Best Fund House – Domestic Equity

Morningstar Awards 2019 บริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทการลงทุนหุ้นภายในประเทศ (Domestic Equity Fund House) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มาฟังบทสัมภาษณ์จากทีมผู้จัดการกองทุนกันเลยค่ะ

Morningstar 29/03/2562
Facebook Twitter LinkedIn

Awd 2019 logo red

เป็นครั้งแรกสำหรับ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ที่สามารถคว้ารางวัลบริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทการลงทุนหุ้นภายในประเทศ ปี 2019 โดย บลจ. เอ็มเอฟซี มีกองทุนหุ้นในประเทศที่ได้ Morningstar Rating 5 ดาว ถึง 7 กองทุนด้วยกัน ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดจากการบริหารจัดการกองทุนที่คำนึงถึงการมีวินัยในการลงทุน มีการพัฒนาระบบคัดกรองหุ้น ยึดหลักการพิจารณาปัจจัยพื้นฐานร่วมกับปัจจัยทางเทคนิค และการบริหารความเสี่ยงรอบด้าน ซึ่งสะท้อนในผลตอบแทนที่โดดเด่น และรางวัลนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของ บลจ. เอ็มเอฟซี 

ในวันนี้เราจะมารู้จักบลจ. เอ็มเอฟซี ให้ดียิ่งขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษจากทีมผู้จัดการกองทุนกันค่ะ

คำถาม: ท่านคิดว่าปัจจัยใดที่ทำให้บลจ. ของท่านประสบความสำเร็จ และจุดแข็งในการบริหารจัดการกองทุนหุ้นคืออะไร

คำตอบ: ปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการกองทุนหุ้น มาจากกระบวนการลงทุนที่เหมาะสมและการมีวินัยในการลงทุนตามระบบที่วางไว้ ซึ่งนำมาสู่ผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยทีมบริหารกองทุนตราสารทุนในประเทศได้พัฒนาระบบการคัดกรองหุ้น ที่ออกแบบเพื่อรองรับการลงทุนที่เหมาะสมในทุกสภาวะตลาด นอกจากนี้ยังได้มีการประยุกต์ใช้และต่อยอดจากหลากหลายหลักการ ทั้งปัจจัยพื้นฐานควบคู่กับการปัจจัยทางเทคนิค ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงในทุกๆ ด้าน และ MFC ได้มีการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยจัดการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจลงทุนให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามส่วนที่สำคัญที่สุดมาจากทีมงานบริหารกองทุนที่มีศักยภาพสูงที่สามารถผสมผสานจุดแข็งเพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ประสบผลสำเร็จ

คำถาม: จากการที่กองทุนในต่างประเทศมีการปรับลดค่าธรรมเนียมกองทุน ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร และมีมุมมองต่อแนวโน้มการปรับค่าธรรมเนียมกองทุนในไทยอย่างไรบ้าง

คำตอบ: แนวโน้มการปรับลดค่าธรรมเนียมกองทุนนั้นได้เกิดขึ้นทั่วโลกสาเหตุหนึ่งมาจากการแข่งขันของกองทุนต่าง ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าของตนเอง รวมถึงการที่กองทุนประเภท Passive funds ที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำได้รับความนิยมมากขึ้น สำหรับประเทศไทยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงแนวโน้มดังกล่าวได้ ยิ่งในปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยให้การบริหารกองทุนมีต้นทุนที่ต่ำลง จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะใช้กลยุทธ์ในการลดค่าธรรมเนียมเพื่อใช้ในการกแข่งขันกัน ดังนั้นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแข่งขันกันลดค่าธรรมเนียม คือการพยายามที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และหาวิธีการในการลดต้นทุนต่าง ๆ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น

คำถาม: ท่านมีมุมมองอย่างไรต่อการลงทุนหุ้นไทยปี 2019 และท่านมีการวางกลยุทธ์อย่างไรเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนและ/หรือจำกัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

คำตอบ: จากแนวโน้มปัจจัยในเรื่องนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คาดว่าจะยังคงไม่เร่งรีบในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดย Fed ระบุว่าจะรอประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน รวมถึงอัตราเงินเฟื้อและข้อมูลทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่าและมีเม็ดเงินบางส่วนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ ประกอบกับผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีการเจรจากันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีท่าทีที่ประณีประนอมมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะตกลงร่วมกันได้ รวมทั้งประเทศไทยได้ประกาศจัดการเลือกตั้ง ทำให้แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นมีความชัดเจนและสดใสมากขึ้น อย่างไรก็ตามผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ คาดว่ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวไม่สูงนัก อยู่ประมาณ 4-6 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ ทำให้การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยอาจมีจำกัด ด้วยเหตุนี้กลยุทธ์การลงทุนของ MFC จึงเน้นการคัดเลือกหุ้นที่อิงกับรายได้ในประเทศมากกว่ารายได้จากต่างประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และเน้นเลือกหุ้นที่รายได้มีความผันผวนต่ำต่อสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

คำถาม: บลจ. ของท่านมีแผนการลงทุนในอนาคต หรือแนวทางการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่แบบไหน อย่างไรบ้าง

คำตอบ: บริษัทยังคงเน้นการทำธุรกิจในประเทศ โดยมีเป้าหมายการปรับปรุงผลการดำเนินงานตลอดจนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจะมีการเน้นการวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึกและปรับทีมบริหารกองทุนให้สอดคล้องกับนโยบายและปรัชญาการบริหารกองทุนของบริษัท นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะขยายไปสู่ภูมิภาคอาเซียนโดยการตั้งสาขาของ MFC ที่สิงคโปร์ภายในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายฐานลูกค้าสู่ประเทศในอาเซียนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์การลงทุนให้แก่นักลงทุนภายในประเทศอีกด้วย

คำถาม: การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงที่ผ่านมา ท่านคิดว่าจะทำให้นโยบาย หรือปรัชญาในการบริหารการลงทุน เปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร และเป็นไปในทิศทางใด

คำตอบ: การดำเนินงานในอนาคต บริษัทจะเน้นการสร้างทีมงานด้านการวิเคราะห์และวิจัยการลงทุนที่เข้มแข็งทั้งในเชิงมหภาคและจุลภาค โดยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ครอบคลุมทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน เพราะเราเชื่อว่าการทำวิจัยและวิเคราะห์เชิงลึกจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนให้ประสบผลสำเร็จในระยะยาว

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar