การรับมือกับความเสี่ยงจากการลงทุน

ภายใต้สภาวะความเสี่ยงทางการเงินของโลกที่ดูจะยืดเยื้อในปัจจุบันนั้น ความเสี่ยงเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และเราจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

Morningstar 17/05/2565
Facebook Twitter LinkedIn

ความไม่แน่นอน

ความเสี่ยงจากการลงทุนมาจากความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่ได้รับซึ่งอาจแตกต่างไปจากผลตอบแทนที่คาดหวังไว้ เราสามารถวัดค่าความเสี่ยงดังกล่าวได้จากการดูค่า Standard deviation of returns ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไป โดยเป็นการวัดค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทนว่าสามารถเบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนได้เท่าไหร่ทั้งในแง่ความเสี่ยงขาขึ้นและขาลง

อีกวิธีคือการวัดค่า Sortino ratio ซึ่งเป็นการหาส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนเทียบกับค่า Risk-free rate จากนั้นหารด้วยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่เป็นส่วน Downside deviation ซึ่งเป็นการสะท้อนผลตอบแทนจากการลงทุนต่อค่าความเสี่ยงด้านขาลงนั่นเอง นอกจากนี้ยังสามารถดูได้จาก Morningstar Risk ซึ่งเป็นการวัด Risk-Adjusted Returns เพื่อวัดความเสี่ยงโดยเปรียบเทียบของกองทุนแต่ละกองที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ซึ่งถือเป็นมาตรฐานในการจัดอันดับ Rating กองทุนของ Morningstar อย่างไรก็ดีวิธีเหล่านี้เป็นการวัดทั้งความเสี่ยงขาขึ้นและขาลง แต่ยังไม่ได้เน้นไปที่ความเสี่ยงขาลงกรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายสุดๆเท่านั้น ซึ่งวิธีหนึ่งคือการวัดค่า Maximum drawdown หรือการวัดระดับผลขาดทุนสูงสุดเมื่อเทียบจากจุดที่เคยให้ผลตอบแทนสูงสุดลงมา

ความเสี่ยงที่แท้จริง

ความเสี่ยงที่แท้จริงคือการที่เราตัดสินใจลงทุนผิดพลาดในจังหวะที่ไม่ถูกต้องและทำให้การไปสู่เป้าหมายที่วางไว้นั้นยากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่สามารถหาตัวชี้วัดได้เนื่องจากเป็นเรื่องของพฤติกรรม สถานการณ์ และประสบการณ์การลงทุนของนักลงทุนแต่ละคนที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับระดับความมั่งคั่งของแต่ละคนซึ่งจะส่งผลต่อการยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแตกต่างกัน รวมไปถึงระยะเวลาในการลงทุน เพราะหากเรามีการออมเงินแต่เนิ่นๆมีเวลาลงทุนนานก็สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่มีระยะเวลาลงทุนเหลือน้อยเช่นใกล้เกษียณอายุ การยอมรับความเสี่ยงก็ลดน้อยลงเนื่องจากต้องเก็บเงินที่เหลืออยู่ไว้รองรับการใช้จ่ายหลังเกษียณแทน นอกจากนี้ประสบการณ์การลงทุนของนักลงทุนก็มีผลต่อการยอมรับความเสี่ยง หากใครเคยขาดทุนจำนวนมากจากการลงทุนในอดีตก็อาจทำให้รับความเสี่ยงจากการลงทุนในอนาคตได้ลดลง อย่างไรก็ดีทัศนคติเกี่ยวกับความเสี่ยงนั้นมักเปลี่ยนไปตามสภาวะตลาดและกาลเวลา

การรับมือกับความเสี่ยงจากการลงทุน

วิธีบริหารจัดการกับความเสี่ยงนั้นเราอาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset allocation)การตัดสินใจลงทุน (Investment selection) และเรื่องของพฤติกรรมการลงทุน (Behavior) ทั้งนี้การจัดสรรสินทรัพย์และการตัดสินใจลงทุนจะต้องปรับให้รองรับกับพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนด้วย การรับมือกับความเสี่ยงได้ดีที่สุดก็คือการเลือกส่วนผสมของสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะสมนั่นเอง นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเหมาะกับการลงทุนในหุ้น แต่หากรับความเสี่ยงได้ต่ำก็อาจลงทุนในตราสารหนี้และถือเงินสดไว้แทน

และในภาวะปัจจุบันของตลาดการเงินที่ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ถูกเทขายอย่างหนัก นักลงทุนบางส่วนอาจให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นด้วยสัดส่วนที่สูงมาก การจัดสรรสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้การเลือกสินทรัพย์เพื่อลงทุนก็ควรคำนึงถึงความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ หุ้นขนาดใหญ่มักจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าหุ้นขนาดเล็ก หุ้นในตลาดอเมริกาก็มักมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นในตลาดเกิดใหม่ พันธบัตรรัฐบาลก็มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าตราสารหนี้เอกชน

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar