ทำความเข้าใจค่าใช้จ่ายกองทุนรวม

นอกจากนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนกองทุนแล้ว ค่าใช้จ่ายกองทุนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ลองมาดูในรายละเอียดกันค่ะ

Morningstar 21/05/2562
Facebook Twitter LinkedIn

เมื่อนักลงทุนจะซื้อกองทุนรวม คำถามแรกที่เกิดขึ้นคือ กองไหนมีผลตอบแทนสูง แต่ก่อนที่เราจะได้ผลตอบแทนที่กองทุนระบุไว้นั้น นักลงทุนควรจะทราบด้วยว่าแต่ละกองทุนมีการคิดค่าธรรมเนียมมากน้อยเพียงใด ซึ่งในต่างประเทศนั้นค่าธรรมเนียมเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญไม่แพ้ผลตอบแทนเลยทีเดียว โดยค่าใช้จ่ายกองทุนรวมนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักดังนี้

1 ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม ซึ่งประกอบด้วย

-       ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management fee) หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าค่าฝีมือของผู้จัดการกองทุนในการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วย

-       ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee fee) ค่าใช้จ่ายแก่ผู้ดูแลผลประโยชน์ที่มีการจัดตั้งสำหรับทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วย เช่น ดูแลให้ บลจ. บริหารจัดการตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนรวมแยกไว้จากทรัพย์สินอื่น เป็นต้น ซึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

-       ค่าธรรมเนียมนายทะเบียนหน่วย (Registrar fee) หรือค่าใช้จ่ายระบบงานทะเบียนผู้ถือหน่วย

-       ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากด้านบน ได้แก่ การประชาสัมพันธ์กองทุน การส่งเสริมการขาย เป็นต้น

โดยจากทั้งหมดนี้จะถูกเรียกรวมกันว่า Total expense ratio หรือ TER ซึ่งจะบอกเป็น % ของ NAV ต่อปี แต่จะมีการหักจ่ายทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น กองทุน A มีการเก็บ TER ที่ 2% ต่อปี เท่ากับ 2%/365 จะได้เป็น0.0055% ต่อวัน โดย NAV ที่นักลงทุนเห็นรายวันนั้นจะหักสุทธิจากส่วนนี้แล้ว ทำให้นักลงทุนอาจจะไม่ทันสังเกตุว่ามีค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้

สำหรับกองทุนโดยทั่วไปจะมีค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นสัดส่วนหลักของ TER นั่นหมายความว่าหากกองทุนมีกลยุทธ์หรือนโยบายที่ต้องใช้ทักษะ ความสามารถของผู้จัดการกองทุนมากเท่าใด ก็มักจะสะท้อนในค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เรามักเห็นกองทุนบริหารแบบเชิงรับเช่นกองทุนหุ้นที่ลงทุนตามดัชนีมีค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ต่ำกว่ากองทุนหุ้นแบบ Active หรือกองทุนที่ลงทุนในประเภททรัพย์สินที่เข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน เช่น ตราสารตลาดเงินก็จะมีค่าใช้จ่ายต่ำ และสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความยากของการบริหารเช่น ตราสารหนี้ หุ้นในประเทศ ไล่ไปจนถึงหุ้นต่างประเทศก็จะมีค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น

2 ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย จะบอกเป็น % ของมูลค่าซื้อขายหรือเก็บเมื่อเกิดรายการซื้อขาย ซึ่งประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ค่าธรรมเนียมสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน เป็นต้น โดยจะมีวิธีการคิดที่ตรงไปตรงมา เช่น กองทุน B มี มูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) อยู่ที่ 9.7254 บาทต่อหน่วย ราคาขายอยู่ที่ 9.8227 บาทต่อหน่วย การเก็บค่าธรรมเนียมการขายที่ 1.00% และไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน ซึ่งจากตัวเลขสามารถลองคำนวณได้โดย (9.8227-9.7254)/9.7254 x 100 = 1.00% ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่แจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวนนั่นเอง

สุดท้ายนี้ขอฝากนักลงทุนว่าค่าธรรมเนียมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนต้องเลือกกองทุนที่ค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดเท่านั้น เพราะในบางครั้งกองทุนที่เก็บค่าธรรมเนียมสูง ก็อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าทำให้ค่าธรรมเนียมนั้นคุ้มค่าที่จะจ่าย หรือกองทุนค่าธรรมเนียมต่ำก็อาจให้ผลตอบแทนที่ต่ำได้เช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาหาข้อมูล หรือเปรียบเทียบกองทุน พร้อมทั้งพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบก่อนการลงทุนทุกครั้งนะคะ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar