จะเป็นอย่างไรหากทุกคนลงกองทุนดัชนี

ในช่วงนี้นักลงทุนอาจได้ยินข่าวว่ากองทุน passive fund ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก วันนี้เราจะมาดูมุมมองของ Alex Bryan, Director of Passive Strategies Research for North America ว่ามีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร

Morningstar 12/09/2562
Facebook Twitter LinkedIn

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีการพูดถึงเกี่ยวกับการเติบโตกองทุน index fund หรือกองทุนที่เป็น passive fund ในสหรัฐอเมริกาที่ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ว่ามีเงินไหลเข้าค่อนข้างมาก ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ระบุว่า กองทุนกลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4.27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่กองทุนที่บริหารเชิงรุก (active fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยวันนี้มอร์นิ่งสตาร์ได้นำบางประเด็นที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของ index fund ผ่านมุมมองของ คุณ Alex Bryan, Director of Passive Strategies Research for North America มาให้ลองพิจารณากันค่ะ

เมื่อนักลงทุนนิยมลงทุนใน index fund มากขึ้นในขณะที่สัดส่วนการลงทุนแบบ active ลดลง ทำให้มีการวิเคราะห์การลงทุนจากมุมมองปัจจัยพื้นฐานลดลง และลงทุนเป็นแบบซื้อและขายทั้งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ กรณีที่มีการดึงเงินออกจากตลาดก็จะรวมถึงการขายหุ้นบริษัทที่ดีออกไปด้วยและอาจส่งผลให้ราคาหุ้นผิดไปจากปัจจัยพื้นฐาน จนมีความกังวลว่าผลที่ตามมาคือ การลงทุน index fund อาจเป็นการลงทุนหุ้นที่มูลค่าตลาดสูงกว่าปัจจัยพื้นฐาน (overvalued) คล้ายกับช่วงปี 1990 ที่หุ้นเทคโนโลยีมีมูลค่ารวมเกือบ 40% ของ S&P 500 ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้าง overvalued

แล้วถ้าหากทุกคนหันไปลงทุนกอง index fund ล่ะ?

กรณีที่ทุกคนหันไปลงทุน index fund กันหมด ประเด็นที่นักลงทุนสนใจประการแรกคือสัดส่วนผู้ลงทุนในตลาด กองทุนหลายกองอาจหายไปจากตลาดการลงทุน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเป็นกองทุนหรือผู้จัดการกองทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก นั่นหมายความว่าตลาดกลับไปให้ความสนใจกับกองทุนที่มีผลตอบแทนดีจากการทำการวิเคราะห์วิจัยก่อนการลงทุนทำให้ตลาดกลับมามีประสิทธิภาพ

ประการที่สองคือถึงแม้ว่าปัจจุบันกองทุน index fund จะมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง แต่ในความเป็นจริงนั้นปริมาณการซื้อขายจริงนั้นไม่ได้สูงไปด้วย นั่นหมายความว่าการลงทุนจาก active fund ยังเป็นส่วนสำคัญต่อราคาซื้อขายในตลาดหุ้นอยู่ ซึ่งทางคุณ Alex มองว่าปัจจุบันประเด็นนี้ยังไม่ใช่ปัญหา แต่หากเกิดขึ้นจริงก็อาจส่งผลให้ active fund สร้างผลตอบแทนได้ดีขึ้นและตลาดก็จะปรับเข้าสู่สมดุลได้ในท้ายที่สุด

กองทุน Index fund เสียเปรียบ active fund หรือไม่

เมื่อถึงช่วงเวลาที่ดัชนีมีการปรับหุ้นเข้าหรือออกนั้น การลงทุนตามดัชนีเช่น S&P 500 ก็ต้องปรับสัดส่วนตามไปด้วยในช่วงเวลานั้น ๆ ราคาหุ้นที่ถูกปรับออกจึงลดลงและในทางกลับกันหุ้นที่เพิ่มในดัชนีก็ปรับขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือการลงทุน index fund นั้นอาจเสียเปรียบเพราะจังหวะการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มนั้นอาจได้ราคาแพงกว่าหรือขายหุ้นที่ปรับออกในราคาต่ำกว่า (ผลจากการประกาศรายชื่อหุ้นเข้า-ออกล่วงหน้า) จึงทำให้ในบางช่วงเวลากองทุนรวมดัชนีอาจมีผลตอบแทนที่ไม่น่าสนใจเท่าใดนัก และผลกระทบจะมากขึ้นกับดัชนีบางกลุ่มเช่นดัชนีหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีปัจจัยสภาพคล่องมาเกี่ยวข้องด้วย

โดยคุณ Alex ให้ความเห็นว่าทางเลือกคือนักลงทุนอาจลงทุนดัชนีที่เป็น Total Market Index ที่มีหุ้นที่ได้ราคาลดลงจากการโดนปรับออกและหุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้นจากการปรับเข้า หรือพิจารณาลงทุนในกองทุนที่มีหลักทรัพย์ถือครองในจำนวนน้อยซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากตลาดได้บ้าง

Index fund จะทำให้การแข่งขันของธุรกิจลดลงหรือไม่

นักลงทุนหรือกองทุนรวมดัชนีลงทุนหุ้นบริษัททั้งตลาด ซึ่งก็มีความกังวลว่าสุดท้ายแล้วอาจสร้างแรงกดดันต่อผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ ให้สร้างผลกำไรในฐานะผู้ถือหุ้นได้น้อยกว่า หรืออาจจะไม่ได้ห่วงว่าบริษัทจะสามารถเอาชนะคู่แข่งในตลาดได้หรือไม่ ทางด้านบริษัทจดทะเบียนเองก็จะไม่มีแรงจูงใจให้พยายามสร้างผลกำไรหรือจุดแข็งเพื่อดึงดูดนักลงทุนในขณะที่ราคาหุ้นปรับขึ้นไปตามแรงซื้อของกองทุนดัชนี ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคที่เป็นไปในลักษณะคล้ายกับการควบรวมกิจการในแต่ละอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามคุณ Alex มองประเด็นนี้ว่าโดยทั่วไปแล้วผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ มีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าต่อผู้ถือหุ้น และได้ค่าตอบแทนเป็นหุ้นของบริษัทซึ่งจะเป็นไปตามผลกำไรของบริษัทที่ส่งผลให้การแข่งขันยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตามนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว ผู้จัดการกองทุนยังคำนึงถึงธรรมาภิบาล ความสามารถของผู้บริหารที่จะจัดการดูแลความเสี่ยงต่าง ๆ ของบริษัทซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกัน

ความนิยมของ Index fund นั้นอาจเกิดจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมกองทุนที่ส่งเสริมการลงทุนที่มีต้นทุนต่ำ หรือเป็นทางเลือกหนึ่งในภาวะตลาดการลงทุนที่ผันผวนในหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความเสี่ยงว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การลงทุนในระยะยาวของนักลงทุนเอง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar