การประมาณเงินทดแทนรายได้วัยเกษียณ

การมีเงินใช้เพียงพอยามเกษียณอาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนของหลายท่าน วันนี้มอร์นิ่งสตาร์รวบรวมปัจจัยหลักที่ควรคำนึงถึงเพื่อเป็นแนวทางแก่นักลงทุนกันค่ะ

Morningstar 24/10/2562
Facebook Twitter LinkedIn

ปัจจุบันนักลงทุนอาจต้องเผชิญความท้าทายในการได้มาซึ่งกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องจากการลงทุนในยุคที่ผลตอบแทนต่ำเช่นนี้ แต่การประมาณกระแสเงินสดที่ “จำเป็น” ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายนักเช่นกัน บางคนอาจแนะนำว่าอยู่ที่ประมาณ 75%-80% ของรายได้เดิม แต่จากการศึกษาของมอร์นิ่งสตาร์โดย David Blanchett ตำแหน่ง Head of Retirement Research ระบุว่าอาจมีหลายตัวแปรที่ส่งผลกระทบ เช่น รายได้ก่อนวัยเกษียณ อัตราการออมเงิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลัก จากการศึกษาพบว่า รายได้และการออมเงินของครัวเรือนที่สูงอาจทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เงินในวัยเกษียณเพียง 60% (หรือต่ำกว่า) ของรายได้ก่อนเกษียณ ในขณะที่คนมีรายได้น้อย ออมน้อยอาจต้องประมาณไว้ที่ 90%

อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะประมาณเงินทดแทนรายได้ในวัยเกษียณได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าจะกำหนดทุกรายจ่ายแล้วแต่ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาล ที่อาจเพิ่มค่าใช้จ่ายได้มากกว่าที่คิด แต่การประมาณตัวเลขนี้ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์หากอ้างอิงตามพื้นฐานความเป็นจริงโดยมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงดังนี้

ปัจจัยแรก การประมาณตัวเลขพื้นฐานตามความเป็นจริง

หัวใจสำคัญของการหาค่าเงินทดแทนนั้นคือรายได้เดิมในวัยทำงาน หากนักลงทุนอยู่ในวัยใกล้เกษียณและต้องการมีคุณภาพชีวิตเช่นเดิมหลังเกษียณแล้ว การใช้รายได้หรือเงินเดือนปัจจุบันก็อาจจะเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผล แต่ถ้าหากกำลังอยู่ในวัย 40 กว่าก็อาจจะขยับตัวเลขรายได้ขึ้นมาอีกหน่อยเพื่อให้สะท้อนความต้องการในการใช้จ่ายจริงในอนาคตได้มากขึ้น

ปัจจัยที่ 2 อัตราส่วนเงินออมและส่วนของภาษีที่ถูกหักไป

ส่วนนี้จะเป็นการดูว่าเรามีการออมเงินเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของเงินเดือนแล้วนำส่วนนั้นมาหักออกจากข้อแรก ยกตัวอย่างเช่น A มีเงินได้ 50,000 บาทต่อเดือน มีการออมเงินเฉลี่ย 10,000 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าออมเงินเป็น 20% ของรายได้ ทำให้อัตราความต้องการเงินทดแทนอยู่ที่ 80% ของรายได้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้มีรายได้สูงมักจะมีอัตราเงินทดแทนที่ต่ำกว่าผู้มีรายได้น้อยนั้นเกิดจากกลุ่มแรกออมเงินในสัดส่วนที่มากกว่า ทำให้ความต้องการรายได้เพื่อการดำรงชีวิตน้อยลงนั่นเอง ทางด้านภาษีนั้นเมื่อถึงวัยเกษียณแล้วหลายคนจะเริ่มเห็นว่าประหยัดภาษีได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกับคนที่มีรายได้สูงก็จะเห็นชัดกว่าเนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสียภาษีมากกว่า

ปัจจัยที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญขึ้นอยู่กับการวางแผนของแต่ละคนเช่น ต้องการเกษียณโดยอาศัยอยู่ที่เดิมหรือไม่ หรือการขายบ้านเดิมที่ใหญ่กว่าเพื่อย้ายไปอยู่บ้านที่เล็กลงก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายได้เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าซ่อมบำรุงรักษาอื่น ๆ เป็นต้น

ปัจจัยที่ 4 การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตหรือ lifestyle

การวางแผนวัยเกษียณควรมีการคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปจากเดิมเช่น ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสำหรับทำงาน ค่าอาหารในแต่ละวัน สำหรับบางท่านค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจไม่เปลี่ยนไปมากนักแต่อาจตรงกันข้ามกับบางท่านโดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในเมือง จากการศึกษาข้อมูลระบุว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารอาจลดลง 5%-10% ในวัยเกษียณ เพราะนอกจากจะมีเวลาเตรียมอาหารเองแล้วกลุ่มคนวัยเกษียณอาจมีเวลาสำหรับเลือกจับจ่ายซื้อของที่ช่วยให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลดลงด้วย แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในส่วนของ lifestyle ไม่ได้หมายความว่าค่าใช้จ่ายจะต้องลดลงเสมอไป หากนักลงทุนมีแผนท่องเที่ยงในวัยเกษียณ ค่าใช้จ่ายที่ลดลงอาจถูกแทนที่ด้วยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวก็เป็นได้

ปัจจัยที่ 5 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้อาจจะพอจินตนาการได้ว่าเมื่อเกษียณแล้วค่าใช้จ่ายโดยรวมจะลดลง แต่ในด้านค่ารักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพนั้นเป็นส่วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงวัยโดยเฉลี่ยจะมากกว่าประชากรโดยทั่วไปเกือบ 2 เท่าซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นและปรับขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาเกษียณโดยเฉพาะในช่วงปลาย ซึ่งคุณ David ได้เรียกว่า retirement spending smile ซึ่งหมายถึงกราฟการใช้จ่ายวัยเกษียณที่จะสูงในช่วงแรกที่เกิดจากการท่องเที่ยวและพักผ่อน หลังจากนั้นจะลดลงในช่วงกลาง และสูงขึ้นในช่วงปลายจากความจำเป็นในการรักษาพยาบาล ซึ่งลักษณะกราฟจะคล้ายรอยยิ้มนั่นเอง

จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาจช่วยให้นักลงทุนสามารถประมาณเงินทดแทนรายได้ในวัยเกษียณได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่ายังอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นที่คาดไม่ถึงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีการทำประกันในระยะยาวหรือประกันที่มีการจำกัดการรับประโยชน์ในบางกรณี นอกจากนี้ผู้สูงวัยบางท่านอาจจะเผชิญกับค่าใช้จ่ายจากญาติหรือลูกหลานที่จะทำให้มีภาระสูงขึ้นไปอีก ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องปรับประมาณการตัวเลขเผื่อขึ้นไปอีกหน่อยเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนั่นเอง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar