เงินเฟ้อสหรัฐปี 2021 มีแนวโน้มสูงขึ้น

มอร์นิ่งสตาร์ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อไปที่ 2.9% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 2.5% ทำให้ค่าเฉลี่ยในช่วง 2022-2025 จะอยู่ที่ 2.3% สูงกว่าประมาณการโดยเฟดที่ 2%

Morningstar 27/05/2564
Facebook Twitter LinkedIn

ในปีนี้ผู้ลงทุนอาจได้ยินคำว่า เงินเฟ้อ บ่อยขึ้น ซึ่งหมายถึงการที่ราคาสินค้าและบริการมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันนั้นเกิดจากปริมาณเม็ดเงินมหาศาลที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯอัดฉีดเข้าระบบเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการใส่เงินไปในกระเป๋าของประชาชนโดยตรง ขณะเดียวกันเมื่อชาวอเมริกันมีการเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น เศรษฐกิจก็เริ่มเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ความต้องการบริโภคก็จะมากขึ้น หากปริมาณสินค้าขาดแคลนหรือไม่เพียงพอกับความต้องการ ก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าหลายประเภทปรับขึ้นตามไปด้วย

เปรียบเทียบ CPI และ PCE Price Index

โดยปกติแล้วหากพูดถึงเงินเฟ้อ ผู้ลงทุนอาจคุ้นเคยกับค่า Consumer Price Index (CPI) หรือที่เรียกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค แต่หากติดตามข่าวการประมาณหรือเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของเฟดนั้นอาจจะพอเคยเห็นอีกค่าหนึ่งคือ Personal Consumption Expenditures Price Index (PCE Price Index) ซึ่งทั้งสองค่าที่กล่าวมานี้เป็นการบอกถึงอัตราเงินเฟ้อทั้งคู่ แต่จะมีลักษณะที่ต่างกันบางประการ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ให้ผู้ลงทุนลองสมมติให้มีตะกร้าสินค้า 2 ใบ ใบแรกคือตะกร้า CPI และใบที่ 2 คือตะกร้า PCE ซึ่งตะกร้าทั้ง 2 ใบนี้จะประกอบด้วยสินค้าคล้ายกันเช่น พลังงาน อาหาร ที่อยู่อาศัย แต่จะมีสัดส่วนที่ต่างกัน คือตะกร้าของ CPI จะสะท้อนการซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภคโดยทั่วไป ขณะที่ PCE จะสะท้อนการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการจากภาคธุรกิจ

ตัวอย่างที่ทำให้ 2 ตะกร้านี้มีค่าต่างกันเช่น 1) ค่าบริการรักษาพยาบาลที่ตะกร้า CPI มีน้ำหนักน้อยเนื่องจากผู้บริโภคอาจไม่ได้เป็นผู้จ่ายเอง (ใช้สิทธิ์ประกัน) แต่จะรวมอยู่ในตะกร้า PCE ในสัดส่วนที่มากกว่า หรือ 2) น้ำหนักสินค้าในตะกร้า CPI ที่ไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ในขณะที่ PCE อาจมีการปรับน้ำหนักกรณีที่สินค้าใดปรับตัวขึ้นทำให้มีการบริโภคน้อยลง อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 ค่านี้จะมีทิศทางเดียวกัน ทำให้อาจใช้อ้างอิงถึงเงินเฟ้อแทนกันได้

ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 2.9%

มอร์นิ่งสตาร์ได้มีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ (PCE Price Index) ขึ้นไปที่ 2.9% (จากก่อนหน้านี้ 2.3%) และเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) 2.5% ทำให้ค่าเฉลี่ยในช่วง 2022-2025 จะอยู่ที่ 2.3% สูงกว่าประมาณการโดยเฟดที่ 2%

pce

ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ปรับขึ้น 0.6% และ 0.8% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดที่ 1.9% ของทั้งปี

cpi

เพื่อให้ทราบว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นจากส่วนใด กราฟด้านล่างจะเป็นการแยกหมวดหมู่สินค้าซึ่งจะพบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาหมวดยานพาหนะ (สีส้ม) มีอัตราการปรับตัวที่สูงขึ้น สะท้อนถึงห่วงโซ่อุปทานที่ยังมีแรงกดดัน ส่งผลให้ราคายานพาหนะพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าการฟื้นตัวของราคาพลังงาน (สีแดง) ก็ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน

inflation

อย่างไรก็ตามประเด็นห่วงโซ่อุปทานที่ตึงตัวจะค่อย ๆ ดีขึ้นและจะไม่ส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวไปจนถึงปี 2022 และคาดว่าราคาน้ำมันจะค่อนข้างทรงตัวในอนาคต ทั้งนี้จะยังมีมีปัจจัยอื่นมาแทนที่ที่จะยังทำให้เราอยู่ในช่วงเงินเฟ้อระดับสูงกว่า 2% ได้ เช่น การเร่งตัวขึ้นของภาคการผลิตที่ยังไม่เต็มศักยภาพ การขาดแคลนแรงงานที่ส่งผลให้ค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น ที่แม้จะเป็นแรงจูงใจให้จำนวนแรงงานในระบบกลับมาสูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นส่วนสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคต

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar