สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาสที่ 1 ปี 2019 (2)

หลังจากดูภาพกว้างของกองทุนรวมกันไปแล้ว มาดูกันว่าหากดูรายกลุ่ม Morningstar Category นั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

Morningstar 12/04/2562
Facebook Twitter LinkedIn

หากดูการเติบโตของกลุ่มกองทุนตาม Morningstar category 10 กลุ่มแรก พบว่าอันดับมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยกองทุนกลุ่ม Short Term Bond ยังคงเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดที่ 9.2 แสนล้านบาท ลดลง -3.5% จากสิ้นปี 2018 กลุ่มกองทุนที่มีการเติบโตที่โดดเด่นได้แก่กลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term และ Aggressive Allocation มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 20.5% และ 18.7% ตามลำดับ ซึ่งเกิดจากปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิที่สูง ทำให้กลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term ขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงเป็นอันดับ 3 แทนกลุ่ม Money Market  สำหรับกองทุนหุ้นไทย ในกลุ่ม Equity Large-Cap และ Equity Small/Mid-Cap แม้ว่าทั้ง 2 กลุ่มจะมีเงินไหลออกสุทธิ แต่มูลค่าทรัพย์สินเติบโต 3.8% และ 3.3% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงต้นปี

190412 4 asset growth

ทางด้านปริมาณเงินไหลเข้า/ออกสูงสุดนั้นกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.1 แสนล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนผสม Aggressive Allocation 2.1 หมื่นล้านบาท และหากดูในภาพรวมจะพบว่ากองทุนตราสารหนี้ที่มีเงินไหลเข้าสุทธินั้นล้วนแต่เป็นกองทุนตราสารหนี้ประเภท Term fund และกองทุนประเภทตราสารทุนส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นต่างประเทศเช่น Japan Equity, Global Equity และ ASEAN Equity  

สำหรับเงินไหลออกนั้น กลุ่ม Short Term Bond เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุด -3.7 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเงินไหลออกสุทธิ 4 ไตรมาสหรือ 11 เดือนติดต่อกัน รวมเป็นเงินไหลออกสุทธิทั้งสิ้น -1.9 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่ม Equity Large-Cap เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดในประเภทกองทุนตราสารทุนที่ -3.2 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากเงินค่าขายกองทุน LTF เป็นหลัก

190412 5 asset flow by cat

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% โดยกองทุนผสมกลุ่ม Global Allocation มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุด 1.2 แสนล้านบาท ลดลง -4.2% กองทุนตราสารหนี้กลุ่ม Global Bond ยังคงมีมูลค่าทรัพย์สินสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 7.7 หมื่นล้านบาท ลดลง -4.6%  สำหรับกลุ่มตราสารทุนต่างประเทศยังคงมีมูลค่าทรัพย์สินเติบโตต่อเนื่อง โดยมี Property - Indirect Global เพิ่มขึ้น 5.7%, Global Equity เพิ่มขึ้น 13.5%, และ China Equity เพิ่มขึ้น 10.3%

190412 6 asset growth FIF

 

ในไตรมาสที่ผ่านมากองทุนต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีเงินไหลออกสุทธิรวม -3.4 หมื่นล้านบาท โดยมีกลุ่มกองทุนต่างประเทศเพียง 3 กลุ่ม ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิซึ่งได้แก่ Japan Equity, Global Equity, และ ASEAN Equity รวม 1.2 พันล้านบาท ทางด้านเงินไหลออกสุทธิยังคงมีกลุ่ม Global Allocation -1.4 หมื่นล้านบาท Global Bond -6.2 พันล้านบาท ที่ติดอันดับเงินไหลออกสูงสุด อย่างไรก็ตามกลุ่ม China Equity และ Property – Indirect Global ที่เคยเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรกเมื่อปี 2018 เริ่มมีกระแสเงินไหลออกจากกองทุน ซึ่งอาจเกิดจากนักลงทุนขายทำกำไร โดยกลุ่ม China Equity และ Property – Indirect Global ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือนล่าสุดเท่ากับ 18.3% และ 11.6% ตามลำดับ โดยผลตอบแทนกองทุนหุ้นจีนที่สูงนั้นมาจากปัจจัยบวกเช่น การหันหน้าเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้ง MSCI ได้มีการเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-Share ของจีนเข้าดัชนีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีแผนจะเพิ่มน้ำหนักเข้าดัชนีอีกในปีนี้ ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นจีนมากขึ้น โดยเห็นได้จากดัชนีที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า 20% นับจากต้นปีที่ผ่านมา

190412 7 asset flow by cat FIF

ปัจจุบัน กองทุน FIF ที่ลงทุนในแบบ Feeder fund มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 1% จากสิ้นปี 2018 และมีเพียงกลุ่มตราสารทุนเท่านั้นที่มีมูลค่าทรัพย์สินปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 6.4% ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอยู่ที่ 59% ของมูลค่ากองทุนที่ลงทุนผ่าน Master feeder scheme หรือราว 2.5 แสนล้านบาท ส่วนกลุ่มตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง -5.2% ไปที่ 7.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้หากดูส่วนแบ่งตลาดตาม บลจ. นั้นจะพบว่าแม้ บลจ. PIMCO จะมีมูลค่าทรัพย์สินลดลงต่อในไตรมาสนี้ -4.8% แต่ยังรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดไว้ได้ ในขณะที่ BlackRock ซึ่งเป็นผู้นำตลาดประเภทกองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินเติบโต 1.6% และในไตรมาสนี้มีการเปลี่ยนแปลง บลจ. อันดับ 5 คือ บลจ. UOB มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นราว 8.7% จากไตรมาสที่แล้ว ทำให้สามารถขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 5 แทน Deutsche ได้ในไตรมาสนี้ รวม 5 บลจ. มีส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งของมูลค่าทรัพย์สิน ของ Feeder Fund ทั้งหมด

190412 8 feeder fund

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar