10-year challenge กองทุนรวมไทย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสการเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือ 10-year challenge ในวันนี้เรามาดูกันค่ะว่า 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

Morningstar 24/01/2562
Facebook Twitter LinkedIn

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนเปิดโตเกือบ 5 เท่า

เมื่อปี 2008 มูลค่าทรัพย์สินกองทุนรวมไทยอยู่ที่ราว 8.1 แสนล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 2018 ที่ 3.8 ล้านล้านบาท หรือโตขึ้นมาเกือบ 5 เท่า และพบว่าอัตราส่วนแบ่งตามประเภททรัพย์สินมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเมื่อปี 2008 กองทุนรวมตลาดเงินเป็นมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรม ในขณะที่ปัจจุบันมีกองทุนกลุ่มตราสารหนี้มีสัดส่วนหลักหรือส่วนแบ่งตลาดประมาณ 44% ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินขึ้นอีกประมาณ 7 เท่าจากปี 2008

190124 TNA 2008 vs 2018

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018

ภาพรวมอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยคล้ายปี 2008 โดยกลุ่มตราสารหนี้เป็นบวกและกลุ่มหุ้นเป็นลบ

ในปี 2008 กลุ่มกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงสุดในรอบปีคือกลุ่ม Commodities Precious Metals ที่ 7.9% และกลุ่ม Emerging Market Equity เป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบสูงสุดเฉลี่ย -56.1% ในขณะที่ปี 2018 มีกลุ่ม Property Indirect ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 8.0% ในขณะที่กองทุนน้ำมันให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบสูงสุดที่ -19.5% สำหรับกลุ่มอื่น ๆ นั้นมีภาพใกล้เคียงกับปี 2018 เช่น กลุ่มกองทุนประเภทตราสารหนี้ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก และกลุ่มกองทุนหุ้นทั้งในและต่างประเทศให้ผลตอบแทนติดลบ

อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของกลุ่มกองทุนรวมไทยรายปี (%)

190124 annual cat avg

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018

สำหรับสัดส่วนการลงทุนระหว่างในประเทศและต่างประเทศนั้น กองทุนรวมไทยยังมีการลงทุนในประเทศเป็นสัดส่วนหลักโดย ณ สิ้นปี 2018 มีสัดส่วนอยู่ที่ 74% แต่ลดลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ 88% แสดงให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสนใจลงทุนต่างประเทศมากขึ้น 

หากมาดูที่ขนาดของกองทุนที่ใหญ่ที่สุดนั้น ปี 2008 กองทุนตราสารหนี้ไทยที่ใหญ่ที่สุดมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.4 พันล้านบาท ในขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ซึ่งเป็นกองทุน LTF) มีขนาด 9.7 พันล้านบาท ตรงกันข้ามกับปี 2018 ที่กองทุนตราสารหนี้ไทยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.4 แสนล้านบาท ส่วนกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ที่สุดมี 6.3 หมื่นล้านบาทและยังคงเป็นกองทุน LTF เช่นเดิม

190124 domestic vs foreign eq vs fi

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018

ผลตอบแทนกองทุน LTF ยังคงได้รับผลกระทบจากตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงตามตลาดโลก

สำหรับกองทุนประหยัดภาษีนั้น กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 8 เท่าจากปี 2008 ขณะเดียวกันกองทุน RMF มีการเติบโตราว 6 เท่าจากปี 2008 มาอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท ทางด้านผลตอบแทนกองทุน LTF ในปี 2018 มีภาพใกล้เคียงกับเมื่อปี 2008 ที่ส่วนใหญ่ให้อัตราผลตอบแทนติดลบ ซึ่งปี 2008 ได้รับผลกระทบมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน subprime ในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปีที่ผ่านมามีทั้งการขึ้นดอกเบี้ย การใช้มาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก

190124 annual ltf return

ที่มา: Morningstar Direct, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งขนาดของอุตสาหกรรม ลักษณะทรัพย์สินที่ลงทุน อัตราผลตอบแทน สภาวะตลาด รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบกับการลงทุน ท้ายนี้อยากฝากนักลงทุนทุกท่านว่าดู 10-year challenge ของอุตสาหกรรมกันแล้ว ลองมา challenge ตัวเองโดยการสร้างวินัยในการลงทุนต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีกันบ้าง เพราะจากข้อมูลในอดีตพบว่าแม้จะมีสถานการณ์ตลาดผันผวนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในกองทุนรวมก็ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกโดยเฉลี่ยต่ำสุดที่ 1.5% ต่อปี (กลุ่ม Money Market) และเฉลี่ยสูงสุดที่ 14.8% ต่อปี (กลุ่ม Equity Large-cap) เลยทีเดียว (https://bit.ly/2MglpCM)

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar