การย้ายกองทุนเข้ากลุ่ม Miscellaneous

กองทุนกลุ่ม Miscellaneous นั้นมีลักษณะอย่างไร มีหลักการอะไรในการจัดกลุ่มกองทุนนี้ และปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มาดูกันค่ะ

Morningstar 03/01/2562
Facebook Twitter LinkedIn

กลุ่ม Miscellaneous อาจเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันนัก แต่เริ่มต้นปีใหม่นี้ทางมอร์นิ่งสตาร์ได้มีการปรับย้ายกองทุนหลายกองทุนเข้ากลุ่ม Miscellaneous  โดยวันนี้จะขอเล่ารายละเอียดสาระสำคัญของกลุ่มกองทุนนี้ให้ได้ทราบกันค่ะ

กลุ่ม Miscellaneous นั้นมีลักษณะอย่างไร

กลุ่มกองทุนของมอร์นิ่งสตาร์นั้นปัจจุบันมีจำนวน 39 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะแบ่งออกไปอย่างชัดเจนว่ากองทุนที่อยู่ในกลุ่มนั้นๆ มีลักษณะการลงทุนเป็นอย่างไร ลงทุนในทรัพย์สินประเภทใด ในสัดส่วนมากน้อยเพียงใด โดยในกลุ่ม Miscellaneous นั้นมีลักษณะสำคัญคือ เป็นกองทุนที่ลงทุนในประเทศไทย แต่ไม่สามารถจัดกลุ่มเพื่อเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งเกิดจากการมีจำนวนกองทุนที่มีลักษณะการลงทุนเหมือนกันที่น้อยเกินไปที่จะนำมาตั้งกลุ่มใหม่ในการเปรียบเทียบ โดยปกติแล้ว การเพิ่มประเภทกองทุนใหม่ขึ้นมา ต้องมีกองทุนอย่างน้อย 5 กองทุนที่แตกต่างกัน พูดง่ายๆ ว่า กองทุนใดยังไม่มีเพื่อนในการเปรียบเทียบ ให้มารวมตัวกันที่หมวดหมู่นี้ก่อน (สำหรับกลุ่ม Foreign Investment Miscellaneous นั้นมีหลักการเดียวกันกับ Miscellaneous แต่ต่างกันเพียงเป็นการลงทุนในต่างประเทศ)

การย้ายกองทุนโดยมอร์นิ่งสตาร์

โดยปกติแล้วมอร์นิ่งสตาร์จะทำการทบทวนการจัดกลุ่มกองทุนในเดือนเมษายนและตุลาคมของทุกปี เพื่อให้กองทุนในแต่ละกลุ่มสามารถเปรียบเทียบกันได้ โดยจะพิจารณาแบบรายกอง คือ การพิจารณากองทุนจากพอร์ตการลงทุนจริง นโยบายการลงทุน เทียบกับนิยามของกลุ่มกองทุนของมอร์นิ่งสตาร์ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงกองทุนอื่นในกลุ่มเดียวกัน โดยพิจารณาว่ากองทุนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันซึ่งลงทุนตามนิยามกลุ่มแล้วนั้น สามารถเปรียบเทียบกันได้หรือไม่

สำหรับการย้ายกลุ่มในรอบนี้จะเป็นการย้ายกองทุนเข้ากลุ่ม Miscellaneous/ Foreign Investment Miscellaneous โดยมีกองทุนต่อไปนี้

Funds to Miscellaneous

สาเหตุการย้ายกองทุนเข้ากลุ่ม Miscellaneous

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า การจัดกลุ่มกองทุนจะคำนึงถึงการเปรียบเทียบกันได้ของกองทุนในกลุ่มเดียวกัน ในกรณีของกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใดเป็นการเฉพาะเจาะจง (Sector Fund) เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานนั้น ก็อาจจะดูไม่ผิดจากนิยามของกลุ่ม Equity Large-Cap ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตามทางมอร์นิ่งสตาร์เห็นว่า การเปรียบเทียบกันได้ของกองทุนในกลุ่มเดียวกันเป็นลักษณะสำคัญที่จะส่งผลกระทบกับมอร์นิ่งสตาร์เรตติ้ง (ดาว) ยกตัวอย่างเช่น ในปีที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มพลังงานมีการแกว่งตัวค่อนข้างสูงจากราคาน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะอุตสาหกรรม ทำให้กองทุนมีความเสี่ยงที่ต่างออกไป และไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างเหมาะสมกับกองทุนอื่นที่มีการกระจายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม การย้ายกองทุนกลุ่มที่เป็น Sector Fund เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มการเงินและการธนาคาร ออกจากกลุ่มเดิมมาที่กลุ่ม Miscellaneous/ Foreign Investment Miscellaneous จึงเป็นทางออกที่เหมาะสม

แนวทางการจัดกลุ่มกองทุนที่มีการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง

ผลจากการย้ายกองทุนเข้ากลุ่ม Miscellaneous/ Foreign Investment Miscellaneous จะทำให้ในกลุ่มนี้มีกองทุนที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยทางมอร์นิ่งสตาร์ได้มีแนวทางจัดตั้งกลุ่มกองทุนหมวดอุตสาหกรรม (Equity – TH Sector Focus และ Equity - Global Sector Focus) ทั้งนี้เพื่อประโยชน์กับนักลงทุนในการค้นหาหากต้องการลงทุนในกองทุนหมวดอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งจะมีการตั้งกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในประเทศใดๆ แบบเฉพาะเจาะจง (Equity – Country Focus) ซึ่งจะเป็นหลักการเดียวกันกับกองทุนหมวดอุตสาหกรรม

ทั้งนี้กองทุนที่อยู่ในกลุ่มใหม่ดังกล่าวจะไม่มีการคำนวณมอร์นิ่งสตาร์เรตติ้ง จากความแตกต่างของกองทุนในกลุ่ม โดยทางมอร์นิ่งสตาร์จะมีการจัดตั้งกลุ่มใหม่ทั้ง 3 กลุ่มที่กล่าวมานี้ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ และคาดว่าจะมีการย้ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนที่สนใจสามารถค้นหากองทุนแบบดังกล่าวได้ง่ายขึ้นค่ะ

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar