5 คำแนะนำสำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่

เพราะนักลงทุนแต่ละกลุ่มมีเป้าหมายการลงทุนที่ต่างกันจึงอาจจะต้องมีแผนการลงทุนที่ต่างกัน วันนี้มอร์นิ่งสตาร์มีคำแนะนำสำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่มาฝากกันค่ะ

Morningstar 01/08/2562
Facebook Twitter LinkedIn

นักลงทุนที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ถึง 30 กว่าเป็นกลุ่มที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานหรือเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวอาจจะไม่มีต้นทุนด้านการเงินมากนัก แต่นักลงทุนกลุ่มนี้มีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนที่อายุมากกว่าอาจต้องอิจฉา นั่นคือการมีระยะเวลาการออมเงินที่ยาวนานกว่า รวมทั้งสามารถรับความเสี่ยงต่อความผันผวนได้มาก ทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า และวันนี้มอร์นิ่งสตาร์มีคำแนะนำสำหรับนักลงทุนในช่วงวัยดังกล่าวมาฝากกันค่ะ

จัดการหนี้สิน

สำหรับท่านใดที่จะเริ่มออมเงินอาจจะต้องจัดการหนี้สินกันก่อนที่จะมีการลงทุนเพราะการนำเงินไปลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในขณะที่ยังมีหนี้สินอยู่นั้น สุดท้ายแล้วผลตอบแทนจากการลงทุนอาจน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้สินที่ต้องชำระก็เป็นได้ ดังนั้นแนวทางคือควรจัดการหนี้สินก่อนที่จะนำเงินที่เหลือมาลงทุน

ลงทุนด้าน Human Capital

หากเราพูดถึงการลงทุนแล้ว ช่วงวัย 20 ถึง 30 กว่านี้ถือเป็นวัยที่เหมาะสมอย่างมากสำหรับการลงทุนด้าน Human Capital ซึ่งหมายถึงการศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนเพื่อพัฒนาความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหรือสูงกว่าหรือการเทรนนิ่งใดก็ตาม หากยิ่งเริ่มได้เร็วก็จะมีโอกาสและเวลาสร้างผลตอบแทนได้นานยิ่งขึ้น

สำรองเงินไว้ยามฉุกเฉิน

สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนที่เริ่มออมเงินคือการรักษาเงินออมรวมทั้งมีเงินอีกส่วนหนึ่งไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน ตัวอย่างที่ควรพิจารณาอาจเป็นการทำประกันด้านที่จะส่งผลด้านการเงินโดยตรงหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ประกันสุขภาพ ประกันทุพพลภาพ ประกันภัยรถยนต์ ประกันชีวิต เป็นต้น การมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากการมีเงินไว้ใช้ทำให้เราไม่ต้องหันไปหาแหล่งเงินทุนอื่น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล หรือนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาใช้กรณีว่างงานหรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

เริ่มออมเงินเพื่อวัยเกษียณ

กลุ่มคนที่เริ่มออมเงินมักจะยังไม่คำนึงถึงการออมเงินเพื่อวัยเกษียณด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาจเกิดจากการเน้นออมเพื่อเป้าหมายระยะสั้นเช่น เพื่อดาวน์บ้าน/คอนโดหลังแรก รถยนต์คันแรก หรือการแต่งงาน หรือเหตุผลด้านจิตวิทยาก็ส่งผลเช่นกัน เราอาจมองว่ามีเวลาอีกตั้ง 30-40 ปีที่จะออมทำให้ไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากนัก แต่หากมองประโยชน์ของดอกเบี้ยทบต้น (compounding interest) แล้วกลุ่มคนอายุน้อยจะได้ประโยชน์มากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก อายุ 22 ปี เริ่มออมเงินเดือนละ 200 บาทได้ผลตอบแทนที่ 5% ต่อปีจะมีเงินมากกว่า 362,000 บาทเมื่ออายุ 65 ปี ในขณะที่ นาย ข เริ่มออมเงินตอนอายุ 35 ปีด้วยเงิน 300 บาทต่อเดือน และได้ผลตอบแทนที่ 6% เมื่ออายุ 65 ปีจะมีเงินราว 3 แสนบาทเศษ จาก 2 กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการออมช้าไป 10 ปีทำให้พลาดโอกาสการได้ประโยชน์จากการ compounding แม้ว่าจะออมด้วยเงินที่มากกว่าและได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าซึ่งก็เป็นการย้ำประโยชน์ของการยิ่งออมเร็วยิ่งดี (แม้จะด้วยจำนวนเงินไม่มาก)

ลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนจะต้องเคยมีการประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุนเพื่อให้ผู้แนะนำสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหัวใจสำคัญของการประเมินที่นักลงทุนควรคำนึงถึงคือผลขาดทุนมากที่สุดเท่าไหร่ที่ไม่ส่งผลกับแผนการเงินหรือการดำเนินชีวิต ดังนั้นในกรณีของนักลงทุนที่อายุไม่มากนั้นมักจะมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่สูงกว่าเนื่องจากยังไม่มีความต้องการใช้เงินออม พอร์ตการลงทุนจึงเหมาะกับการมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่สูงกว่า ในทางกลับกันหากท่านใดมีวัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะสั้น เช่น การซื้อบ้าน การลงทุนในตลาดหุ้นที่ผันผวนอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมเท่าใดนัก

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับคำแนะนำง่าย ๆ 5 ข้อ ทางมอร์นิ่งสตาร์หวังว่านักลงทุนจะลองเอาไปปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ หรือเพื่อเป็นแนวทางเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การออมเงินกันนะคะ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar