ standard deviation (SD) ซึ่งเป็นค่าที่บอกว่าความเสี่ยงของผลตอบแทนมีมากน้อยเพียงใด โดยค่า SD นี้ ถ้ายิ่งต่ำก็คือความเสี่ยงต่ำเป็นผลดีต่อนักลงทุนนั่นเอง

ในส่วนของค่าธรรมเนียมนั้นเป็นสิ่งที่มอร์นิ่งสตาร์ย้ำเสมอว่านักลงทุนควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกับกองทุนที่มีลักษณะการลงทุนคล้ายกัน ค่าธรรมเนียมที่ต่างกันจึงเป็นตัวกำหนดว่าผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับ สำหรับค่าธรรมเนียมกองทุนหุ้นไทยนั้น มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.72% ต่ำสุด 0.05%-สูงสุด 3.00%

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าการเลือกกองทุนนั้นง่ายกว่าที่คิด และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับกองทุนก็สามารถหาได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุน หรือถ้ายังไม่เข้าใจข้อมูลส่วนใดก็ควรสอบถามไปทาง บลจ. ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง และสุดท้ายนี้ขอทิ้งท้ายว่าแม้ว่าทุกๆ การลงทุนจะมีความเสี่ยง แต่อย่าลืมว่าการไม่ลงทุนก็มีความเสี่ยงเช่นกันนะคะ 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar