ค่าธรรมเนียมกับเงินไหลเข้า-ออกกองทุน

ในช่วงที่ผ่านมามีเทรนด์การปรับค่าธรรมเนียมกองทุนลงกันอย่างต่อเนื่อง วันนี้เราลองมาดูกันในภาพรวมว่านักลงทุนมีการตอบรับกับเทรนด์นี้อย่างไรบ้าง

Morningstar 14/03/2562
Facebook Twitter LinkedIn

ค่าธรรมเนียมกองทุนในสหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่อง

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมากองทุนในสหรัฐฯ มีแนวโน้มการปรับค่าธรรมเนียมลงอย่างต่อเนื่อง จากเมื่อปี 2001 ค่าธรรมเนียมกองทุนหุ้นที่มีการบริหารเพื่อเอาชนะ Benchmark หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Active Equity Funds นั้นเคยเก็บค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยที่เกือบ 1.1% และจากข้อมูลล่าสุดอยู่ที่เฉลี่ย 0.75% ในขณะเดียวกันกองทุนตราสารหนี้อย่าง Active Bond Funds ก็มีแนวโน้มที่ไม่ต่างจากการทุนหุ้น โดยเคยเก็บค่าธรรมเนียมเฉลี่ยที่เกือบ 0.8% ในปี 2001 และปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 0.57%

สำหรับกองทุนที่มีการลงทุนตามดัชนีอ้างอิงนั้น Passive Equity Funds และ Passive Bond Funds ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน แต่จะปรับลดลงได้ช้ากว่าเนื่องจากมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำอยู่แล้ว

190313 US active passive fee

ที่มา: Morningstar Direct

กองทุนค่าธรรมเนียมถูกกว่ามีแนวโน้มได้รับเงินไหลเข้าอย่างมีนัยสำคัญ

จากกราฟจะเห็นได้ว่าในอดีตที่ผ่านมานักลงทุนอาจไม่ค่อยให้ความสนใจกับค่าธรรมเนียมกองทุนเท่าใดนัก แต่นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมาค่าธรรมเนียมกลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญค่อนข้างมาก โดยกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมในช่วง Quintiles 2-5* มีเงินไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมเฉลี่ยต่ำสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

190313 actively managed funds fee

*การแบ่งข้อมูลออกเป็น 5 กลุ่มซึ่งในที่นี้ Quintiles 2-5 หมายถึงกลุ่มกองทุนที่เก็บค่าธรรมเนียมสูงสุด 80% แรก

ที่มา: Morningstar Direct

ค่าธรรมเนียมกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นปรับตัวลง กองทุนหุ้นใหญ่ยังทรงตัว

คราวนี้มาดูที่ประเทศไทยกันบ้าง จากข้อมูลกลุ่มกองทุนหุ้นใหญ่ Equity Large-Cap ที่ไม่รวมกองทุนดัชนี (กลุ่ม SET 50 Index Fund โดย AIMC) กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) และกองทุนดัชนีกลุ่ม SET 50 Index Fund กลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยค่าธรรมเนียม (Net expense ratio) ลดลงต่อเนื่องคือกลุ่ม Short Term Bond จากราว 0.73% ในปี 2010 มาอยู่ที่ 0.51% ในปี 2018 สำหรับกลุ่มกองทุนดัชนีมีการปรับค่าธรรมเนียมลดลงตั้งแต่ปี 2013 จาก 0.95% มาที่ 0.83% ในปี 2018 ในขณะที่กองทุนหุ้นใหญ่โดยรวมยังไม่มีแนวโน้มการปรับลดค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน

190314 Eq L and STbond fund fee

ที่มา: Morningstar Direct

ต่อมามาดูกันว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่ซื้อกองทุนค่าธรรมเนียมถูกหรือแพง จากข้อมูลสัดส่วนเงินไหลเข้า-ออกสุทธิในกลุ่ม Equity Large-Cap และ Short Term Bond พบว่าในอดีตมีเงินไหลเข้าสุทธิในกลุ่มกองทุนที่เก็บค่าธรรมเนียมสูง (Quintile 4-5) มากกว่ากองทุนค่าธรรมเนียมต่ำ (Quintile 1-2) และกลุ่ม Quintile 1-2 เริ่มมีเงินไหลเข้าสุทธิในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2013 โดยเฉพาะจากกองทุนกลุ่ม Short Term Bond ทั้งนี้อาจเกิดจากผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ที่ต่ำทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการเลือกกองทุนมากกว่า ในขณะที่กองทุนหุ้นที่มีนโยบายลงทุนที่แตกต่างกันอาจทำให้นักลงทุนให้ความสนใจกับนโยบายเพื่อโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า

190314 Eq L and STbond fund fee quintile

ที่มา: Morningstar Direct

ในปัจจุบัน บลจ. เริ่มมีการนำค่าธรรมเนียมมาเป็นจุดขาย สะท้อนว่าตลาดกองทุนรวมไทยให้ความสนใจกับค่าธรรมเนียมกองทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าธรรมเนียมจะเป็นปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญในการตัดสินใจลงทุน แต่ท่านนักลงทุนก็ควรพิจารณาประกอบกับปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกันด้วยเช่น อัตราผลตอบแทนที่ขึ้นกับนโยบายการลงทุน (โดยเฉพาะกองทุนหุ้น) นโยบายการจ่ายปันผล เพื่อให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของท่านนักลงทุนนะคะ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar