Best Fund House – Domestic Fixed Income

Morningstar Awards 2019 บริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทการลงทุนตราสารหนี้ภายในประเทศ (Domestic Fixed-Income) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด มาฟังบทสัมภาษณ์จากทีมผู้จัดการกองทุนกันเลยค่ะ

Morningstar 29/03/2562
Facebook Twitter LinkedIn

Awd 2019 logo red

เป็นอีกหนึ่งปีที่ยอดเยี่ยมของ บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด ที่ได้รับรางวัล บริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทการลงทุนตราสารหนี้ภายในประเทศ ซึ่งได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดย บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด ยังคงสามารถรักษามาตรฐานการลงทุนตราสารหนี้ในประเทศที่ยอดเยี่ยมทั้งกลุ่มระยะสั้นและระยะยาว โดยมีจุดแข็งด้านกระบวนการตัดสินใจลงทุน ผ่านการประสานงานที่ดีของทีมบริหารกองทุน ที่มีการประเมินสถานการณ์ สภาวะตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการร่วมงานกันในระดับภูมิภาคเพื่อวางแผนกลยุทธ์การลงทุน ส่งผลให้กองทุนมีผลการดำเนินงานกองทุนตราสารหนี้ที่ดีเยี่ยม จึงทำให้ บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัดได้รับรางวัล บริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทการลงทุนตราสารหนี้ภายในประเทศในปีนี้

เรามาทำความรู้จักกับ บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ผ่านบทสัมภาษณ์ผู้จัดการกองทุนกันค่ะ

คำถาม: ท่านคิดว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้บลจ. ของท่านประสบความสำเร็จ และ บลจ. มีความแตกต่างจากบลจ. อื่น ๆ อย่างไรบ้าง

คำตอบ: ในการบริหารกองทุนประเภทตราสารหนี้ บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล คำนึงถึงปัจจัยหลักๆ คือ 

1.  มุ่งหาผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง ซึ่งจะพิจารณาภาวะแวดล้อมทั้งตัวเศรษฐกิจในและนอกประเทศ  พิจารณาความเสี่ยงทางด้านเครดิต และสภาพคล่องของตลาดโดยร่วม นอกจากนี้ บลจ. ใช้กลยุทธ์การลงทุนโดยมองภาพตลาดในระยะยาวเพื่อให้ได้ผลตอบแทนดีในระยะยาว  สำหรับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ระยะสั้นบลจ. มีการวิเคราะห์และคาดการล่วงหน้าเป็นหลักเพื่อให้สามารถปรับพอร์ตการลงทุนได้ทันท่วงที

2.  มีวินัยในดำเนินตามแผนหรือนโยบายที่วางไว้  เพื่อให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นไปตามความเหมาะสมของนโยบายกองทุน กระบวนการตรวจสอบและติดตามทำให้ผู้จัดการกองทุนดำเนินการตามแผนและกรอบที่วางไว้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

คำถาม: หากมีการเก็บภาษีจากกองทุนตราสารหนี้ ท่านคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ มากน้อยเพียงใด

คำตอบ: คาดว่าในระยะแรกจะมีผลให้ผู้ถือหน่วยขายหน่วยลงทุนออกบ้างเพื่ออาจแสวงหาช่องทางการลงทุนอื่นที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่ในระยะยาวนักลงทุนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงสูงในตลาดอื่น ๆ จะกลับมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เช่นเดิม

สำหรับผลกระทบโดยรวมกับตลาดตราสารหนี้ คาดว่าอัตราผลตอบแทนในตลาดรองจะปรับตัวสูงขึ้นเพื่อชดเชยผลตอบแทนบางส่วนที่ลดลงจากภาระภาษี และการซื้อขายตราสารหนี้เอกชนอาจมีความคล่องตัวน้อยลง เนื่องจากผู้จัดการกองทุนจะต้องพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (coupon rate) ของหุ้นกู้แต่ละรุ่นด้วย อาจทำให้หุ้นกู้บางรุ่นที่มี coupon rate สูงมีสภาพคล่องที่ต่ำ

คำถาม: ท่านมีมุมมองอย่างไรต่อการลงทุนตราสารหนี้ไทยปี 2019 ท่านมีการวางกลยุทธ์อย่างไรเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนและ/หรือจำกัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

คำตอบ: ตลาดตราสารหนี้ในปี 2019 มีปัจจัยที่แตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา (Fed Fund Rate) ปรับตัวขึ้นมามากแล้ว และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยชะลอลง รวมทั้งดอกเบี้ยในประเทศมีการปรับขึ้นแล้วหนึ่งครั้ง แนวโน้มที่ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งยังไม่ชัดเจนแต่ยังมีความเป็นไปได้ในปีนี้ที่ดอกเบี้ยในประเทศจะถูกปรับขึ้นอีกครั้ง ปัจจัยดังกล่าวทำให้การลงทุนต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เนื่องจากราคาตราสารในตลาดปัจจุบันเป็นระดับที่ไม่ได้สะท้อนการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นตลาดอาจมีการปรับตัวแรงหากมุมมองของตลาดเปลี่ยนไปและมีปัจจัยอื่นทำให้ดอกเบี้ยมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นอีกครั้ง

กลยุทธ์ของบลจ. มุ่งเน้นความสมดุลระหว่างสภาพคล่อง และ การลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนดี รวมทั้งคงระดับอายุตราสารให้เหมาะสมกับแต่ละนโยบายกองทุน

คำถาม: ท่านคิดว่าอะไรคือจุดแข็งในการบริหารจัดการกองทุนตราสารหนี้ รวมถึงมีกระบวนการคัดเลือกตราสารเข้ามาลงทุนอย่างไร

คำตอบ: กระบวนการตัดสินใจลงทุน คณะกรรมการการลงทุน ฝ่ายบริหารความเสี่ยง และผู้จัดการกองทุน จะทำงานประสานกัน เพื่อให้การตัดสินใจลงทุนในแต่ละช่วงเป็นไปอย่างรอบคอบ และไม่ละทิ้งโอกาสที่เข้ามาใหม่  

กระบวนการคัดเลือกตราสาร : บลจ.ทำการวิเคราะห์บริษัทเพื่อนำเสนอแก่คณะกรรมการการลงทุนเพื่ออนุมัติเข้าเป็นตราสารที่ลงทุนได้ (Universe) และมีหน่วยงานบริหารความเสี่ยงให้กรอบหรือข้อจำกัดการลงทุนเพื่อให้ระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ทีมผู้จัดการกองทุนและทีมบริหารความเสี่ยงมีกระบวนการติดตามผลประกอบการของบริษัทใน Universe อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผู้จัดการกองทุน มีการติดตามปัจจัยที่จะเข้ามากระทบกับสภาวะตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น Bloomberg, S&P และข้อมูลที่ได้รับจากทีมงานในภูมิภาคมาประกอบการวิเคราะห์

การทำงานรวมกับทีมในภูมิภาค (Regional Team) : มีการประชุมร่วมกันประจำเดือนเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในแต่ละช่วงวลา  มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันทำให้สามารถมองภาพความคิดในมุมของนักลงทุนต่างชาติได้ดีอันเป็นประโยชน์ต่อการวางกลยุทธ์

คำถาม: บลจ. ของท่านมีแผนการลงทุนในอนาคต หรือแนวทางการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่แบบไหน อย่างไรบ้าง

คำตอบ: ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจเพื่อนำเสนอนักลงทุนในอนาคต ได้แก่ การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศในอาเซียนซึ่งให้ผลตอบแทนในระดับสูงกว่าในประเทศไทย อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงด้านค่าเงินที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลตอบแทนผันผวน การให้ความรู้ความเข้าใจในความเสี่ยงดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนยอมรับและเพิ่มโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar