Morningstar Analyst Rating สำหรับกองทุน

Morningstar Analyst Rating นั้นคืออะไร วันนี้ลองมาหาคำตอบกันค่ะ

Morningstar 20/03/2562
Facebook Twitter LinkedIn

นักลงทุนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับ Morningstar Rating หรือการให้ดาวโดยมอร์นิ่งสตาร์ วันนี้เราลองมาดูกันว่าการให้เรตติ้งอีกแบบหนึ่งโดยนักวิเคราะห์ของมอร์นิ่งสตาร์นี้ว่ามีลักษณะสำคัญอย่างไรบ้าง

ลักษณะสำคัญอย่างแรกคือ Morningstar Rating นั้นเป็นการให้เรตติ้งโดยการเปรียบเทียบกองทุนซึ่งอาศัยข้อมูลผลตอบแทนในอดีตแล้วนำมาปรับด้วยความเสี่ยง หลังจากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มเพื่อให้เรตติ้งในรูปแบบ 1 ถึง 5 ดาว ในขณะที่ Morningstar Analyst Rating เป็นไปในลักษณะของการวิเคราะห์กองทุนแบบมองไปข้างหน้า (forward-looking) โดยนักวิเคราะห์จะให้เรตติ้งที่สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม แบ่งออกเป็นเรตติ้งเชิงบวก 3 กลุ่มได้แก่ Gold, Silver, และ Bronze เรตติ้งเป็นกลางหรือ Neutral และเรตติ้งเชิงลบหรือ Negative

ลักษณะสำคัญต่อมาคือ การให้ Analyst Rating นั้นมีพื้นฐานมาจากความเชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ว่ากองทุนจะสามารถมีผลการดำเนินงานที่ปรับความเสี่ยงแล้วที่ดีกว่ากลุ่มและ/หรือดัชนีชี้วัดในระยะยาว หมายความว่า หากกองทุนได้เรตติ้ง Gold, Silver หรือ Bronze แสดงว่านักวิเคราะห์ของมอร์นิ่งสตาร์เชื่อและคาดหวังว่ากองทุนจะสามารถ outperform ในรอบวัฏจักรตลาดในระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี

และลักษณะสำคัญสุดท้ายคือ Analyst Rating มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนเสริมหรือตัวช่วยการวิเคราะห์ให้กับนักลงทุนหรือผู้แนะนำการลงทุน หมายความว่านักลงทุนไม่ควรใช้เพียง Analyst Rating ในการอ้างอิงการตัดสินใจลงทุน นักลงทุนควรศึกษา/พิจารณากองทุนร่วมกับปัจจัยอื่นเช่น ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวน พิจารณาความเสี่ยงของกองทุนว่าเหมาะสมกับนักลงทุนหรือไม่ เป็นต้น

วิธีการวิเคราะห์ประกอบด้วย The Five Pillars

มอร์นิ่งสตาร์จะทำการประเมินกองทุนจาก 5 pillars หรือเสาหลักกองทุนได้แก่ Process, Performance, People, Parent และ Price โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะบ่งชี้ถึงความสามารถของกองทุนในการ outperform ในระยะยาวซึ่งนักวิเคราะห์จะให้คะแนนเป็น Positive, Neutral หรือ Negative ในแต่ละ Pillar

แต่ละ Pillar นั้นมีวิธีการวิเคราะห์อย่างไร

Process: คือการดูกระบวนการการดำเนินงานของกองทุน เช่น กลยุทธ์กองทุน การบริหารความเสี่ยง การจัดการกองทุนมีความสามารถในการดำเนินงานตามขั้นตอนหรือมีความสม่ำเสมอหรือไม่

Performance: คือการดูผลการดำเนินงาน เช่นผลการดำเนินงานกองทุนเป็นไปตามแผน หรือสามารถสร้างผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงได้ดีหรือไม่

People: คือการประเมินเกี่ยวกับผู้จัดการกองทุนเช่น คุณภาพ ประสบการณ์ ระยะเวลาการจัดการกองทุน โครงสร้างการบริหารงาน

Parent: คือการประเมินเกี่ยวกับบริษัทจัดการกองทุนเช่น โครงสร้างการดำเนินงาน ความมั่นคงขององค์กร การปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือแนวทางการดำเนินงานว่าให้ความสำคัญกับด้านใดเช่น การให้บริการ/ดูแลผลตอบแทนผู้ถือหน่วย หรือให้ความสำคัญกับการขายกองทุน

Price: คือดูว่ากองทุนเป็นการลงทุนที่เพิ่มมูลค่าให้กับนักลงทุนมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับกองทุนที่คล้ายกัน

การให้เรตติ้งกองทุนของ Morningstar Analyst Rating แบ่งออกเป็นดังนี้

Gold: กองทุนกลุ่มที่ดีที่สุด มีความโดดเด่นทั้ง 5 pillars

Silver: กองทุนที่มีข้อดีหรือข้อได้เปรียบมากกว่าข้อเสียทั้ง 5 pillars สร้างความเชื่อมั่นให้นักวิเคราะห์ว่าสมควรอยู่ในกลุ่ม Positive

Bronze: กองทุนมีข้อดีที่โดดเด่นและแข็งแกร่งในหลายด้าน (แต่อาจจะไม่ครบทั้ง 5 pillars) ซึ่งยังคงทำให้นักวิเคราะห์มีความเชื่อมั่นต่อกองทุน

Neutral: กองทุนอาจจะมีผลตอบแทนที่ไม่โดดเด่นแต่ก็จะไม่ underperform อย่างมีนัยสำคัญ

Negative: กองทุนมีอย่างน้อย 1 ข้อด้อยที่อาจเป็นอุปสรรคต่อผลการดำเนินงานของกองทุนในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ และนักวิเคราะห์ถือว่าเป็นกองทุนที่ด้อยว่ากองทุนอื่นในกลุ่ม

ทั้งนี้นักลงทุนสามารถดูรายละเอียดวิธีการให้เรตติ้งของ Morningstar Analyst Rating ฉบับเต็มได้ที่นี่

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar