ครบรอบ 15 ปีกองทุน LTF

เมื่อเดือนตุลาคมปี 2004 ได้มีการจัดตั้งกองทุน LTF กองแรกขึ้น ผ่านไป 15 ปีวันนี้มอร์นิ่งสตาร์จึงขอสรุปข้อมูลกองทุน LTF ในบางแง่มุมมาให้ลองติดตามกันค่ะ

Morningstar 31/10/2562
Facebook Twitter LinkedIn

หากพูดถึงกองทุน LTF นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกองทุนยอดนิยม หรือเป็นกองทุนที่ช่วยให้นักลงทุนหลายท่านเริ่มลงทุนกับกองทุนรวมเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อมองย้อนไปเมื่อแรกเริ่มการจัดตั้งกองทุน LTF ในปี 2004 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว กองทุน LTF มีจำนวน 22 กอง มูลค่าทรัพย์สินรวมเพียง 5.6 พันล้านบาท ในขณะที่ ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมากองทุน LTF มีทั้งหมดจำนวนรวม 93 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.9 แสนล้านบาท หรือมีการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 30% ต่อปี เทียบกับกองทุนหุ้นไทยที่เป็นกองทุนเปิดทั่วไปที่เติบโตเฉลี่ยเพียงราว 9% ต่อปี แสดงให้เห็นว่ากองทุน LTF ได้รับความสนใจมากกว่ากองทุนหุ้นไทยที่เป็นกองทุนเปิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุน LTF

191031 LTF TNA annual

ที่มา : Morningstar Direct (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2019)

ผลตอบแทนจากกองทุน LTF

หนึ่งในคำถามที่อาจจะอยู่ในใจนักลงทุนหลายท่านทุก ๆ ปีนั่นคือจะซื้อกองทุน LTF ได้เมื่อไหร่เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง หากคำนวณผลตอบแทนกองทุน LTF โดยตั้งสมมติฐานว่านักลงทุนจะขายกองทุนในวันที่ 3 เดือนมกราคมในปีที่ 5 หรือปีที่ 7 ของการถือครองนั้นพบว่า การลงทุนในแต่ละเดือนนั้นให้ผลตอบแทนไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
จากกราฟด้านล่างแสดงผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีหากซื้อกองทุนในแต่ละเดือนเช่น หากนักลงทุนซื้อกองทุนในเดือนมกราคมปีใดก็ตามและถือครองจนครบ 5 ปีปฏิทินจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.3% ต่อปี ในขณะที่หากนักลงทุนซื้อกองทุนเดือนธันวาคมในปีใดก็ตามและถือจนครบ 5 ปีพบว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.5% ต่อปี เช่นเดียวกับระยะ 7 ปีที่ผลตอบแทนการลงทุนแต่ละเดือนไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

ผลตอบแทนกองทุน LTF 5 หรือ 7 ปีปฏิทินตามเดือนที่เลือกลงทุน (% ต่อปี)

191031 LTF returns by month

ที่มา : Morningstar Direct

ในปีนี้เป็นปีสุดท้ายของกองทุน LTF หลายคนอาจสงสัยว่ายังมีคนซื้อกองทุน LTF อยู่หรือยังควรลงทุนเหมือนหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่ หากไปดูกันที่ทิศทางเงินไหลเข้า-ออกสุทธิของปีนี้พบว่าช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีเงินไหลออกสุทธิ -1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะไม่บ่อยนักที่มีเงินไหลออกสุทธิในระดับมากกว่าหมื่นล้านบาทสำหรับช่วง 9 เดือนแรก อย่างไรก็ตามในอดีตเคยมีเงินไหลออกสุทธิสูงสุด 9 เดือนในปี 2017 ที่ -1.9 หมื่นล้านบาท อันเนื่องมาจากเงินไหลออกสูงในไตรมาสแรกของปีดังกล่าว ทั้งนี้แม้ว่าจะมีเงินไหลออกมากแต่สุดท้ายแล้วยังรวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิของทั้งปี

ปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิกองทุน LTF

191031 LTF net flow 9m plus total

ที่มา : Morningstar Direct (ข้อมูล ณ 30 ตุลาคม 2019)

ต่อมาที่คำถามว่าแล้วไตรมาสสุดท้ายนี้จะยังมีเงินไหลเข้าดังเช่นทุกปีหรือไม่ จากข้อมูลพบว่าวันที่ 1-30 ตุลาคมนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิราว 3.5 พันล้านบาท โดยเฉพาะช่วงวันที่ 25 ตุลาคมเป็นต้นมาที่ดัชนี SET ปรับตัวลงทำให้มีเงินไหลเข้าสุทธิต่อวันค่อนข้างสูง แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงตื่นตัวที่จะลงทุนในกองทุน LTF อยู่

เงินจะไหลออกเมื่อไหร่อย่างไร

ส่วนประเด็นเงินไหลออกจากกองทุน LTF นับจากปีหน้าเป็นต้นไปจะเป็นอย่างไร อาจกังวลว่าในปี 2020 นี้จะมีเงินไหลออกมากเป็นพิเศษ หากนักลงทุนจำกันได้ว่าก่อนหน้านี้เกณฑ์การลงทุน LTF กำหนดให้ถือครอง 5 ปีปฏิทิน และมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์เป็นถือครอง 7 ปีปฏิทินสำหรับเม็ดเงินที่ซื้อกองทุนในปี 2016 เป็นต้นไป ดังนั้นเงินที่จะไหลออกในปี 2020 จะเป็นเงินที่ลงทุนตั้งแต่ปี 2015 หรือก่อนหน้านั้น หรือหมายความว่า ปริมาณเงินลงทุนในช่วงปี 2016-2019 นักลงทุนจะยังคงมีการถือครองกองทุนต่อเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข ทำให้เม็ดเงินลงทุนในส่วนนี้จะเริ่มมีเงินไหลออกในช่วงปี 2022 และเงินลงทุนของปี 2019 นี้จะขายได้ตามเกณฑ์ในปี 2025 เป็นต้นไป

แม้ว่าในอนาคตจะไม่มีกองทุน LTF แล้ว แต่ทางมอร์นิ่งสตาร์ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงทุน LTF ในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยสร้างนิสัยหรือวินัยให้นักลงทุนหันมาสนใจศึกษาและเกิดความเข้าใจประโยชน์ของการลงทุนกองทุน ที่จะสามารถต่อยอดไปลงทุนในกองทุนประเภทที่ต่างออกไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคลนั่นเอง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar