กองทุนมีตั้งมากมายจะเลือกยังไงดี

เข้าปี 2019 มาแล้วเกือบ 1 เดือน หลายคนเริ่มวางแผนลงทุนสำหรับปี แต่ปัญหาที่หลายคนเจอคือกองทุนมีเยอะแยะมากมาย จะมีวิธีการเลือกยังไงดี วันนี้ลองมาดูข้อมูลที่อาจช่วยนักลงทุนตัดสินใจเลือกกองทุนได้ง่ายขึ้นกันค่ะ

Morningstar 30/01/2562
Facebook Twitter LinkedIn

เมื่อสิ้นปี 2018 กองทุนรวมของไทยนั้นมีจำนวน 1,537 กอง แบ่งเป็นกลุ่มหลักอย่างกลุ่มหุ้น 748 กอง และตราสารหนี้ 455 กอง ในจำนวนกองทุนที่มากขนาดนี้ทำให้นักลงทุนมือใหม่อาจเกิดคำถามว่าแล้วจะเลือกกองทุนยังไงดี

เสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงสูง

ขั้นตอนแรกอาจเริ่มจากการตั้งคำถามว่าต้องการลงทุนมีความเสี่ยงต่ำหรือสูง (ซึ่งในที่นี้จะพูดถึง 2 กลุ่มหลักอย่างกองทุนหุ้นและตราสารหนี้ไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ซับซ้อนและเข้าใจได้ง่าย) ปัจจัยแรก ๆ ที่ควรคำนึงถึงคืออายุของผู้ลงทุน โดยมีหลักการง่าย ๆ คือผู้ลงทุนอายุน้อย หรือมีระยะเวลาลงทุนนานจะรับความเสี่ยงได้มากกว่าจึงควรให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างหุ้น ในทางกลับกันหากนักลงทุนไม่ชอบความเสี่ยง อายุมากขึ้น อาจรับความเสี่ยงได้น้อยลง จึงเหมาะกับการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ในสัดส่วนที่สูงกว่า เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการซื้อกองทุนสินทรัพย์ประเภทใด ก็มาถึงขั้นตอนการศึกษารายละเอียดที่ควรทราบเกี่ยวกับทรัพย์สินประเภทนั้น ๆ โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่  วิธีเลือกกองทุนหุ้นไทยแบบง่าย ๆ และ เริ่มต้นลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ 

กองใหญ่หรือเล็กดีกว่ากัน

หลังจากเลือกได้ว่าจะซื้อกองทุนประเภทใด นักลงทุนอาจสงสัยว่าแล้วจะเลือกกองทุนจากบลจ. ใดดี ซึ่งคำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด เพราะในความเป็นจริงแล้วแต่ละบลจ. มีนโยบายที่แตกต่างกันไปยกตัวอย่างเช่น กองทุนที่ลงทุนหุ้นใหญ่เหมือนกัน แต่มีกองหนึ่งเน้นไปที่หุ้นที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี บางกองทุนเน้นลงทุนเฉพาะหุ้นที่จ่ายปันผล หรือแม้กระทั่งสไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนที่แตกต่างกัน เป็นต้น หรือนักลงทุนบางท่านอาจให้ความสนใจกับขนาดของกองทุน โดยภาพด้านล่างนี้เป็นจำนวนและขนาดของกองทุนหุ้นไทย จะเห็นได้ว่าบางบลจ. มีกองทุนขนาดเล็กให้เลือกจำนวนมาก ในขณะที่บางบลจ. มีกองทุนจำนวนน้อยแต่มีขนาดใหญ่

จำนวนกองทุนหุ้นไทย-มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (ล้านบาท)

AMC TNA number of funds 2018

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018

คำถามต่อไปคือแล้วกองทุนใหญ่หรือเล็กมีผลต่อนักลงทุนอย่างไร ในด้านของผลตอบแทนนั้นถือได้ว่าขนาดของกองทุนไม่ได้มีต่อผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่าง 5 อันดับกองทุนกลุ่ม Equity Large-cap แบ่งตามขนาดใหญ่และเล็กที่สุดนั้น ผลการดำเนินงานไม่ได้มีความสัมพันธ์แปรผันไปกับขนาดของกองทุน อย่างไรก็ตามประเด็นที่นักลงทุนควรให้ความสนใจคือหากกองทุนมีขนาดใหญ่มากขึ้นแล้วอาจมีผลต่อการลงทุนเนื่องด้วยเงินลงทุนจำนวนมากอาจไม่สมดุลกับจำนวนหุ้นที่มีอยู่ในตลาด เช่น กองทุนมีเงินมากแต่จำนวนหุ้นมีให้ซื้อน้อย โดยเฉพาะหากเป็นการลงทุนหุ้นขนาดเล็กทำให้ต้องกระจายการลงทุนมากขึ้น สำหรับกองทุนที่มีขนาดเล็กมาก ๆ นั้นก็อาจมีความเสี่ยงว่าจะปิดตัวลงได้เช่นกัน

ผลตอบแทนของ 5 อันดับกองทุนหุ้น Equity Large-cap ขนาดใหญ่-เล็กที่สุด

Biggest smallest Eq Large cap 190130

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018

เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมและผลตอบแทน

ปัจจัยที่เรายังคงให้ความสำคัญเสมอคือค่าธรรมเนียมและผลตอบแทน กองทุนหุ้นกลุ่ม Equity Large-cap มีค่าเฉลี่ย Net expense ratio อยู่ที่ 1.76% และมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -10.7% กลุ่ม Equity Small/mid-cap ที่ 1.95% ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -16.8% ซึ่งความแตกต่างของค่าธรรมเนียมนั้นอาจเกิดจากนโยบายการลงทุนเช่น กองทุนรวมดัชนี หรือ Passive fund มักจะมีค่าธรรมเนียมต่ำเมื่อเทียบกับกองทุนรวมที่บริหารแบบ Active strategy ที่ต้องใช้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกหุ้นเข้ากองทุน ทางด้านกองทุนตราสารหนี้นั้นมีช่วงค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยกลุ่ม Short Term Bond มีค่าเฉลี่ย 0.53% และกลุ่ม Mid/Long Term Bond มีค่าเฉลี่ย 0.61% ทั้งนี้ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญจะมีการบอกรายละเอียดค่าธรรมเนียมกองทุน และผลการดำเนินงานย้อนแบบปักหมุดหลังทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบกองทุนกับกลุ่มได้

Net expense ratio 190130

Return 190130

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018

นอกจากการปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่นักลงทุนควรพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ความเสี่ยง ความผันผวนของผลตอบแทน ประสบการณ์ผู้จัดการกองทุน โดยนักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้งนะคะ

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar