ทำความเข้าใจ Morningstar Sustainability Rating

การลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในต่างประเทศ ทางมอร์นิ่งสตาร์เองก็ให้ความสำคัญกับกองทุน ESG เช่นกัน โดยในปีนี้ได้ทำการปรับปรุง Morningstar Sustainability Rating เพื่อเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนประเมินกองทุนได้ง่ายขึ้น

Morningstar 25/07/2562
Facebook Twitter LinkedIn

Morningstar Sustainability Rating คืออะไร

Morningstar เปิดตัว Morningstar Sustainability Rating เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016 เพื่อเป็นเครื่องวัดว่าหลักทรัพย์ที่กองทุนถือครองอยู่มีการดำเนินงานในแง่ของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ที่ดีมากน้อยเพียงใดโดยแสดงในรูปแบบของรูปลูกโลก (Globe) ตั้งแต่ 1-5 ลูกโลก การคำนวณใช้คะแนนที่ผ่านการวิเคราะห์ (รายบริษัท) โดย Sustainalytics ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ด้าน ESG ครอบคลุมมากกว่า 10,000 บริษัททั่วโลก และมากกว่า 140 บริษัทในประเทศไทย

ในปี 2018 Sustainalytics เริ่มเปิดตัว ESG Risk Rating ซึ่งเป็นการวัดว่าความเสี่ยงด้าน ESG จะมีผลกระทบต่อบริษัทในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

และในปีนี้ Morningstar จะมีการปรับปรุงเพื่อยกระดับ Morningstar Sustainability Rating โดยใช้ 1) ESG Risk Rating แทน ESG Rating 2) เริ่มใช้ buffer สำหรับการจัดอันดับเพื่อให้เรตติ้งกองทุนมีความเสถียรมากขึ้น 3) มีเกณฑ์การจัดการกองทุนที่มีความเสี่ยงด้าน ESG สูง ซึ่งการปรับวิธีการให้เรตติ้งในครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 31 ตุลาคม 2019 เป็นต้นไป

วิธีการคำนวณ

การคำนวณ Morningstar Sustainability Rating ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลักคือ 1) คำนวณ Morningstar Portfolio Sustainability Score รายเดือนในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง 2) นำคะแนนที่ได้มาหา Morningstar Historical Portfolio Sustainability Score และสุดท้าย 3) จัด Morningstar Sustainability Rating ให้แต่ละกองทุนโดยเทียบกับกองทุนใน Morningstar Global Category

ขั้นตอนแรก : คำนวณ Morningstar Portfolio Sustainability Score

Morningstar Portfolio Sustainability Score จะคำนวณโดยใช้ ESG Risk Rating จาก Sustainalytics ถ่วงด้วยน้ำหนักของหลักทรัพย์ที่กองทุนถืออยู่ ซึ่ง ESG Risk Rating จะเป็นการวัดระดับความเสี่ยงด้าน ESG ซึ่งอาจส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของบริษัท โดยประเด็นที่นำมาพิจารณานั้นจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท ดังนั้นบริษัทที่อยู่ในแต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีประเด็นการพิจารณาที่แตกต่างกันไป

190628 Port Sust Score New

ช่วงคะแนน ESG Risk Rating จะเป็น 0 ถึง 100 โดยค่าคะแนนต่ำบอกถึงความเสี่ยงต่ำ เช่น 0 บ่งชี้ว่าบริษัทมีการจัดการความเสี่ยงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยแบ่งเป็นระดับความเสี่ยง ESG ดังนี้

190701 ESGRisk Rating Sust

ความแตกต่างจากวิธีการคำนวณในปัจจุบัน

สำหรับวิธีการคำนวณคะแนนในขั้นตอนแรกนี้มีความแตกต่างจากวิธีการคำนวณในปัจจุบันซึ่งจะใช้คะแนน Portfolio ESG Score หักด้วย Portfolio Controversy Deduction นั่นหมายความว่าวิธีเดิมจะเป็นการดูว่าบริษัทมีการจัดการกับความเสี่ยงด้าน ESG ในภาพรวมมากน้อยเพียงใด ในขณะที่การรูปแบบใหม่จะเป็นการดูความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญในแต่ละหมวดธุรกิจทำให้สามารถเปรียบเทียบบริษัทที่อยู่ต่างอุตสาหกรรมโดยใช้ ESG Risk Rating ได้

ขั้นตอนที่ 2 : Morningstar Historical Portfolio Sustainability Score

เนื่องด้วย Morningstar Sustainability Rating เป็นการให้คะแนนโดยไม่ได้ใช้เพียงข้อมูลล่าสุดในการพิจารณา จึงต้องมีการคิด Morningstar Historical Portfolio Sustainability Score ซึ่งก็คือ Portfolio Sustainability Score ที่มีการถ่วงน้ำหนักตามช่วงเวลาโดยพอร์ตการลงทุนที่ใหม่กว่าจะมีน้ำหนักที่มากกว่าเพื่อสะท้อนความเป็นปัจจุบัน

190628 His Port Sust Score New

หมายเหตุ : ค่า i คือจำนวนเดือนจากปัจจุบัน

ขั้นตอนที่ 3 : Morningstar Sustainability Rating

เมื่อได้ Morningstar Historical Portfolio Sustainability Score ของแล้ว แต่ละกองทุนจะได้รับการจัดเรตติ้งโดยแบ่งเป็น 5 ระดับ กองทุนที่มีคะแนนความเสี่ยง ESG ต่ำสุด 10% แรกจะได้ 5 ลูกโลก 22.5% ถัดไปได้ 4 ลูกโลก 35% ถัดไปได้ 3 ลูกโลก 22.5% ถัดไปได้ 2 ลูกโลก และ 10% สุดท้ายที่มีความเสี่ยงสูงสุดจะได้ 1 ลูกโลก ในลักษณะเดียวกันกับ Morningstar Rating หรือการให้ดาว

การให้คะแนน Morningstar Sustainability Rating จะเกิดจากการเปรียบเทียบกับกองทุนใน Morningstar Global Category เดียวกัน ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่แตกต่างจาก Morningstar Category ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มกองทุนหุ้นไทยที่เรารู้จักจะมี Equity Large-Cap และ Equity Small/Mid Cap แต่หากนำมาคำนวณ Morningstar Sustainability Rating จะถูกนำไปเทียบกับกองทุนใด ๆ ที่ลงทุนในหลักทรัพย์/บริษัทเดียวกันแม้ว่าจะเป็นการลงทุนในสกุลเงินที่ต่างกันหรือโดยบลจ.ต่างประเทศ ซึ่งในกรณีนี้จะเป็นกลุ่ม Thailand Equity นั่นเอง

190701 MSust Ratingscale

เกณฑ์ Buffer สำหรับเรตติ้ง

เพื่อให้เรตติ้งกองทุนไม่เปลี่ยนแปลงไปมาหากกองทุนมีคะแนนเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ใกล้กับจุดตัดคะแนน มอร์นิ่งสตาร์จึงมีการเริ่มใช้เกณฑ์ buffer ในการให้เรตติ้ง โดย buffer จะเป็น 1% ยกตัวอย่างเช่นหากกองทุนที่มีคะแนนอยู่ในช่วง 10% บนสุด (5 globe) จะถูกปรับลงเป็น 4 globe ได้นั้นจะต้องมีคะแนนมากกว่าช่วงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 11 ก่อน ในทางกลับกัน หากกองทุนที่ได้ 4 ลูกโลกจะถูกปรับขึ้นมาเป็น 5 ลูกโลกได้ต้องมีคะแนนเปอร์เซ็นไทล์ที่ 9 หรือดีกว่า

190724 buffer rule THarticle

กรณีคะแนน Historical Portfolio มากกว่าหรือเท่ากับ 30

จากด้านบนที่ได้กล่าวถึงช่วงคะแนน ESG Risk โดยจะเห็นได้ว่าหากคะแนนมากกว่า 30 จะถือเป็นช่วงคะแนนที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นทางมอร์นิ่งสตาร์ได้กำหนดเกณฑ์ให้ว่าหากกองทุนมีคะแนน ESG Risk มากกว่า 30 จะสามารถมีเรตติ้งได้สูงสุด 3 ลูกโลก มากกว่า 35 จะได้สูงสุด 2 ลูกโลกและมากกว่า 40 ได้ 1 ลูกโลก

มอร์นิ่งสตาร์คาดว่ารูปแบบเรตติ้งใหม่นี้อาจทำให้กองทุนราว 43% มีจำนวนลูกโลกเพิ่มขึ้นหรือลดลง 1 ลูกโลก ราว 24% จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง 2 ลูกโลก และอีก 33% จะยังคงจำนวนลูกโลกเท่าเดิม มอร์นิ่งสตาร์จะเริ่มใช้วิธีการให้เรตติ้งแบบใหม่วันที่ 31 ตุลาคม 2019 นี้ โดยจะใช้กับพอร์ตการลงทุน ณ วันที่ 30 กันยายนเป็นต้นไป

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar