การจัดเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้

การจัดเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากสำหรับกองทุนรวมในตอนนี้ นักลงทุนหลายท่านคงสงสัยว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง

Morningstar 28/05/2562
Facebook Twitter LinkedIn

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 โดยเป็นการแก้ไขเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งมีการกำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังจากพ้น 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม 2562

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ

การลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมในปัจจุบันจะไม่เสียภาษี ในขณะที่การลงทุนตราสารหนี้โดยตรงจะเสียภาษี ดังนั้นการประกาศแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำให้กองทุนรวมที่ลงทุนตราสารหนี้ถูกจัดเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างการลงทุนตราสารหนี้ทั้ง 2 แบบ โดยจะมีการเก็บภาษีที่อัตรา 15% จากส่วนของดอกเบี้ย ส่วนลดรับ หรือเงินได้ที่มีลักษณะเดียวกับดอกเบี้ย ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้จะเป็นผู้หักภาษีไว้ อย่างไรก็ตามจะมีการยกเว้นสำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และกองทุนเพื่อผู้ลงทุนที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (MF for PVD)

เนื่องด้วยปัจจุบันยังไม่ถึงกำหนดการมีผลบังคับใช้ของ พ.ร.บ. ดังนั้นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ในปัจจุบันจะยังไม่มีภาระการเสียภาษี และกองทุนรวมจะมีภาระทางภาษีเฉพาะในส่วนที่เป็นตราสารหนี้ที่ลงทุนหลังจากวันที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้

สำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยเป็นการเสียภาษี 15% ของรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งหากมีการหักภาษีจากประเทศต้นทางแล้วแต่ต่ำกว่า 15% กองทุนรวมจะต้องมีการหักภาษีในส่วนต่างและนำส่งกรมสรรพากรเพื่อให้มีการเสียภาษีเท่าเทียมกัน และไม่ทำให้เกิดการเสียซ้ำซ้อน

ทางด้านส่วนของ Capital Gain และเงินปันผล หากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี ในขณะที่กองทุนรวมอื่น ๆ จะได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะในส่วน Capital Gain แต่จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% สำหรับเงินปันผลโดย บลจ. เป็นผู้หัก ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะนำคำนวณรวมกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

แล้วที่ผ่านมาตลาดมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้างกับข่าวนี้?

หากมาดูที่ข้อมูลกระแสเงินไหลเข้า-ออกสุทธิกองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งหมดพบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.1 แสนล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนเปิดใหม่ 3.9 แสนล้านบาท โดยมีกองทุนตราสารหนี้เปิดใหม่จำนวน 157 กอง ต่างจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีกองทุนเปิดใหม่เพียง 20 กอง แสดงให้เห็นว่าทาง บลจ. ได้มีการเตรียมการรับมือกับประเด็นภาษีโดยการออกกองทุนใหม่ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามประเด็นที่นักลงทุนกังวลกันค่อนข้างมากคือเรื่องผลตอบแทนที่ลดลง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผลกระทบต่อผลตอบแทนนั้นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากกองทุนจะค่อย ๆ มีสัดส่วนตราสารหนี้ที่ลงทุนใหม่แทนที่ตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด

จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมตราสารหนี้อยู่ที่ 1.9% ต่อปี ยกตัวอย่างกลุ่ม Short Term Bond ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.1% ต่อปี หากเริ่มมีการเก็บภาษีนั่นไม่ได้หมายความว่าผลตอบแทนจะลดลงเหลือ 0.9% ในทันที แต่จะค่อย ๆ ลดลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนตราสารที่มีภาระทางภาษีที่กองทุนรวมนั้น ๆ ถือครองอยู่

Fixed income category return Apr 2019

ที่มา : Morningstar Direct ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2019

ผลตอบแทนที่ลดลงอาจทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าการลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมมีความน่าสนใจน้อยลง แต่ก็จะพบว่ายังสูงกว่าการฝากเงิน (แต่ก็มีความเสี่ยงต่ำกว่า) พร้อมทั้งเป็นการลงทุนโดยมีมืออาชีพเป็นผู้บริหารจัดการ หรือหากการเก็บภาษีมีผลกับท่านนักลงทุนค่อนข้างมาก อาจลองพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินหรือกองทุนประเภทอื่นเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นแต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar