สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2018

อุตสาหกรรมกองทุนรวมค่อนข้างผันผวนอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรก โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.47% จากสิ้นปี 2017 ไปปิดที่ 5.04 ล้านล้านบาท โดยมีปริมาณเงินไหลออกสุทธิช่วง 9 เดือนแรก -24,142 ล้านบาท

Morningstar 17/10/2561
Facebook Twitter LinkedIn

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย

ดัชนี SET ขึ้นไปปิด ที่ 1,756.41 จุด ณ สิ้นไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 10.08% จากไตรมาสที่แล้ว โดยตลาดหุ้นไทยสามารถปรับตัวขึ้นได้แม้จะมีข่าวที่ทำให้ตลาดค่อนข้างผันผวนในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เช่น ปัจจัยลบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การอ่อนค่าของเงินลีรา (ตุรกี) ที่สร้างความกังวลต่อภาวะการลงทุนตลาดเกิดใหม่โดยรวม การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) แต่ก็มีปัจจัยบวกเช่น การเติบโตของ GDP ไตรมาสที่ 2 ของประเทศไทยที่ 4.6% ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ทำให้ตลาดหุ้นไทยอย่าง SET สามารถกลับขึ้นมาสู่เหนือ 1,700 จุดได้อีกครั้ง

สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมของประเทศไทยนั้น นับเป็นอีกหนึ่งไตรมาสที่มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว หลังจากที่เป็นเงินไหลเข้า 12 ไตรมาสต่อเนื่องกัน โดยกระแสเงินไหลออกหลักมาจากกองทุนประเภทตราสารหนี้ เนื่องจากปัจจัยลบเช่น ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนตราสารหนี้ ความไม่แน่นอนของการเก็บภาษีจากกองทุนตราสารหนี้ และปัจจัยบวกของทิศทางเศรษฐกิจไทยที่อาจส่งผลให้นักลงทุนให้ความสนใจการลงทุนในกองทุนหุ้นมากกว่าตราสารหนี้

TH Quarterly flow 2015 2018

ภาพรวมการลงทุนกองทุนรวมในไตรมาสที่ 3 มีเงินไหลออกสุทธิ -40,425 ล้านบาท ทำให้ 9 เดือนที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิรวม -24,142 ล้านบาท โดยในรอบ 9 เดือนนี้ กลุ่ม Equity Large-Cap เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 71,794 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินทำสถิติสูงสุดที่ 702,575 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม Property-Indirect Global มีเงินไหลเข้าสุทธิ 31,740 ล้านบาท, กลุ่ม Aggressive Allocation ที่ 28,878 ล้านบาท, Conservative Allocation ที่ 20,694 ล้านบาท และ Global Equity ที่ 17,166 ล้านบาท

ในส่วนของกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดได้แก่กลุ่ม Global Bond ที่ยังเป็นการไหลออกต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ทำให้รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกสุทธิทั้งสิ้น -83,058 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม Money Market -65,317ล้านบาท, Mid/Long Term Bond -18,937 ล้านบาท, Global Health Care -17,912 ล้านบาท, และกลุ่ม Global High Yield Bond Fix Term -16,799 ล้านบาท

TH Top flow YTD Sep 2018

 

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

ในส่วนของการลงทุนในกองต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ในไตรมาสที่ 3 นั้น มีเงินไหลออกสุทธิถึง -40,708 ล้านบาท นำโดย Global Bond, Global Healthcare, และ Global Allocation  ในขณะที่เงินไหลเข้าสุทธิส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกองทุนประเภท Equity ได้แก่ Property – Indirect Global, Global Equity, China Equity, และ ASEAN Equity

หากดูในช่วง 9 เดือนแรกนั้น 5 อันดับเงินไหลเข้าสุทธิก็ยังคงเป็นกองทรัพย์สินประเภท Equity เช่นกัน นำโดย Property Indirect – Global (31,739 ล้านบาท), Global Equity (17,165 ล้านบาท), China Equity (16,012 ล้านบาท), Asia Pacific ex-Japan Equity (14,137 ล้านบาท) และ Emerging Market Equity (8,897 ล้านบาท)

ส่วนประเภทกองทุนที่มีเงินไหลออกมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่ม Global Bond ที่ใน 9 เดือนแรกนั้นมีเงินไหลออกถึง -83,057 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกลุ่มนี้ลดลงต่อเนื่องโดยอยู่ที่ 101,181 ล้านบาท หรือลดลงราว -45.98% ตามมาด้วยกลุ่ม Global Health Care ซึ่งมีเงินไหลออกสุทธิ -17,912 ล้านบาท และ Global Allocation -11,727 ล้านบาท

โดยตัวเลขเงินไหลออกสุทธิ 9 เดือนอยู่ที่  -32,377 ล้านบาท และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 628,343 ล้านบาท ลดลง -7.35% จากสิ้นปี 2017

Market share 5 อันดับแรกของกองทุนต่างประเทศ มีดังนี้ Global Allocation ที่ 23.17%, Global Bond ที่ 16.10%, Property – Indirect Global ที่ 10.85%, Global Equity ที่ 10.02% และ China Equity ที่ 6.45%

ส่วน บลจ.ไทยที่มีส่วนแบ่ง Market share 5 อันดับแรกของกองทุนต่างประเทศยังคงเหมือนเดิมจากไตรมาสที่แล้วมีดังนี้ KAsset ที่ 22.90%, TMBAM ที่ 20.83%, SCBAM ที่ 14.81%, KSAM ที่ 8.46%, และ UOBAM ที่ 8.06%  

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกนั้นมีการออกกองทุนต่างประเทศใหม่ (ไม่รวม Term Fund) ทั้งสิ้น 79 กอง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 46,000 ล้านบาท โดยกลุ่ม Global Equity มีการออกกองใหม่สูงสุดที่ 24 กอง (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 10,000 ล้านบาท) ตามมาด้วย Global Allocation 16 กอง (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 9,000 ล้านบาท) และ Global Bond 12 กอง (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 9,000 ล้านบาท)

TH Top FIF flow YTD Sep 2018

ในด้านกองทุน FIF ที่มีการลงทุนผ่าน Master Feeder นั้น ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินราว 460,000 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2017 ราว -16% ซึ่ง PIMCO ยังคงมีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดสำหรับ Master Feeder โดยมูลค่าทรัพย์สินลดลงกว่า -50% ไปที่ 77,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2017 จากการไหลออกของกองทุนกลุ่ม Global Bond ตามมาด้วย BlackRock ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 47,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 18% จากสิ้นปี 2017 ตามมาด้วย JP Morgan ที่ 41,000 (-23% จากสิ้นปี 2017),  State Street ที่ 29,000 ล้านบาท (-15% จากสิ้นปี 2017) และ Deutsche ที่มูลค่าทรัพย์สิน 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% จากสิ้นปี 2017

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรก กองทุนประเภท Commodities Energy นั้นยังคงทำผลตอบแทนโดดเด่น โดยทำได้ถึง +27.75% ตามด้วย Global Health Care และ Property Indirect +12.83%, +10.83% ตามลำดับ

TH Cat Avg Return Sep 2018

สำหรับกลุ่มกองทุนหุ้นไทยนั้นมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยผลตอบแทนช่วง 9 เดือนที่ผ่านมานั้น กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 0.21% และกลุ่มหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กแม้จะยังให้ผลตอบแทนติดลบแต่ก็ดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ -4.46% โดยมีสาเหตุจากการปรับตัวของ SET ที่ได้รับปัจจัยบวกเช่น การประกาศตัวเลข GDP ที่ดีกว่าคาดและการประกาศวันเลือกตั้ง

ส่วนกองทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศยังคงให้ผลตอบแทนติดลบเป็นส่วนใหญ่ นำโดย India Equity ที่ -15.32% Emerging Market Equity -10.40%, Asia Pacific ex-Japan Equity -10.18%, ASEAN Equity -8.68%, China Equity -8.53%, Europe Equity -0.42%,  มีเพียงตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีผลตอบแทนเป็นบวก

ทางด้านการลงทุนในกองทุนประเภทตราสารหนี้ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเป็นบวกเพียงเล็กน้อย นำโดย Money Market, Short Term Bond, และ Mid/Long Term Bond ที่ 0.67%, 0.64% และ 0.36% ตามลำดับ

ในส่วนตราสารหนี้ต่างประเทศอย่าง Emerging Market Bond และ กลุ่ม Global Bond นั้นยังให้ผลตอบแทนติดลบที่ -5.65% และ -2.06% ตามลำดับ

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และRMF)

ทิศทางตลาดหุ้นไทยในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมานี้ถือว่าอยู่ในทิศทางที่มีการฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 2 ทำให้ยังคงมีเงินไหลเข้ากองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และ RMF) กลุ่ม Equity Large-cap ที่ 8,874 ล้านบาทและไหลออกจากกลุ่ม Equity Small/Mid-cap -1,472 ล้านบาท รวม 9 เดือนกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 68,109 ล้านบาท และไหลออกจากกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ -2,421 ล้านบาท รวมมูลค่ากองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF และ RMF) ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 305,467 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24.53% จากสิ้นปี 2017

ส่วน บลจ.ไทยที่มีส่วนแบ่ง Market share 5 อันดับแรก ได้แก่ ThanachartFund ที่ 15.49%, BBLAM 15.08%, KSAM ที่ 13.08%, SCBAM ที่ 13.03%, และ KAsset ที่ 9.14%  

TH Equity Ex Tax Saving Sep 2018

กองทุนกลุ่ม LTF และ RMF

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กองทุน LTF มีเงินไหลออกสุทธิ -1,746 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ ในไตรมาส 3  3,135 ล้านบาท ไตรมาสที่ 2  8,831 ล้านบาท และไตรมาส 1 เงินไหลออกสุทธิ -13,712 ล้านบาท สังเกตได้ว่าในปีนี้นั้นเริ่มมีเงินทยอยไหลเข้าตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา ซึ่งต่างกับปี 2016-2017 ที่ในทั้ง 3 ไตรมาสแรกนั้นเป็นเงินไหลออกทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามหากดูทิศทางเงินกองทุน LTF ในอดีตแล้วนั้น เงินลงทุนส่วนใหญ่มักจะไหลเข้าในไตรมาสสุดท้าย และในปีนี้ก็คงให้ภาพเหมือนดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา

โดยปิดสิ้นเดือนกันยายน กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 389,932 ล้านบาท ลดลง -1.83% จากสิ้นปี 2017

ด้านของส่วนแบ่งตลาดกองทุน LTF แบ่งตาม บลจ. ยังคงสัดส่วนไม่ต่างจากไตรมาสที่ 2 โดยยังคงส่วนแบ่งตลาดกระจุกตัวอยู่ใน 5 อันดับแรกได้แก่ BBLAM ที่ 27.64% KAsset 21.13% KSAM ที่ 16.67% SCBAM ที่ 11.83% และ UOBAM ที่ 6.28% (รวม 5 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดราว 83%)

สำหรับกองทุน RMF นั้นมีเงินไหลเข้าสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกที่ 7,998 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินไหลเข้าในกลุ่ม RMF Equity สูงสุดถึง 8,950 ล้านบาท, RMF Allocation 1,369 ล้านบาท และเป็นเงินไหลออกสุทธิในกลุ่ม RMF Other และ RMF Fixed Income -110 ล้านบาท, -2,211 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในไตรมาสที่ 3 มีกอง RMF เปิดใหม่อีก 2 กองทุน รวมช่วง 9 เดือนมีกอง RMF เปิดใหม่ 7 กอง (มูลค่าทรัพย์สิน 1,961 ล้านบาท)

ทั้งนี้กองทุนกลุ่ม RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดที่ 261,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +2.62% จากสิ้นปี 2017 โดยแบ่งเป็นกลุ่มกองทุนหุ้น 48.88%, ตราสารหนี้ 28.15%, กองผสม 20.04% และ อื่นๆ 2.93% กองทุน RMF มีสัดส่วน Market share คล้ายกับ กองทุน LTF ดังนี้ BBLAM ที่ 28.05%, KAsset 23.54%, KSAM ที่ 11.97%, SCBAM ที่ 11.93%, และ TMBAM ที่ 5.48% (รวม 5 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 80%)

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2018

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar