กองทุนรวมหุ้นจีน vs สหรัฐฯ

ในช่วง 1 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมาการลงทุนทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา วันนี้มาดูกันว่ามีผลกระทบต่อกองทุนรวมอย่างไรบ้าง

Morningstar 12/06/2562
Facebook Twitter LinkedIn

ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องในรอบ 1 ปีกว่าที่ผ่านมานี้สำหรับสหรัฐฯ และจีน ที่เริ่มจากสหรัฐฯ เก็บภาษีกับสินค้านำเข้าที่มีจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกเช่น แผงพลังงานแสงอาทิตย์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์อิเล็กโทรนิกส์ ไปจนถึงสงครามทางเทคโนโลยี (Tech war) ในขณะเดียวกันก็มีมาตรการภาษีตอบโต้จากทางฝั่งประเทศจีนเช่นกัน และล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่าจะเก็บภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากการเจรจากับจีนไม่คืบหน้าในการประชุม G-20 ที่ประเทศญี่ปุ่นช่วงปลายเดือนนี้

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศก็เริ่มส่งสัญญาณการได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ล่าสุดดัชนี manufacturing PMI ของสหรัฐฯ รอบเดือนพฤษภาคมลดลงเหลือ 50.5 จาก 52.6 ในเดือนเมษายน ส่งสัญญาณภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง หรือตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ ก็น้อยกว่าที่คาดด้วย ทางด้าน manufacturing PMI ของประเทศจีนก็ลดลงมาอยู่ที่ 49.4 ต่ำกว่าเดือนเมษายนที่ 50.1 ทำให้ตลาดยังคงมีความกังวลว่าหากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีนและเม็กซิโกยังยืดเยื้ออาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสถดถอย (ดัชนี PMI: Purchasing Managers’ Index หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต มักถูกใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ หากมีค่ามากกว่า 50 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว และต่ำกว่า 50 แสดงถึงการหดตัว)

หากมาดูที่ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และจีนในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี กองทุนกลุ่ม US Equity ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย YTD ที่ 9.5% และกองทุนกลุ่ม China Equity เฉลี่ยอยู่ที่ 9.3% โดยมีปัจจัยมาจากเมื่อช่วงต้นปีมีสัญญาณการเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศ แต่หากดูที่ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะ 1 ปี พบว่าทั้ง 2 กลุ่มยังคงให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ โดยกลุ่ม US Equity เฉลี่ยที่ -1.3% กลุ่ม China Equity เฉลี่ยที่ -13.4% ทั้งนี้หากนักลงทุนสังเกตที่ค่า Max Drawdown หรือผลขาดทุนสูงสุดจะพบว่าทั้งกองทุนหุ้นสหรัฐฯ และจีนมีค่าเฉลี่ยติดลบที่มากกว่าหุ้นไทย โดยเฉพาะกองทุนหุ้นจีนที่เคยมีค่าเฉลี่ย Max Drawdown มากถึง -34.6% ในช่วง 5 ปี ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่มากกว่าที่มาพร้อมกับผลตอบแทนที่มากกว่าในบางช่วงเวลา

190611 US China return TH web

ที่มา : Morningstar Direct ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2019 (ผลตอบแทน 3 ปีและ 5 ปีเป็น % ต่อปี)

ทางด้านปริมาณเงินไหลเข้า-ออกสุทธิ ในช่วงปี 2018 มีเงินไหลเข้ากองทุนหุ้นจีนรวม 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ไหลออกจากกองทุนหุ้นสหรัฐฯ ราว 2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปีมีการฟื้นตัวของตลาดหุ้น 2 ประเทศ ทำให้นักลงทุนมีการขายทำกำไรออกมาบ้างแล้ว โดย 5 เดือนแรกของปีนี้มีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนหุ้นจีนและหุ้นสหรัฐฯประมาณ -2.9 พันล้านบาทและ -1.8 พันล้านบาท ตามลำดับ

US china equity flow 190612

ที่มา : Morningstar Direct ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2019

การลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และจีนเป็นสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรพิจารณาความเสี่ยงเช่น อัตราแลกเปลี่ยน ผลกระทบจากสงครามการค้า โดยนักลงทุนควรกำหนดสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar