กองทุน Global Healthcare

กองทุนกลุ่ม Global Healthcare อาจเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าใดนัก วันนี้เราลองมาดูกันว่ากลุ่มนี้มีลักษณะอย่างไร

Morningstar 08/03/2562
Facebook Twitter LinkedIn

สัปดาห์นี้ได้มีข่าวเกี่ยวกับการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ได้สำเร็จเป็นรายที่ 2 ของโลกหลังจากติดเชื้อมาตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ของโลก หรือในประเทศไทยที่ก่อนหน้านี้มีการระดมทุนเพื่อการศึกษาวิจัยยาต้านมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยมีความหวังที่จะสามารถหายจากโรคร้ายที่สมัยก่อนไม่สามารถรักษาได้ และด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ทั้งยา การวิจัย หรือเทคโนโลยีการรักษาที่มีมาอย่างต่อเนื่องนี้เองทำให้มนุษย์เรามีอายุยืนขึ้นซึ่งได้แสดงให้เห็นจากโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากขึ้นนั่นเอง

หากมองมาทางด้านของกองทุนแล้วกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวคงหนีไม่พ้นกลุ่ม Global Healthcare ซึ่งกองทุนกลุ่มนี้จะเน้นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เภสัชกรรม อุปกรณ์การแพทย์ ประกันสุขภาพ บริการทางการแพทย์ ไปจนถึงเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าค่อนข้างหลากหลายซึ่งต่างจากประเทศไทยที่มักจะเป็นธุรกิจโรงพยาบาล

กองทุนกลุ่มนี้เคยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมที่ 6.1 หมื่นล้านในปี 2015 หรือสูงเป็นอันดับ 8 ของกลุ่มกองทุน Morningstar Category มีกองทุนไทยเปิดใหม่ในปีนั้นจำนวน 12 กอง อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิจากกลุ่มนี้รวม -2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจมาจากความกังวลต่อนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่จะส่งผลต่อราคายาในสหรัฐฯ ในปัจจุบันกองทุนกลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 15 จาก 39 กลุ่ม โดยมีกองทุนทั้งสิ้น 25 กองทุน จาก 10 บลจ. และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.1% ต่อปี

190308 HC average return

190308 HC list

ที่มา : Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2019

จากตารางแสดงรายละเอียดกองทุนในกลุ่มจำนวน 25 กองทุน มีการลงทุนไปที่ Master fund และแบบกระจายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (Fund of Funds) ตัวอย่างเช่นกองทุน Bualuang Global Health Care ซึ่งเป็นกองทุนที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่ม มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 3.7 พันล้านบาท มีการลงทุนใน Master Fund เป็นหลักคือกองทุน Wellington Global Health Care Equity Fund ในขณะที่มีเพียง 3 กองทุนที่ลงทุนแบบ Fund of Funds ได้แก่ Phatra Global Healthcare, TISCO Global Healthcare Stars Plus และ TISCO Global Healthcare RMF และในปีนี้ก็มีกองทุนเปิดใหม่เพิ่มจาก บลจ. กรุงศรี อีก 2 กองทุนที่ลงทุนในกองทุนหลัก

เห็นข้อมูลแต่ละกองทุนแล้วท่านนักลงทุนอาจจะสงสัยว่าแต่ละกองทุนที่ บลจ. นำเงินไปลงทุนนั้นลงทุนต่างกันหรือไม่อย่างไรเพราะจากตารางแสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่มีการลงทุนไปที่กองทุนหลักเพียง 6 กองทุน โดยเราสามารถหาคำตอบได้จากการใช้ค่า Common Holdings ซึ่งนักลงทุนบางท่านอาจเคยคุ้น ๆ กันมาบ้าง ซึ่งค่านี้ก็คือการดูว่าแต่ละกองทุนมีการลงทุนในสินทรัพย์ตัวเดียวกันมากน้อยเพียงใด หากค่ายิ่งสูงหมายความว่ากองทุนที่เปรียบเทียบกันมีการถือครองสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งจากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าแต่ละกองทุนมีการลงทุนที่ใกล้เคียงกันไม่มากนักแม้จะเป็นอุตสาหกรรมเดียวกัน ท่านนักลงทุนที่สนใจจึงควรศึกษาข้อมูลการถือครองสินทรัพย์เพื่อให้ทราบและเข้าใจว่ากองทุนมีการลงทุนในธุรกิจหรือบริษัทใดบ้าง

190308 HC Master fund common holdings

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ควรพิจารณาเช่น กองทุนกลุ่มนี้เป็นกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมจึงมีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 7 ที่ถือว่าเสี่ยงสูง จึงอาจไม่เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย นักลงทุนควรเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมระหว่างกองทุนที่มีการลงทุนในกองทุนหลักเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ เป็นต้น

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar