สรุปภาพรวมกองทุนรวมปี 2557

SET Index เด่นโต 15.3% กองทุนรวมเยี่ยมโต 23.8% กองทุนหุ้นไทยเจ๋งสุด 15-18%

Facebook Twitter LinkedIn

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

         จบปี 2557 ไปอย่างสวยงามสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย ที่ปีนี้เรียกว่าเปิดตัวแรงตั้งแต่ต้นปีและโตอย่างต่อนื่องจนปิดปีที่ยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 3.8 ล้านล้านบาท โตกว่า 23.82% และอีกเช่นเคย อุตสาหกรรมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ บลจ. ต่างๆ นำมาเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับกองทุน REITs กองทุนแรกของประเทศไทยซึ่งถือว่าอุตสาหกรรมได้ยกระดบการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้ทัดเทียมกับต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อบแล้ว  

แต่หากจะกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ (ประเภทกองทุน) ที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนสูงสุดในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมานี้ ต้องยกให้กองทุนประเภท High Yield Bond ซึ่งเน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเรตติ้งในระดับต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) และขายให้เฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนประเภท Accredited Investor เท่านั้น ซึ่งในเฉพาะครึ่งปีแรกนี้มีการเปิดกองทุนกันเกือบ 300 กองทุน หรือคิดเป็นมากกว่า 34% ของจำนวนกองทุนที่ออกมาในปี 2557 นี้  ทำให้นับแต่มีการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้ขึ้นมาตั้งแต่กลางปี 2556 นั้นมีการเงินหมุนเวียนเข้าออกกองทุนประเภทนี้แล้วเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท

กองทุนอีกประเภทหนึ่งที่ได้นับความนิยมจากผู้ลงทุนอย่างโดดเด่นตลอดทั้งปีนั้ก็คือ กลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศแบบเจาะกลุ่มประเทศ (single country) และภูมิภาค (Region) ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเติบโตเฉลี่ยสูงสุดกว่า 126% จากปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ยอดของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนในกลุ่มนี้สูงถึง 7.9 หมื่นล้านบาท โดยมีกองทุนเปิดใหม่เกือบ 40 กองทุน และมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท

ซึ่งนำโดยกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นยุโรปคิดเป็นยอดประมาณ  13,023 ล้านบาท (คิดเป็น 33%) ตามมาด้วย กองทุนหุ้นกลุ่ม Asia Pac Ex Japan  ที่มีเงินเข้ากว่า 8,433 ล้านบาท (21%)  ส่วน ญี่ปุ่น และ อเมริกา ก็มีเงินไหลเข้าไม่น้อยเช่นกันที่ประมาณ 5,000  ล้านบาท เท่าๆกัน

CountrySpecific

กองทุนหุ้นไทยเองก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยในปีนี้มีเงินไหลเข้าอีก 2.8 หมื่นล้านบาท ทำให้มียอดเงินไหลเข้าติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 11 รวมเป็นเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมนั้นสูงกว่า 1.76 แสนล้านบาท ซึ่งโตกว่า 300% นับจากปี 2550

Equity Fund

          ส่วน Trigger fund นั้นถือเป็นอีกปีที่มีสถิติเกิดขึ้นใหม่ นั้นก็คือ มีจำนวนกองทุน Trigger fund เปิดมากที่สุดถึง 93 กองทุน ทำลายสถิติเดิมเมื่อปี 2556 ที่มีการเปิดกันมากถึง 90 กองทุน แต่ยังไม่สามารถทำลายสถิติในส่วนของเม็ดเงินที่ทำยอด IPO ได้ โดยในปี 2557 นี้ทำได้ 4.5 หมื่นล้านบาท

โดยปี 2557 นี้มี Trigger Fund ออกสู่ตลาด 93 กองทุน แบ่งเป็นที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 53 กองทุน และลงทุนในหุ้นไทย 40 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมประมาณ  2.15 และ 2.35 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนผลการดำเนินการนั้น Trigger Fund ที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยสามารถลงทุนและทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายจำนวน 17 กองทุน และ 18 กองทุนสำหรับกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ

 

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

          ผลตอบแทนกองทุนในปี 2557 นี้ ต้องเรียกว่าสดใสและยอดเยี่ยมในเกือบทุกประเภทกองทุน โดยเฉลี่ยมีเพียง 5 กลุ่มจาก 21 กลุ่ม ที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนติดลบ ซึ่งกลุ่มที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงที่สุดคือ กลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย นำโดยกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-Cap) ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 18.48% และกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ก็ทำได้ดีเช่นกันที่เฉลี่ย 15.81% ขณะที่ SET Index ทำได้  15.3% ส่วนกองทุนที่สร้างตอบแทนได้แย่ที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้น กลุ่มกองทุนน้ำมัน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงราคาน้ำมันที่ตกลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี จนทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่มนี้นั้นติดลบหนักถึง -43.32%

CategoryPerf

ปีนี้กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในและต่างประเทศดูจะทำผลตอบแทนได้ดี โดยกลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond นั้นสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีที่ 3.01% และ  4.01% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่ม Global Bond และEmerging Market Bond  นั้นทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ที่ 3.27% และ  2.57% ตามลำดับ  

ส่วนกลุ่มที่นักลงทุนในหุ้นให้ความนิยมสูงสุดนั้นก็คือ กลุ่มกองทุนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศนั้น ต่างทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างน่าผิดหวังเล็กน้อย ยกเว้นเพียงแต่กลุ่มที่ลงทุนในหุ้น อเมริกาและจีน เท่านั้นที่ทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีที่เฉลี่ย 11.59% และ 10.48%ตามลำดับ ขณะที่กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity ทำได้เฉลี่ย 5.27% และ กลุ่ม Global Equity ทำได้เฉลี่ยเพียง 1.65%

และที่ได้ผลตอบเฉลี่ยติดลบนั้นมีอยู่ 2 กลุ่มนั้นก็คือ หุ้นยุโรป และ Emerging Market ที่ทำได้เฉลี่ย -2.06% และ      -6.11%  ตามลำดับ อย่างไรก็ตามนั้น อยากให้ผู้ลงทุนพิจารณาถึงผลตอบแทนในระยะยาวและคำนึงถึงการกระจายการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนจากตลาดอื่นๆด้วยเช่นกัน

          ปิดท้ายกันด้วยความนิยมของกองทุน LTF และ RMF ที่ยังไม่เสื่อมคลาย มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกองทุน LTF ที่แม้จะมีข่าวรบกวนตลอดทั้งปีถึงความไม่แน่นนอนของการต่ออายุโครงการที่จะหมดลงในปี 2559 โดยปีนี้

กองทุน LTF มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิทำลายสถิติที่ 3.5 หมื่นล้านบาท สูงสุดตลอดกาล และเงินลงทุนยังคงทะลักเข้าในช่วงไตรมาส 4 อย่างล้นหลามอีกเช่นเคย

LTFRMF

ขณะที่ RMF ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยทำสถิติมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิติดต่อกัน ไตรมาส 11 นับแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 โดยรวมทั้งปีมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ  1.7 หมื่นล้านบาท และทำให้สัดสวนของ RMF ทีเน้นลงทุนในหุ้นมีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 40.47% แซงหน้าประเภทที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 33.94% ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ลงทุนเริ่มเห็นความสำคัญของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนให้สอดคล้องกับระดับการรับความเสี่ยงและเป้าหมายทางการลงทุนของแต่ละคน

 

 

*ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2557

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst