CIO ลาออก!!! ทำอย่างไรดี

การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารนั้นเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ในทุกสาขาอาชีพ คำถามที่สำคัญคือ เราจะรับมืออย่างไรกับมันดี

Facebook Twitter LinkedIn

          ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้นักลงทุนหลายท่านคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับผู้จัดการกองทุนหลายคนประกาศลาออกกันอย่างหนาหู หลายบลจ.มีการเปลี่ยนแปลงมากมายซึ่งก็เป็นเรื่องปกติทั่วไปของธุรกิจกองทุนรวมซึ่งไม่ใช่เฉพาะของไทย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก อาทิเช่น ล่าสุดที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อปลายปีที่แล้วก็คือ การประกาศลาออกของ Bill Gross อดีตผู้จัดการกองทุน PIMCO Total Return (ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) และยังผู้ก่อตั้งบริษัท PIMCO ซึ่งเป็น บลจ. ชั้นนำของโลก

กลับมาที่ประเทศไทย ความน่าสนใจของการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังนี้คือ ผู้จัดการกองทุนที่ลาออกนั้นไม่ใช่ระดับผู้จัดการกองทุนทั่วๆไป แต่กลับเป็นถึงระดับผู้บริหาร/หัวหน้าทีมจัดการลงทุนของ บลจ. หรือที่เค้าเรียกกันว่า Chief Investment Officer (CIO) นั้นเอง

ฟังแค่ชื่อตำแหน่งนักลงทุนก็คงสามารถบอกได้ถึงความสำคัญของบุคคลนี้ มิหนำซ้ำบางท่านยังเป็นผู้จัดการกองทุนชื่อดังที่นักลงทุนต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี พบเจอกันบ่อยๆตามงานสัมมนาและบทสัมภาษณ์ต่างๆ สิ่งนี้ยิ่งเพิ่มควาน่าตกใจให้กับนักลงทุนเข้าไปกันใหญ่

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจหน้าที่การทำงานของ Chief Investment Officer กันก่อน ซึ่งนักลงทุนหลายท่านยังคงสับสนอยู่ อันดับแรกและแน่นนอนที่สุดคือตำแหน่งนี้ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในทีมจัดการลงทุนของ บลจ. เนื่องจากมีหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการลงทุน ดูแลจัดการความเสี่ยง รวมถึงภาพรวมของสินทรัพย์ที่ บลจ.นั้นๆบริหารอยู่ทั้งหมด และ CIO บางท่านอาจควบตำแหน่งบริหารกองทุนเป็นรายกองด้วยก็ได้ จะว่าไปแล้วนั้น CIO นี้สามารถเปรียบได้ว่าเป็น แม่ทัพในการลงทุนของ บลจ. นั้นเอง ดังนั้นการจากไปนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อ บลจ.และการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นนอน

และคำถามที่เกิดขึ้นตามมาในทันทีก็คือ ในฐานะนักลงทุนควรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร คำตอบแรกสำหรับท่านนักลงทุนคือ อย่าตื่นตระหนก เราในฐานะนักลงทุนไม่ควรจะขายหน่วยลงทุนทันทีเมื่อผู้จัดการกองทุน/ผู้บริหารมีการเปลี่ยนแปลง เพราะนั้นไม่ได้หมายความว่าผลการดำเนินงานของกองทุนนั้นจะแย่ลงไปในทันที แต่ก็แน่นนอนว่านั้นไม่ใช่เรื่องที่เราจะมองข้ามไป ข้อดีอย่างหนึ่งของธุรกิจจัดการกองทุนนั้นคือ บลจ.ต่างๆนั้นมีบอร์ดในการบริหารไม่ต่างจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแน่นนอนที่สุดหน้าที่ของบอร์ดนั้นจะต้องคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาปฎิบัติหน้าที่แทนแต่จะมีผลงานที่ดีกว่าคนเดิมหรือไม่เป็นเรื่องยากที่จะบอก ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

แล้วเราควรทำอย่างไรดี??? ผมมีคำแนะนำต่อท่านนักลงทุนดังต่อไปนี้ครับ

  1. อย่าตื่นตระหนก (Don’t panic) และอย่าเพิ่งขายหน่วยลงทุนออกในทันที
  2. ตรวจสอบข้อมูลดูว่ากองทุนที่ท่านกำลังลงทุนอยู่นั้นบริหารโดยใคร และได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่จากการเปลี่ยนแปลง
  3. รอดูการแต่งตั้งผู้บริหารคนใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่แทน แน่นนอนขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาซักระยะหนึ่งซึ่งบางกรณีอาจใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน และหากเป็นไปได้ควรศึกษาประวัติและผลงานที่ผ่านมาในอดีตด้วยเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ
  4. สไตล์การลงทุนเปลี่ยนไปหรือไม่ เรื่องนี้ถือเป็นสำคัญมากเพราะนอกจากจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของผลการดำเนินงานของกองทุนแล้วนั้นยังส่งผลถึงความเหมาะสมของกองทุนนั้นต่อพอร์ตโฟลิโอของท่านด้วย

เมื่อท่านนักลงทุนได้ข้อมูลครบถ้วนตามนี้แล้วผมเชื่อว่าจะช่วยให้ท่านสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และหากท่านทำการวิเคราะห์ดูแล้วเห็นว่ากองทุนดังกล่าวไม่เหมาะกับตัวท่านอีกต่อไป ถึงเวลานั้นจะขายหน่วยลงทุนก็ยังไม่สายเกินไป หรือตัวอย่างเช่น หลายกรณีในต่างประเทศที่นักลงทุนหลายท่านมีความเชื่อมั่นในตัวผู้จัดการกองทุนมากๆอาจจะตามไปลงทุนกับผู้จัดการกองทุนท่านนี้ในที่ใหม่ก็เป็นได้

***ในอตีดการหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้จัดการกองทุนนั้นเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร แต่ในปัจจุบันนี้เรื่องดังกล่าวได้ถูกพัฒนาโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นมาตราฐานสากลแล้วโดยทาง ก.ล.ต. ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลชื่อผู้จัดการกองทุนลงทุนเอกสารประกอบการขายเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อต้นปี 2558 นี้ รวมทั้งได้กำหนดให้ลงวันที่ที่ผู้จัดการกองทุนดังกล่าวได้เข้ามาบริหารหองทุนนั้นๆไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อที่นักลงทุนจะได้สามารถติดตามผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนนั้นๆได้อย่างแม่นยำและสะดวกมากยิ่งขึ้น

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst

© Copyright 2024 Morningstar, Inc. All rights reserved.

ข้อตกลงการใช้งาน        นโยบายความเป็นส่วนตัว       Disclosures