สรุปภาพรวมกองทุนรวมปี 2018 (2)

ดูรายละเอียดภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมกันไปแล้ว คราวนี้มาต่อกันที่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนหุ้นไทย และกองทุน LTF RMF กันเลยค่ะ

Morningstar 17/01/2562
Facebook Twitter LinkedIn

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.7 แสนล้านบาท ลดลง -15.6% จากปี 2017 โดยกลุ่ม Global Allocation มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท ลดลง -20.8% ตามมาด้วยกลุ่ม Global Bond มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8.1 หมื่นล้านบาท ลดลง -55.1% ในทางกลับกัน กลุ่มกองทุนต่างประเทศประเภทหุ้นกลับมีการเติบโตค่อนข้างดี เห็นได้จากอัตราการเติบโตของทรัพย์สินสุทธิในกลุ่ม China Equity, Global Equity และ Property - Indirect Global ที่เติบโตถึง 30.8%, 59.0% และ 95.2% ตามลำดับ

5 อันดับกองทุนต่างประเทศที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุด (ล้านบาท)

 6 TH FIF top TNA growth 2018 190114

ทั้งนี้กองทุนรวมต่างประเทศในไตรมาสที่ 4 มีเงินไหลออกสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท รวมเงินไหลออกสุทธิทั้งปี ที่ -4.3 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่ม Property - Indirect Global มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ทำให้สิ้นปีมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 7.1 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม Global Equity มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลเข้าจากกองทุนเปิดใหม่ (25 กอง) ราว 8.1 พันล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่ม China Equity มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นกองทุนเปิดใหม่ 10 กองทุน คิดเป็นเงินไหลเข้า 9.2 พันล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินเติบโต 30.8% มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปิดที่ 3.7 หมื่นล้านบาท

5 อันดับกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ที่มีเงินไหลเข้า-ออกมากที่สุดรอบปี 2018

 7 TH FIF top bottom flow in 2018 190114

กองทุน FIF ที่ลงทุนในแบบ Feeder fund มีมูลค่าทรัพย์สินรวมราว 4.0 แสนล้านบาท ลดลงราว -26% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าทรัพย์สินแบ่งเป็นกลุ่มตราสารทุน 2.3 แสนล้านบาท (คิดเป็น 56% ของมูลค่ากองทุนที่ลงทุนผ่าน Master feeder scheme) กลุ่มตราสารหนี้ 8.2 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าทรัพย์สินลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจากการไหลออกของกองทุนกลุ่ม Global Bond ซึ่งมีการไหลออกต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทางด้านส่วนแบ่งตลาดนั้น 5 บลจ. ต่างประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดได้แก่ PIMCO, BlackRock, JPMorgan, State Street, และ Deutsche รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของ 5 อันดับแรกได้ที่ 1.9 แสนล้านบาท หรือราว 47% ของมูลค่าตลาดกองทุนทั้งหมดที่ลงทุนผ่าน Master feeder

 8 TH FIF market share by asset and firm 190114

ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ

ในรอบปีที่ผ่านมามีเพียงกองทุน 9 กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก ซึ่งมี 8 กลุ่มที่เป็นทรัพย์สินประเภทตราสารหนี้และตราสารตลาดเงิน นำโดยกองทุนกลุ่ม Property Indirect ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 8.04% แม้จะลดลงเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่ 4 ก็ตาม ส่วนอีก 4 อันดับรองลงมาล้วนแต่เป็นกลุ่มตราสารหนี้แบบกำหนดอายุทั้งสิ้น

ทางด้านกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบสูงสุดอย่าง Commodities Energy แม้ช่วง 3 ไตรมาสแรกจะให้ผลตอบแทนมาเป็นอันดับต้น ๆ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้ผลตอบแทนของกลุ่มนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวติดลบสูงถึง -36.99% ตรงกันข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างทองคำ ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างโดดเด่นในไตรมาส 4 สูงถึง 7.33% จากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ด้านกองทุนหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ -8% ถึง -18%

กองทุนหุ้นกลุ่ม Equity Large-Cap แม้จะมีการฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงไตรมาสที่ 3 แต่ได้มีการปรับตัวลงในช่วงท้ายปีตามตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลง โดยปิดปีมีผลตอบแทนที่ -10.7% และส่วนกองทุนหุ้น Equity Small/Mid-Cap มีผลตอบแทนติดลบสูงถึง -16.8%

 9 TH Morningstar category average 190114

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และRMF)

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 2.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วโดยเฉพาะกองทุนหุ้นกลุ่ม Equity Large-Cap (ไม่รวม LTF - RMF) ที่กลับมาได้รับความนิยมอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นปีนั้นอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.1% ซึ่งเกิดจากกระแสเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องมาตลอดทุกไตรมาสของปี 2018 รวมเงินไหลเข้าสุทธิทั้งปีที่ 8.6 หมื่นล้านบาท การมีกระแสเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องอาจมาจากการที่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นสูงสุดตั้งแต่ต้นปีจนเป็นที่สนใจของนักลงทุนที่คาดหวังว่าผลตอบแทนอาจปรับตัวขึ้นต่อ และการปรับตัวลงของตลาดในช่วงหลังของปีก็ทำให้นักลงทุนมองเป็นโอกาสเข้าลงทุนเช่นกัน

ในทางกลับกัน กองทุนหุ้นกลุ่ม Equity Small/Mid-Cap กลับมีภาพรวมที่แตกต่างออกไป โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.0 หมื่นล้านบาท ลดลง -22.4% จากปีก่อนหน้า และมีเงินไหลออกสุทธิตลอดทั้งปีที่ -3.1 พันล้านบาท

เงินไหลเข้า-ออกสุทธิและมูลค่าทรัพย์สินกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และ RMF)

 10 TH Domestic equity flow 2018 190114

บลจ. ธนชาตมีมูลค่าทรัพย์สินกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF) สูงสุดที่ 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.7%  ตามด้วย บลจ. ไทยพาณิชย์ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 4.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.5% สำหรับอีก 3 บลจ. อย่าง บลจ. บัวหลวง, บลจ. กรุงศรี และ บลจ. ทหารไทย นั้นมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 6.4%, 4.8%, และ 37.7% ตามลำดับ รวมทรัพย์สินกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF) ของทั้ง 5 บลจ. คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 65.8%

มูลค่าทรัพย์สินกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และ RMF) แบ่งตาม บลจ. (ล้านบาท)

11 TH Domestic equity TNA by firm 2018 190114

กองทุนกลุ่ม LTF และ RMF

กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.8 แสนล้านบาท ลดลง -3.8% จากปี 2017 และ กองทุนกลุ่ม RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% แบ่งออกเป็น RMF - Equity 1.2 แสนล้านบาท หรือ 47.6% ของมูลค่ากองทุน RMF ทั้งหมด ตามมาด้วย RMF - Fixed Income มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 7.7 หมื่นล้านบาท หรือ 29.4% ของมูลค่ากองทุน RMF ทั้งหมด

มูลค่าทรัพย์สินกองทุน LTF และ RMF (ล้านบาท)

12 TH LTF RMF TNA 2018 190114

 สำหรับทิศทางเงินไหลเข้า-ออกยังคล้ายกับหลายปีที่ผ่านมา ปี 2018 กองทุน LTF มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก -4.9 พันล้านบาท  และเป็นเงินไหลเข้าในไตรมาสที่ 4 ราว 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ๆ ด้านกองทุนกลุ่ม RMF มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลเข้าจาก RMF - Equity ถึง 2.0 หมื่นล้านบาท

มูลค่าเงินไหลเข้า-ออกกองทุน LTF และ RMF (ล้านบาท)

13 TH LTF RMF flow 2018 190114

ด้านผลตอบแทนนั้น กองทุน LTF ให้ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย -11.7% และ RMF- Equity ที่ -11.1% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตามหากดูการลงทุนในระยะยาวแล้วผลตอบแทนทั้ง LTF และ RMF - Equity ยังให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจโดยเฉพาะผลตอบแทนสำหรับการลงทุนระยะ 10 ปี ที่ 12.9% และ 13.5% ต่อปี

อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน LTF และ RMF (%)

 14 TH tax saving fund return 2018 190114

 สำหรับส่วนแบ่งตลาดของกองทุน LTF และ RMF ยังคงเป็น บลจ. บัวหลวง ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดรวม (LTF-RMF) ราว 1.8 แสนล้านบาท หรือ 28.0% โดยมี บลจ. กสิกรไทย ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 22.0%, บลจ. ไทยพาณิชย์ ที่ 22.0%, บลจ. กรุงศรี 11.7% และ บลจ. ยูโอบี 5.0%

15 TH tax saving fund top 10 TNA by firm 2018 190114

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่าง ๆ ในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar